อาการก่อนมีประจำเดือนของผู้หญิงส่งผลกระทบต่อการทำงานและกิจกรรมทาง สังคม รวมทั้งกระทบถึงความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างอีกด้วย ทั้งนี้จากการประชุมวิชาการของราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทย
วันที่ 22 เม.ย. 2553 ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล คณบดีวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้หญิงไทยจำนวนมากไม่รู้จักและไม่ทราบด้วยว่าตัวเองมีอาการไม่พึง ประสงค์ก่อนมีประจำเดือน หรือกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน อีกทั้งยังไม่มีการตื่นตัวเกี่ยวกับกลุ่มอาการดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่จะกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ส่งผลให้ผู้หญิงไทยจำนวนมากต้องเผชิญภาวะเครียด หงุดหงิด และอารมณ์แปรปรวน โดยปราศจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุ ซึ่งอาจมาจากอาการดังกล่าว และนับวันสถานการณ์กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนในผู้หญิงไทยยิ่งมีแนวโน้มสูง ขึ้น ก่อให้เกิดความแปรปรวนทางร่างกายและจิตใจ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์ต่อผู้คนรอบข้าง
อาจารย์ หมอสุรศักดิ์กล่าวต่อว่า ทางวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ สาธารณสุข จุฬาฯ ได้ทำการวิจัยโดยการสำรวจ ภายใต้หัวข้อ "กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนในผู้หญิงไทย" ซึ่งพบว่า กลุ่มอาการดังกล่าวแบ่งเป็น อาการทางด้านร่างกาย อาทิ คัดตึงเต้านม, ท้องอืดน้ำหนักขึ้น, ปวดศีรษะ, มือเท้าบวม, นอนไม่หลับ และอยากอาหารมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีอาการทางอารมณ์ อาทิ หงุดหงิด, กระวนกระวาย, ซึมเศร้า, อารมณ์แปรปรวน, สับสน, เครียด, ขาดสมาธิ, ปลีกตัวออกจากสังคม และจากการสำรวจในกลุ่มผู้หญิงไทยอายุระหว่าง 18-45 ปี อาศัยในเขตกรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น 100 คน พบว่า 58% ของผู้หญิงไทยเกิดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน โดยได้ รับผลกระทบทางด้านอารมณ์มากที่สุด และก่อให้เกิดความกังวลมากกว่าผลกระทบด้านร่างกาย นอกจากนี้ปัจจัยทางด้านสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงความ เครียดและวิถีการดำเนินชีวิต เป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนได้เช่นกัน ส่วนวิธีการปฏิบัติสำหรับผู้มีอาการดังกล่าว คือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต และฝึกควบคุมจิตใจและอารมณ์ รับประทานวิตามิน อาจช่วยบรรเทาอาการได้บ้าง
นอกจากนี้ นพ.มานพชัย ธรรมคันโธ ภาควิชา สูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงผลการวิจัยสารดรอสไพริโนนในฮอร์โมนสูตร 24/4 ที่ล่าสุดได้มีการคิดค้นยาคุมกำเนิดสูตร 24/4 ประกอบด้วยสารโปรเจสโตเจน สังเคราะห์ตัวใหม่ ซึ่งองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา ให้การรับรองว่า สามารถรักษาอาการอันเนื่อง มาจากกลุ่มอาการก่อนมีประเดือนชนิดรุนแรงได้ โดยผลจากการวิจัยพบว่า สารดรอสไพริโนนในฮอร์โมนสูตร 24/4 มีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยา ใกล้เคียงกับฮอร์โมนโปรเจสโตเจนในธรรมชาติ จะช่วยในกลไกยับยั้งการบวมคั่งของน้ำในร่างกาย ตัวการของน้ำหนักตัวที่เพิ่มโดยไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ สารตัวนี้ยังช่วยในกลไกรักษาสิว อย่างไรก็ตาม การรักษาหรือกินยา ในกรณีของผู้มีอาการก่อนมีประจำเดือนควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างเหมาะสม พร้อมควรปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวันควบคู่ไปด้วย เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, ฝึกสมาธิ เพื่อให้จิตใจสงบ, พักผ่อนให้เพียงพอ หรือหลีกเลี่ยงความเครียด เป็นต้น
ที่มา: ไทยรัีฐออนไลน์ ทีมข่าวหน้าสตรี อังคารที่ 27 เมษายน 2553
No comments:
Post a Comment