วิธีใช้ดุลพินิจ -กฎหมายข้างตัว วันเสาร์ ที่ 12 กันยายน 2552
วัฒนธรรมราชการไทย การโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง หรือการแต่งตั้งตำแหน่งในระดับต่าง ๆ ว่ากันว่าเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จของเจ้านายที่จะเมตตา รักใคร ชังใคร
เป็นดุลพินิจของท่าน
ลูกน้องไม่มีเส้นตายหมด ตามหลักการค่าของคนอยู่ที่คนของใคร
เมื่อโม้กันว่าบ้านเราอยู่ในระบบนิติรัฐ สมัยนี้ก็ต้องดูหลักการในเรื่องนี้จากศาลปกครองสูงสุด
ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจดูสำนวนการสอบสวนผู้ใหญ่บ้านรายหนึ่งที่คณะกรรมการสอบสวนรายงานว่าพี่ผู้ใหญ่บกพร่องในความประพฤติ
บกพร่องยังไง ท่านว่าผู้ใหญ่บ้านใช้วาจาไม่สุภาพในการพูดหอกระจาย ข่าว ด่าสนั่นหมู่บ้าน สงสัยอภิปรายเรื่องหมา ๆ ตามสมัยนิยม
ได้ความต่อมาว่าพี่ผู้ใหญ่แกด่าพวกเด็กแว้นในหมู่บ้าน
รายการต่อมา เล่นของหนัก มีพฤติการณ์ก้าวร้าว ด่าโจมตีนายอำเภอผู้บังคับบัญชาตัวเอง ในที่ประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านประจำเดือน
ลำดับต่อไป ร้องเรียนผู้ใหญ่บ้านอีกหมู่หนึ่งที่ได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านดีเด่นว่า บริหารงานกองทุนหมู่บ้านไม่โปร่งใส ในหมู่บ้านมีวัยรุ่นดมกาวและเสพยาบ้ามากที่สุด
ท่านผู้ว่าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนเป็นการลับเรื่องนี้แล้วได้ความว่าไม่เป็นความจริง ผู้ใหญ่แกโม้เอาเอง
ระหว่างสอบสวนเรื่องบกพร่องทั้งหมดพี่ผู้ใหญ่ไปก่อเหตุซ้ำ ข่มขู่พยานถึงขั้นเอาชีวิต
ความทั้งปวงเหล่านี้ผ่านกระบวนการสอบสวนมารายงานท่านผู้ว่าฯดังกล่าว จึงเห็นว่าเมื่อประมวลพฤติกรรมและความประพฤติที่ผ่านมาถือได้ว่าผู้ใหญ่บ้าน รายนี้เป็นผู้มีความบกพร่องในทางความประพฤติหรือความสามารถไม่เหมาะสมกับ ตำแหน่งตามมาตรา ๑๔ (๗) แห่ง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗
มีคำสั่งให้ออกจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน
พี่ผู้ใหญ่ร้องทุกข์ต่อกระทรวงมหาดไทยให้ครบขั้นตอนเพราะยังไง ๆ ท่านก็ไม่ฟังอยู่แล้ว ซึ่งกระทรวงก็สั่งยกคำร้องทุกข์ตามนั้น
แล้วจึงยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าว
ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำพิพากษา
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคดีมีประเด็นที่จะพิจารณาเป็นรายกรณีได้ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง กรณีมีพฤติกรรมก้าวร้าวกล่าวโจมตีนายอำเภอในที่ประชุม ท่านว่าเกิดจากความไม่พอใจที่นายอำเภอยังไม่ลงนามในใบอนุญาตพกพาอาวุธปืนโดย ใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม การที่ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์ก้าวร้าว ไม่ให้เกียรติผู้บังคับบัญชาจึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยข้อเท็จ จริงที่ปรากฏโดยชอบด้วยเหตุผลแล้ว
ประเด็นที่กล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีรายงานเท็จร้องเรียนผู้ใหญ่บ้านหมู่อื่น ท่านว่าข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่าผู้ฟ้อง คดีมีเจตนาร้องเรียนเท็จต่อผู้บังคับบัญชาหรือไม่ ผู้ถูกฟ้องคดีเพียงแต่นำผลจากการสืบสวนการร้องเรียนดังกล่าวที่เห็นว่าผู้ ถูกร้องเรียนไม่มีพฤติกรรมตามข้อร้องเรียนมาเป็นเหตุผลว่าผู้ฟ้องคดีรายงาน เท็จ ซึ่งเป็นความเข้าใจของผู้ถูกฟ้องคดีเอง เมื่อไม่มีการสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยความยุติธรรมให้เป็นที่ยุติ การรับฟังว่าผู้ฟ้องคดีรายงานเท็จแล้วนำไปเป็นข้อเท็จจริงประกอบการใช้ ดุลพินิจพิจารณาให้เป็นโทษแก่ผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในกรณีกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีข่มขู่พยานนั้น ไม่ปรากฏว่าในชั้นสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนว่าได้มีการสอบสวนพยานที่ถูกข่ม ขู่ ทั้งหมดล้วนเป็นการเล่าให้ฟัง พยานอื่นที่ถูกสอบสวนต่างให้การว่าตนไม่ได้ถูกข่มขู่แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังให้เป็นยุติว่าผู้ฟ้องคดีข่มขู่พยาน การที่ผู้ถูกฟ้องคดีนำข้อเท็จจริงซึ่งไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอและไม่มี เหตุผลเพียงพอไปประกอบการใช้ดุลพินิจ ในการพิจารณาเป็นโทษแก่ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าการใช้ดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในการออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๔ (๗) แห่ง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ฯ เป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เห็นว่าแม้ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ฯ ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ใช้ดุลพินิจควบคุมทางวินัยตามมาตรา ๖๑ ทวิหรือควบคุมความประพฤติตามมาตรา ๑๔ (๗)
แต่ อำนาจดุลพินิจก็ไม่ใช่อำนาจสัมบูรณ์ซึ่งปราศจากเงื่อนไขที่องค์กรฝ่ายปกครอง จะใช้ได้ตามอำเภอใจ แต่จะต้องเป็นการเลือกที่จะออกคำสั่งหรือมาตรการที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำ โดยพิจารณาว่าตนสมควรจะออกคำสั่งหรือใช้มาตรการใด จึงจะสามารถดำเนินการ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อประโยชน์ของมหาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบให้ดีที่สุด ซึ่งศาลก็จะมีอำนาจที่จะควบคุมมิให้องค์กรของรัฐฝ่ายปกครองใช้ดุลพินิจโดย ไม่มีเหตุผลรองรับอย่างเพียงพอเพื่อให้ใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายก่อให้ เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วยความยุติธรรมและชอบด้วยเหตุผล
คดีนี้ตามข้อเท็จจริง แม้ผู้ฟ้องคดีจะบกพร่องในความประพฤติแต่เห็นว่าผู้ฟ้องคดีเป็นคนพูดจาโผงผาง ไม่สำรวม เป็นคนพูดตรง ซึ่งพฤติการณ์ยังไม่ร้ายแรงที่วิญญูชนไม่อาจรับได้หากให้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่ บ้านต่อไป
จึงเป็นการ ใช้ดุลพินิจเกินความจำเป็น ในการใช้มาตรการควบคุมความประพฤติของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่ง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ฯ ที่ให้อำนาจ อันเป็นการใช้ดุลพินิจขัดต่อหลักแห่งความได้สัดส่วนหรือเกินสมควรแก่เหตุ
ถือว่า ใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษากลับ เป็นให้เพิกถอนคำสั่งจังหวัดดังกล่าว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๓๒๖/๒๕๕๑)
ดุลพินิจในการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านครั้งต่อไปรับรองได้มีแต่มธุรสวาจาทั้งสองฝ่าย
ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์
http://dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=337&contentID=19672
No comments:
Post a Comment