Wednesday, June 1, 2011

วิสัยทัศน์ประเทศไทย 2020: ไม่มี

บันทึกสงสารประเทศไทย พูดไปแล้ว อายเค้าที่ ประเทศไทยเราไม่มี วิสัยทัศน์ ระยะยาว 2020: ไม่มีอะไรอยู่ในหัว

แต่มาเลเซียเขามี: มาเลเซีย กับ วิสัยทัศน์ 2020

มาเลเซีย กับ วิสัยทัศน์ 2020

ประเทศไทยขณะนี้กำลังเข้าสู่ช่วงเวลาของการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป อันเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 ที่นั่ง มีพรรคการเมืองมากมายลงสมัครแข่งขันเลือกตั้ง ทั้งพรรคใหญ่พรรคเล็ก พรรคเก่า พรรคใหม่ ทุกพรรคต่างก็หาเสียงกันด้วยนโยบายปลีกย่อยต่างๆตามแต่จะนึกออกหรือวางแผนไว้ว่าจะนำเสนออย่างไร ข้อมูลที่ประชาชนได้รับก็น้อยนิดเท่าที่ป้ายหาเสียงข้างถนนจะให้ข้อมูลได้ เท่าที่อ่านพบตามข้างถนน ประชาชนก็คงจะได้ข้อมูลเพียงชื่อคนที่สมัคร ชื่อพรรค หมายเลข และข้อความเชิงนโยบายหรือคำขวัญสั้นๆของพรรคเท่านั้น เช่น “จะเพิ่มค่าแรงเท่าไรในกี่ปี” “จะพร้อมรับใช้พี่น้องประชาชนแล้ว” “ใครจะคิดให้ ใครจะทำตามที่เขาคิดให้” ฯลฯ ทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องปลีกย่อยที่ไม่ใช่ภาพรวมของนโยบายการบริหารประเทศ และเมื่อไปฟังการปราศรัยหาเสียงตามเวทีต่างๆของแต่ละพรรคก็จะได้ยินแต่เรื่องนโยบายปลีกย่อยเช่นเดิม ผสมกับสำนวนโวหารคุยโอ่เรื่องของตัวเองและเย้ยหยันตำหนิพรรคฝ่ายตรงข้ามหรือพรรคแข่ง ปราศรัยให้สนุก หวังเสียงชัยโยโห่ร้องและเสียงปรบมือ รวมความแล้วก็สรุปได้ว่าพรรคการเมืองทั้งหลายของไทยยังไม่พร้อมในการอธิบายนโยบายของพรรคในการบริหารประเทศ หรือไม่ก็ยังไม่มีนโยบายอะไรจริงจังนัก นับเป็นเรื่องไร้สาระยิ่งนักสำหรับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านกาลเวลามาถึง 79 ปี แม้วันนี้ พรรคการเมืองทั้งหลายยังไม่พร้อมที่จะคุยกับประชาชนเรื่องนโยบายการบริหารประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาว ส่วนประชาชนก็ยังไม่สนใจในเรื่องนโยบายของพรรคเช่นเดียวกัน

การเมืองที่พัฒนาแล้วนั้น จะหาเสียงกันด้วยนโยบาย ตั้งแต่นโยบายระยะยาวไกล ระยะกลาง และระยะสั้นเฉพาะไม่กี่ปีข้างหน้า

การเมืองที่พัฒนาแล้วจะไม่มีการหาเสียงแบบตำหนิวิพากษ์ท้าทายฝ่ายพรรคคู่แข่ง และจะไม่ถือว่าพรรคคู่แข่งเป็น “ฝ่ายตรงข้าม” ที่จะต้องไล่ล่าทำลายกันทุกวิถีทาง

นโยบายพัฒนาประเทศโดยภาพรวมระยะสั้น และระยะกลาง เป็นเรื่องไม่ยากที่แต่ละพรรคจะร่างไว้เพื่อการนำเสนอขอการสนับสนุนจากประชาชน ซึ่งเชื่อว่าทุกพรรคคงจะพอมีทำไว้แล้วบ้าง แม้ว่าจะยังไม่นำเสนอสู่สาธารณชนกันเลยก็ตาม ก็หวังว่าจะได้มีโอกาสนำมาขอความเห็นชอบจากประชาชนบ้างในโอกาสอันใกล้ก่อนวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งเป็นวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

แต่ที่ไม่เคยเห็นและไม่เคยได้ยินจากพรรคการเมืองใดเลยก็คือนโยบายระยะยาวไกลในอันที่จะนำพาประเทศไทยพัฒนาไปในทิศทางใด นโยบายระยะยาวไกลที่ว่านี้เป็นการมองการไกลเพื่อสร้างประเทศชาติและสังคมไทยให้บรรลุเป้าหมายตามอุดมคติ ศัพท์ร่วมสมัยปัจจุบันเรียกว่า “วิสัยทัศน์” หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Vision”

ไม่มีพรรคการเมืองไทยพรรคใดประกาศ “วิสัยทัศน์ประเทศไทย” เลย

ไม่มีพรรคการเมืองใดกล้าหาญที่จะคิดสร้างประเทศชาติและสังคมไทยในระยะยาวใดๆเลย ทุกพรรคมองกันแต่เพียงว่าปีนี้ปีหน้าจะทำอะไรพอที่จะให้ประชาชนพอใจได้ หรือที่เลวร้ายหนักกว่าก็คือแต่ละพรรคคิดจะทำเพียง “พูดหาเสียง” ว่าจะทำอะไรให้ประชาชนบ้างไนสองสามปีข้างหน้า พูดแล้ว ได้รับเลือกตั้งแล้ว อาจจะทำ หรือไม่ทำ ทำได้ หรือทำไม่ได้ ค่อยว่ากันทีหลัง หากทำกันเพียงเท่านี้ก็ถือว่าการเมืองไทยยังไม่พัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะควร

ในบรรดารัฐสมาชิกอาเซียนทั้งหมด มาเลเซียเป็นประเทศหนึ่ง ที่พรรคการเมืองและรัฐบาลประกาศ “วิสัยทัศน์” และเริ่มทำตามที่ประกาศจนกระทั่งใกล้ถึงเวลาบรรลุเป้าหมายแห่งวิสัยทัศน์แล้ว

ในปี 1991 นายกรัฐมนตรี ดร.มหาเดร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคองค์การสหมาเลย์แห่งชาติ (United Malay National Organization-UMNO) “ประกาศวิสัยทัศน์ 2020” หรือ “Vision 2020” (ภาษามาเลย์ใช้คำว่า “Wawasan 2020”) เริ่มที่แผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 6 ใน 1991 โดยกำหนดอนาคตประเทศมาเลเซียไว้ว่า “มาเลเซียจะต้องเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ในปี 2020”

“วิสัยทัศน์ 2020” ของมาเลเซีย ประกาศไว้ดังนี้ :

1. มาเลเซียจะเป็นประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตนเองได้ภายในปี 2020 พัฒนาภาพรวมของประเทศ ทุกส่วนของวิถีชีวิตพลเมือง ตั้งแต่เรื่องความเจริญมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความสุขสมบูรณ์ในสังคม ประชาชนมีการศึกษาในคุณภาพระดับโลก การเมืองมีความมั่นคง และประเทศชาติประชาชนดำเนินชีวิตอย่างมีดุลยภาพทางจิตใจ

2. เพื่อที่จะให้บรรลุเป้าหมายแห่ง “วิสัยทัศน์ 2020” รัฐบาลมาเลเซียทุกรัฐบาลจะต้องทำงานต่อเนื่อง 30 ปี ให้ได้ตามเป้าหมายดังนี้ :

(1). อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 7% ต่อปี (ตามค่าจริง) ทุกปีตลอด 30 ปี จากปี 1990 ถึงปี 2020
(2). เศรษฐกิจจะเข้มแข็งขึ้นเป็นแปดเท่า จากปี 1990 ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Products – GDP) เท่ากับ 115,000 ล้านริงกิต - เมื่อถึงปี 2020 GDPจะต้องเพิ่มเป็น 920,000 ล้านริงกิต (คิดตามค่าเงินในปี 1990)

เมื่อนายกรัฐมนตรี ดร.มหาเดร์ โมฮัมหมัด ประกาศวิสัยทัศน์ 2020 แล้วก็กำหนดยุทธศาสตร์เป็นแนวทางปฏิบัติ 9 ประการ คือ:

1. สร้างสังคมมาเลเซียให้หลอมรวมเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ที่หลากหลายเป็นหนึ่งเผ่าพันธุ์ เรียกว่าเผ่าพันธุ์มาเลเซีย (Malaysian Race) (แทนที่จะแยกกันอยู่เป็นเผ่าพันธุ์ มาเลย์ จีน อินเดีย ฯลฯ อย่างที่เคยเป็นมาและยังเป็นอยู่ในปี 1990)
2. สร้างสังคมมาเลเซียที่เป็นอิสระเสรีในเชิงความรู้สึกนึกคิดหรือ”จิตวิทยา” เป็นสังคมที่พัฒนาแล้วอย่างมีความมั่นคง
3. สร้างสม เสริมส่ง และ คุ้มครองสังคมประชาธิปไตยที่มีวุฒิภาวะ เป็นสังคมประชาธิปไตยที่เจริญแล้ว
4. สถาปนาสังคมที่เปี่ยมด้วยศีลธรรมและจริยธรรมอย่างสมบูรณ์
5. สร้างสังคมที่มีอุดมการณ์เสรีนิยมและอดทนต่อกันอย่างมีวุฒิภาวะ
6. สร้างสังคมที่มีฐานความคิดเป็นวิทยาศาสตร์และคิดอย่างก้าวหน้า
7. สร้างสังคมที่ห่วงใยเอื้ออาทรต่อกันและกันอย่างสมบูรณ์
8. สร้างหลักประกันให้มีความยุติธรรมในสังคมทางด้านเศรษฐกิจ เป็นสังคมที่มีการจัดการกระจายความมั่งคั่งของชาติให้ทั่วถึงและเป็นธรรม
9. สร้างสังคมที่มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ ด้วยระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์ เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีพลวัตรสูง มีความยืดหยุ่นและมีความตื่นตัวคึกคักตลอดเวลา

กาลผ่านไป 20 ปี การทำงานตามวิสัยทัศน์ 2020 ที่ประกาศไป 20 ปีก่อนหน้านี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องโดยนายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศต่อมาอีกสองท่าน คือนายกรัฐมนตรีอาหมัด บาดาวี ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งไปเมื่อปี 2009 และนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค คนปัจจุบัน ณ วันนี้ รัฐบาลมาเลเซียยังคงมุ่งสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ 2020 เช่นเดิม โดยพยายามปรับการปฏิบัติงานให้ได้ตามแผน ท่ามกลางปัญหาอุปสรรคต่างๆที่ผ่านพบโดยไม่คาดคิดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปัญหาวิกฤติการเงินโลกในช่วงปี 2007-2010 ยังผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเซียตกลงไปต่ำกว่า 7% ดูจากสถิติในช่วงเวลาที่ผ่านมาพบว่า ในช่วงปี 1990-1999 เศรษฐกิจมาเลเซียเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.2% แต่หลังจากนั้นก็ตกลงมาเป็น 5.4% ต่อปี และจากการคำนวนก็ได้ข้อสรุปว่าหากเศรษฐกิจมาเลเซียตกลงมาเป็นปีละ 6% (จากที่ควรจะเป็น 7%) จะทำให้การเป็นประเทศพัฒนาแล้วตามวิสัยทัศน์ 2020 ต้องยืดเวลาไปอีก 10 ปี “วิสัยทัศน์ 2020” ก็จะกลายเป็น “วิสัยทัศน์ 2030” ไปได้ หากไม่แก้ไขยุทธศาสตร์ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลใหม่ของมาเลเซียจึงตัดสินใจปรับแก้ยุทธศาสตร์สู่ปี 2020 โดยการเริ่มนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจขนานใหญ่ เพื่อทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เพิ่มเป็น 8% ต่อปี ทุกปี จากปี 2010 เป็นต้นไป จนถึงปี 2020 พร้อมทั้งประกาศนโยบาย “1 Malaysia” เพื่อย้ำความเป็นหนึ่งเดียวกันของสังคมอีกด้วย

ทุกวันนี้มาเลเซียเดินหน้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2020 แน่นอน ไม่ยอมยืดเวลาให้เนิ่นนานออกไป แต่เร่งปรับการทำงานให้มากขึ้นหนักขึ้น

ปี 2020 หรืออีกเพียง 10 ปี เท่านั้น มาเลเซียก็จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วแน่นอน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม และจะนับเป็นประเทศที่สองในอาเซียน ต่อจากสิงคโปร์ ที่จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

นี่คือการเมืองว่าด้วยเรื่อง “วิสัยทัศน์ประเทศ” ที่มาเลเซียมี และกำลังใกล้จะบรรลุผลในอีก 10 ปีที่จะถึงนี้

“วิสัยทัศน์” ที่ 79 ปีที่ผ่านมาของประชาธิปไตยไทย พรรคการเมืองและรัฐบาลไทย...ยังไม่มี

สมเกียรติ อ่อนวิมล
บันทึกอาเซียน | ASEAN Diary : มาเลเซีย กับ วิสัยทัศน์ 2020

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ วันพุธ ที่ 01 มิถุนายน 2554

No comments:

Post a Comment