Thursday, October 15, 2009

ความสำคัญของ"อาวุโส"

คาถาอาวุโส --กฎหมายข้างตัว

ทิ กุ จะ นัง มึ มะ นัง ทิ มึ นัง มึ มิ นัง

โปรดทราบเมื่อมีเสียงบทสวดจากหลวงพี่ หลวงน้อง ทำนองนี้ แสดงว่ามีปัญหานั่งผิดที่ผิดทางตามลำดับอาวุโสเกิดขึ้น

ญาติโยมโปรดอยู่ในความสงบ

ที่กูจะนั่งมึง (ดัน)มานั่ง ที่มึงนั่ง มึงไม่นั่ง เว้ย

พระที่อายุมากแต่บวชหลังพระหนุ่มแค่วันเดียวต้องนั่งหลังพระหนุ่มลำดับถัดไป

โปรดอย่าคิดว่ามีแต่อาวุโสในวัด

สายธารแห่งกระบวนการยุติธรรมก็ถือเอาอาวุโสเป็นหลักอย่าง เคร่งครัด

การแต่งตั้งประธานศาลฎีกา และอัยการสูงสุด จึงไม่เคยมีข่าวออกมาเป็นที่เสื่อมเสียกับองค์กร

ครั้นมาที่ต้นธารแห่งกระบวนการยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติบ้างเล่า

กรุณาอย่าหลงลมนักการเมืองว่าไม่มีหลักเรื่องอาวุโส

ตั้งแต่ พลตำรวจเอกสุรพล จุลละพราหมฌ์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ไล่มา พลตำรวจเอกณรงค์ มหานนท์ จนถึงพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนแรก จนถึง พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ปี ๒๕๕๑ มาจนถึงความวุ่นวายในขณะนี้

เป็นผู้มีอาวุโสลำดับสูงสุดในขณะแต่งตั้งทั้งสิ้น

ยังมี กฎ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ระดับรองสารวัตรถึงจเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๙ มาตอกย้ำเรื่องลำดับอาวุโสให้มั่นคงยิ่งขึ้น

ยกเว้นตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินี่แหละที่มาตรา ๕๓ (๑) พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ เขียนไว้ไม่สะเด็ดน้ำ กำหนดให้เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรีคัดเลือกรายชื่อแล้วเสนอ ก.ต.ช.พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ ต่อไป

ประดานักการเมืองจึงได้ช่องตีความกฎหมายถือเอาเป็นอำนาจตนเข้าไปยุ่มย่ามทั้งล้วงทั้งควักการแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

บวกกับตำรวจเองที่ได้ชื่อว่าจอมวิ่งเต้นระดับเทพ หน่วยราชการอื่นต้องเรียกพี่

ไม่เสร็จเขาวันนี้แล้วจะไปเสร็จเขาวันไหนเล่า ทูนหัว

วันนี้ขอเถียงนักเรียนออกซฟอร์ดหน่อยที่ว่าการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งผู้ บัญชาการตำรวจแห่งชาติโดยการเสนอรายชื่อของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ก.ต.ช.

เป็นอำนาจของท่านเท่านั้น แบบว่าเสี่ยชอบเบอร์ไหน คนเชียร์แขกไม่มีสิทธิขัดใจ

พูดอีกก็ถูกอีก แต่ไหนเห็นเคยคุยฟุ้งว่าบ้านนี้ เมืองนี้ ปกครองด้วยระบบนิติรัฐ

ที่ครูบาอาจารย์สอนว่า การใช้อำนาจกระทำการทางปกครองใดนั้น ต้องมีกฎหมายให้อำนาจกระทำได้ไว้โดยชัดแจ้ง ไม่มีกฎหมาย ไม่มีการกระทำ ไม่เหมือนภาคชาวบ้านที่ถ้าไม่มีกฎหมายห้ามแล้วย่อมกระทำได้ทั้งสิ้น

อำนาจการคัดเลือกของท่านตามมาตรา ๕๓ (๑) ดังกล่าวย่อมเป็นดุลพินิจของท่านอย่างเต็มที่

แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมาย

ดุลพินิจของท่านในฐานะฝ่ายปกครองจึงต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์และความมุ่งหมาย ของกฎหมายเท่านั้น จะไปคิดเห็นเอาเองไม่มีกฎเกณฑ์ใดเป็นแนวทางในการใช้ดุลพินิจย่อมหาชอบไม่

แบบนั้นท่านว่า เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจครับผม

เจตนารมณ์ของมาตรา ๕๓ (๑) ที่ไม่ระบุเรื่องอาวุโสไว้นั้นก็ด้วยความมุ่งหมายว่าถ้าเผื่อผู้มีอาวุโส ลำดับแรกดังกล่าว เมื่อญาติโยมเห็นชื่อ ต่างพากันร้องฉิบหายแล้วกันเป็นแถว

จึงเว้นช่องไว้ให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้บรรเทาทุกข์ให้ราษฎรด้วยการใช้ดุลพินิจไม่เสนอชื่อที่อธิบายเหตุและผลได้ชอบด้วยกฎหมาย

แต่ที่มาตัดสิทธิพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อาวุโสอันดับหนึ่งที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งทางโลกและทางธรรมว่าไม่เหมาะสม กับสถานการณ์ทางการเมืองนั้น

อันนี้เป็นความคิดเห็นทางการเมืองนะโยม เป็นการคาดคะเนถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่มีบทกฎหมายใดรองรับ แถมผู้ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสชี้แจงโต้แย้งได้ในสภาที่มีกฎหมายคุ้มครองเหมือน ท่านนะขอรับ

ผลของการแหกจารีตประเพณีของข้าราชการตำรวจในเรื่องการถือลำดับอาวุโสในการแต่งตั้งมาร่วมสามสิบปี ด้วยนัยทางการเมืองครั้งนี้

ต่อไปในภายภาคหน้า ตำรวจที่ทำงานไต่เต้ามาจนถึงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ย่อมใส่เกียร์ว่างงานในหน้าที่ หันไปหาหนทางที่จะประจบสอพลอนักการเมืองดีกว่า

การลักวิ่งชิงปล้นเชิญราษฎรทั้งหลายดูแลตนเองตามกุศลหรือบาปบุญของแต่ละคน

ก้มหน้าก้มตาทำงานไม่รู้จักคบหาพรรคการเมืองที่มีแววเป็นรัฐบาล

ไม่คบเขาก็ไม่มีเรา

เดี๋ยวก็โดนข้อหาไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเมืองเข้าตามแนว

ญาติโยมที่ฟังเรื่องนี้จนจบ (มีอีกหลายประเด็น) ต่างพากันสวดคาถาสุภาษิตสนั่นศาลาการเปรียญ

ทำอะไร ตามใจตน ไม่มีเหตุ ไม่มีผล ไม่มีหลักการ ท่านว่านั้นแหละวิสัยเด็กน้อย

ซ้า...า...า ...ธุ.

พิสิษฐ์ พลรักษ์เขตต์
Praepim @ yahoo.com


ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ วันเสาร์ ที่ 29 สิงหาคม 2552
http://dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=337&contentID=16816

No comments:

Post a Comment