Thursday, October 22, 2009

อาหารสีดำ บำรุงไต? 黑色食品是补肾?


อาหารสีดำ บำรุงไต?
黑色食品是补肾?

มีคนบอกว่า กินงาดำบำรุงไต กินงาขาวบำรุงปอด เพราะสีดำเกี่ยวกับไต สีขาวเกี่ยวกับปอด เรื่องแบบนี้มีข้อเท็จจริงอะไรที่น่าเชื่อถือ?
แพทย์แผนจีน อาศัยทฤษฎี ยิน-หยาง 阴阳และทฤษฏี ปัญจธาตุ五行มาอธิบายสรรพสิ่งเป็นเวลาหลายพันปี มาถึงยุคไฮเทคแบบนี้แล้ว การเอาทฤษฏีโบราณแบบนี้มาอธิบาย ดูเหมือนจะทะแม่งๆสิ้นดี
แต่ถ้าใครลองเปิดใจให้กว้าง เข้าศึกษาปรัชญาแนวคิดยินหยาง หรือแนวคิดของเต๋า ของปรมาจารย์เล่าจื้อ ก็จะพบว่า หลักคิดของยินหยาง เป็นภูมิปัญญาระดับสูง ที่เป็นกฏของจักรวาล เช่นเดียวกับคำสอนของพระพุทธองค์เลยทีเดียว
อีกทฤษฏีหนึ่ง คือเรื่องปัญจธาตุ ซึ่งได้พยายามแยกแยะลักษณะพลังในธรรมชาติ ที่มีลักษณะสะท้อนออกมาในปรากฏการณ์ธรรมชาติทุกอย่าง เช่นฤดูใบไม้ผลิ จะมีพลังของการเกิด, ความอบอุ่น, การเริ่มต้น, การเกิดลม พลังแห่งแสงสีเขียว ฯลฯ ซึ่งพลังเหล่านี้ เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับมนุษย์และสรรพสิ่ง อย่างแยกจากกันไม่ได้
เอาเฉพาะเจาะจงลงมาใกล้ตัว คือ แสง สี ที่เรามองเห็นด้วยตา ก็มีพลังที่จำเพาะของมัน และมีอิทธิพลต่ออวัยวะภายในร่างกายที่แน่นอน เช่น
สีขาว จะมีการนำพลังเข้าสู่ปอด-ลำไส้ใหญ่
สีดำ จะมีการนำพลังเข้าสู่ไต-กระเพาะปัสสาวะ
สีเหลือง จะมีการนำพลังเข้าสู่ม้าม-กระเพาะอาหาร
สีแดง จะมีการนำพลังเข้าสู่หัวใจ-ลำไส้เล็ก
สีเขียว จะมีการนำพลังเขาสู่ตับ-ถุงน้ำดี

อาหารสีดำกับการบำรุงไต
-อาหารสีดำ โดยธรรมชาติ (ไม่ใช่การปรุงแต่งสี) มีฤทธิ์บำรุงไต, บำรุงเลือด (ตับกับไตมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน) ตัวอย่างเช่น งาดำ, ถั่วดำ, ข้าวเหนียวดำ, ไก่ดำ, เห็ดหูหนูดำ, ผลต้นหม่อน, สาหร่ายใส่แกงจืด (จี๋ไฉ่) ฯลฯ
-การพิจารณาแต่สีของอาหาร ไม่ได้บ่งชี้ว่าอาหารนั้นจะบำรุงไตหรือไม่ ต้องพิจารณาคุณสมบัติ ยิน-หยาง ของอาหารด้วย คืออาหารสีดำนั้นมีฤทธิ์อุ่น, ร้อน ค่อนเย็น,หรือเย็น
-ถ้าอาหารสีดำมีรสออกไปทางหวาน และคุณสมบัติอุ่น หรือร้อน มักจะมีฤทธิ์บำรุง เช่น ไก่ดำ,ข้าวเหนียวดำ,ผลต้นหม่อน ฤทธิ์การบำรุงไต บำรุงเลือดก็จะมาก
-ถ้าอาหารสีดำ คุณสมบัติหรือฤทธิ์กลางๆ เช่น ถั่วดำ, งาดำ, ก็มีฤทธิ์บำรุงไต แต่อาจไม่เด่นชัดเหมือนกลุ่มแรก
-ถ้าอาหารสีดำที่มีฤทธิ์เย็น เช่น เห็ดหูหนูดำ, สาหร่ายสีดำ ฯลฯ มักมีลักษณะขับพิษ ทำให้เลือดไหลไม่ติดขัด และฤทธิ์การบำรุงไตก็มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
สีดำของอาหารบ่งบอกว่า จะนำพลังเข้าสู่ไต แต่จะมีคุณสมบัติบำรุงมากน้อยเพียงใด ขึ้นกับคุณสมบัติยิน-หยาง และรสชาติของอาหารนั้นด้วย

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการกินอาหารให้เหมาะสมและสอดคล้อง
อาหารสีดำ เช่น เห็ดหูหนู สาหร่าย เหมาะที่จะกินในฤดูร้อน หือช่วงเวลากลางวัน ไม่ควรกินฤดูหนาว หรือตอนกลางคืน ถ้าจำเป็นต้องกินควรกินแต่น้อย หรือเสริมรสเผ็ดร้อน เช่น พริก, ขิง, พริกไทย, ประกอบอาหารเข้าไปด้วย
อาหารทะเล โดยเฉพาะพวกปู, หอย, จัดเป็นอาหารที่มีฤทธิ์เย็น รสเค็ม เข้าไตเหมือนกัน เวลาปรุงจะเห็นว่า ส่วนใหญ่จะปรับให้สมดุลด้วยกระชาย, พริกไทย, พริก เช่น ผัดเผ็ดทะเล ผัดฉ่า ทั้งยังจะดับความคาวของอาหารไปด้วย
ที่เล่าสู่กันฟัง พอจะทำให้เกิดความเข้าใจบ้าง เกี่ยวกับหลักทฤษฎีแพทย์แผนจีน ในเรื่องปัญจธาตุ ยินหยาง รสชาติของอาหาร
ถ้าอาหารที่มีฤทธิ์ไปทางอุ่นร้อน รสชาติหวานเผ็ดร้อน มักจะให้การเสริมบำรุง และให้เลือดลมเดิน
อาหารที่มีฤทธิ์ไปทางเย็น, ค่อนข้างเย็น, รสชาติเปรี้ยว, ขม,เค็ม, มักจะเป็นการขับ, ระบาย, พลังส่วนเกิน
สีของอาหารจะบ่งบอกว่า ยาควรจะไปอวัยวะใด
ถ้าคิดจะบำรุงอวัยวะใด ควรพิจารณาให้รอบด้าน อย่ารู้เพียงแค่ว่าสีดำบำรุงไต ใครเป็นโรคไตควรกินสีดำมากๆ อะไรทำนองนั้น เพราะการบำรุงไตของท่านอาจเป็นการทำลายไตของท่านก็ได้.

หมายเหตุ-ไตในทัศนะแพทย์แผนจีนมีความหมายครอบคลุมหลายระบบมีความหมายเฉพาะตัว ไม่ใช่เฉพาะตัวอวัยวะไตเท่านั้น
ที่มา: นพ.ภาสกิจ วัณนาวิบูล วารสารหมอชาวบ้าน

No comments:

Post a Comment