Wednesday, January 19, 2011

เจ๋งเพาะเลี้ยงตัวอ่อนหอยมุกสำเร็จครั้งแรกของโลก

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ค้นพบวิธีการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนหอยมุกน้ำจืดในประเทศไทย เป็นครั้งแรกของโลก...

วันพุธที่ 19 ม.ค.2554 ผศ.ดร.สาธิต โกวิทวที หัวหน้าสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) เปิดเผยภายหลังรับรางวัลนักวิจัยดีเด่นของ มบส. เนื่องในงานวันคล้ายวันพิราลัยสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์และครบรอบ 115 ปี มบส. ว่า ตนได้ร่วมกับคณะวิจัยจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรีกรมประมง, ภาควิชาสัตววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) บางเขน และคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสภาวิจัยแห่งชาติ ได้ศึกษาวิจัยวิธีเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดในประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพสูง จากเดิมที่เกษตรกรต้องอาศัยการเพาะโดยธรรมชาติ ทำให้เปอร์เซ็นต์การรอดตายต่ำทั้งยังมีโอกาสติดเชื้อ แต่ผู้วิจัยได้ศึกษาจนค้นพบวิธีการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนระยะโคคีเดียในอาหาร สังเคราะห์โดยควบคุมในห้องวิทยาศาสตร์ประมาณ 90 วัน ก่อนนำลงปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ ใช้เวลาเจริญเติบโตประมาณ 1-3 ปีก่อนที่จะได้หอยมุกที่นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้ตัวอ่อนรอดชีวิตถึง 98-100% ซึ่งพันธุ์หอยน้ำจืดที่นำมาเพาะพันธุ์เป็นหอยมุก คือ หอยกาบใหญ่ ที่มีลักษณะตัวใหญ่ เปลือกหนา และให้เปลือกขาว และหอยกาบขาวที่มีเปลือกสวยแต่ตัวเล็กกว่า

วิธีการดังกล่าวถือเป็น ความสำเร็จครั้งแรกในโลก ขณะนี้คณะวิจัยกำลังพัฒนาตั้งเป็นศูนย์เผยแพร่ความรู้การเพาะเลี้ยงหอยมุก น้ำจืด โดยจัดตั้งที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทุกขั้นตอนให้กับเกษตรกร คาดว่าจะใช้เวลาอีก 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบเปลือกหอยไข่มุกมาแปรรูป โดยแหล่งใหญ่อยู่ที่ประเทศจีน ขณะที่ไทยสามารถผลิตวัตถุดิบได้ไม่ถึง 5% หากไทยสามารถผลิตวัตถุดิบได้เอง ก็สามารถสร้างรายได้ ให้กับเกษตรกรและประเทศมากขึ้น และเป้าหมายสำคัญในอนาคตคือการอนุรักษ์หอย เมื่อเราสามารถควบคุมการผลิตได้

ที่มา: เจ๋งเพาะเลี้ยงตัวอ่อนหอยมุกสำเร็จครั้งแรกของโลก ไทยรัฐออนไลน์ วันพุธที่ 19 มกราคม 2554

'

No comments:

Post a Comment