Tuesday, June 21, 2011

"ปุ"เผยซื้อเสียงหัวละ 500-3000 บาท + จวกนักการเมืองดีแต่หาเสียง

“ปุระชัย”จี้ กกต.เร่งประชาสัมพันธ์บัตรเลือกตั้ง เผยประชาชนร้องซื้อเสียงหัวละ 500-3,000 บาท

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ตลาดสดรังสิต ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ประธานพรรครักษ์สันติ และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับ 1 พร้อมคณะได้ลงพื้นที่หาเสียงบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก พ่อค้าแม่ค้าต่างให้ความสนใจ พร้อมตะโกนว่ามือปราบสายเดี่ยว ขณะที่ ร.ต.อ.ปุระชัย ได้โชว์การจับปลาไหลด้วยมือเปล่า หลังจากนั้นให้สัมภาษณ์ว่า ตนอยากเรียกร้องไปยัง กกต. ให้ประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ประเภท คือ แบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ เพราะจากการลงพื้นที่พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความสับสน นอกจากนั้นยังมีประชาชามาร้องเรียนว่ามีหัวคะแนนบางพรรคไปซื้อเสียงหัวละ 500 - 3,000 บาท ถือเป็นวงจรอุบาทว์เพราะเมื่อซื้อเสียงแล้วก็มักจะมาถอนทุนกันภายหลัง อยากให้ทุกพรรคลงสัตยาบันเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย และขอให้คนที่เสนอโหวตโนมาลงรับสมัครเลือกตั้งด้วยกัน จะทำให้เป็นผลดีต่อประเทศชาติมากกว่า

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคาร ที่ 21 มิถุนายน 2554

หวั่นอนาคตเศรษฐกิจไทยเจ๊ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “ความท้าทายของพรรคการเมืองกับอนาคตเศรษฐกิจไทย” โดยเชิญตัวแทนจาก 5 พรรคการเมืองมาเสนอแนวนโยบายเศรษฐกิจต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ประกอบด้วยนายเกียรติ สิทธีอมร คณะทำงานเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์, นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช ทีมเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย, นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้อำนวยการเลือกตั้ง พรรคภูมิใจไทย, นายเกษมสันต์ วีระกุล ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนาและนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง ประธานพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน

ทั้งนี้ตัวแทนพรรคการเมืองส่วนใหญ่นำเสนอนโยบายที่คล้าย ๆ กัน ทั้งการปรับขึ้นค่าแรงงานให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มต่อเนื่อง, การปรับขึ้นเงินเดือน, การส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาเช่าพื้นที่ในไทยระยะยาว เพื่อให้เกิดการลงทุนในไทยมากขึ้นให้ได้ปีละ 1 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มประกันสังคมให้แก่แรงงาน 2 เท่าโดยรัฐบาลเป็นผู้ออกเงินเพิ่มเติมให้ ส่วนนายจ้างและลูกจ้างจ่ายในอัตราเดิม, ตั้งกองทุนจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง, ตั้งกองทุนพัฒนาแรงงาน 5,000 ล้านบาท, การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้อยู่ร่วมกันสิ่งแวดล้อม, มีการจัดตั้งกองทุนทุก ๆ กลุ่มอาชีพ, การเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านจาก 1 ล้านบาทเป็น 2 ล้านบาท, ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่แข็งเกินไป และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ระหว่างการนำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในการเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันและบทบาทของภาครัฐนั้น ’นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล” ประธาน ส.อ.ท. ได้นำรูปของการรีดนมวัว แล้วมีข้อความว่า “เอาแต่รีด แต่ไม่เคยเลี้ยงดูให้ดี” ทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในห้องสัมมนาต่างปรบมือชอบใจ

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการได้สอบถามพรรคการเมืองว่า นโยบายการแทรกแซงค่าแรงขั้นต่ำ จะมีมาตรการอะไรมาดูแลผู้ประกอบการ รวมถึงถามว่าทำไมการเมืองต้องเข้ามาแทรกแซงค่าแรงด้วย และในอนาคตคณะกรรมการไตรภาคีจะมีอีกหรือไม่

นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า เอกชนต้องการเรียกร้องให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ให้ความใส่ใจกับภาคอุตสาหกรรมมากกว่านี้ไม่ใช่นำนโยบายประชานิยมมาหาเสียงในลักษณะการลด แลก แจก แถม ที่มากเกินไป แต่เงินส่วนหนึ่งให้เอกชนรับภาระแทนโดยเฉพาะการควบคุมราคาสินค้า, การขึ้นค่าแรงก้าวกระโดด และการรับภาระค่าไฟฟ้าฟรีของประชาชน แถมยังไม่สามารถปราบปรามการคอร์รัปชั่น เป็นต้น

“ฝากรัฐบาลใหม่ที่ต้องดูแลภาคอุตสาหกรรมให้เหมือนดูแลวัวนม ที่ต้องให้อาหารเพราะขีดความสามารถเราเริ่มลดลง โดยจะต้องเพิ่มบทบาทภาครัฐทั้งเรื่องกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐานแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น แก้ไขกลไกเศรษฐกิจที่บิดเบือน เช่น การตรึงราคาพลังงานและควบคุมราคาสินค้าให้ต่ำกว่าระบบตลาด ขณะเดียวกันต้องการเห็นเศรษฐกิจดี ประชาชนมีรายได้ และประชาชนมีความสุข”k

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า นโยบายพรรคการเมืองส่วนใหญ่เน้นประชานิยมที่แจกแหลก ซึ่งเป็นห่วงประเทศไทยในอนาคตอย่างมาก เพราะเมื่อพรรคใหญ่ ๆ ทำลักษณะนี้กันมากพรรคอื่น ๆ ก็เลียนแบบทำตาม ซึ่งไม่นานประเทศไทยคงเจ๊งแน่นอน ดังนั้นจึงอยากให้ทุกพรรคเน้นการพัฒนาประเทศในระยะยาวเพื่อความอยู่รอดของประเทศในอนาคต

นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจทุกพรรคการเมืองมุ่งเน้นการหาเสียงแบบประชานิยม ซึ่งยากที่จะปฏิบัติได้ ดังนั้นทุกส่วนควรจะร่วมตรวจสอบว่าเมื่อพรรคใดจัดตั้งรัฐบาลแล้วจะทำตามนโยบายจริงหรือไม่ซึ่งหากประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีระบบตรวจสอบทุกระดับแต่ไทยไม่ตื่นตัวทำให้การเมืองไทยยังมุ่งเน้นหาเสียง

ทั้งนี้สาเหตุที่มองว่านโยบายของแต่ละพรรคนั้นปฏิบัติได้ยาก เนื่องจากส่วนใหญ่มุ่งเน้นเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีจะเติบโตระดับ 8% แต่นโยบายมีความขัดแย้งกันในตัวเช่น การจะเพิ่มจีดีพีจะต้องเพิ่มการลงทุนทั้งในและดึงลงทุนจากต่างประเทศแต่กลับมีนโยบายลดภาษี เพิ่มค่าจ้างแรงงาน หรือแต่ละพรรคมีแต่รายจ่ายหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นแต่ไม่ชัดเจน

’เราโฟกัสไปที่ 2 พรรคใหญ่ที่คาดว่าจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมากกว่าคือเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ซึ่งจะเห็นว่า นโยบายเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์นั้นได้เปรียบที่เป็นรัฐบาลมาก่อนจึงมีโรดแม็พที่ชัดเจน ขณะที่พรรคเพื่อไทยจะเน้นด้านสังคมได้ดีกว่าซึ่งน่าจะโดนใจรากหญ้า ขณะที่พรรคอื่น ๆ ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายจะได้นำมาปฏิบัติหรือไม่เพราะเป็นพรรคร่วม”

สำหรับนโยบายหาเสียงบางประการหากนำมาปฏิบัติจริงน่าเป็นห่วง เช่น การเพิ่มค่าจ้างแรงงานระดับปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งระบบราชการและรัฐวิสาหกิจนั้นมีจำนวนผู้ที่ยังได้เงินเดือนต่ำกว่าระดับนี้ค่อนข้างมากซึ่งจะต้องเพิ่มเข้าไปอีก

ที่มา: จวกนักการเมืองดีแต่หาเสียง เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคาร ที่ 21 มิถุนายน 2554

No comments:

Post a Comment