Tuesday, April 20, 2010

ฟ้องมหาวิทยาลัยเอกชน

คู่กรณีในคดีปกครองเป็นเรื่องพิพาทระหว่างราษฎร์กับรัฐเป็นส่วนใหญ่

รัฐเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ราษฎร์เป็นผู้ถูกใช้อำนาจปกครองเป็นของคู่กัน

แต่เมื่อกลายเป็นคู่พิพาทกันเสียแล้ว ราษฎรแบกน้ำหนักขึ้นชกกับอำนาจรัฐนะ ใครได้เปรียบเสียเปรียบเห็น ๆ

แต่ก็ไม่แน่นะโยม ราษฎร์บุกมาแบบมวยวัด รัฐบิ๊ก ๆ ก็ต้องปีนกระไดเผ่นเหมือนกันนะ

ชิมิ

ทางคดีปกครองท่านเรียกคู่กรณีภาครัฐหรือราชการนั่นว่าหน่วยงาน ทางปกครอง

มาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติความว่า หน่วยงานทางปกครอง หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และ ให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ ดำเนินกิจการทางปกครอง

อ่านแล้วย่อมเชื่อได้ว่า (ภาษาที่กำลังฮิตที่สุดในวงการกฎหมาย) มหา วิทยาลัยเอกชน ย่อมไม่เข้าข่ายเป็นหน่วยงานทางปกครองตามบทนิยามนี้

เป็นเรื่องของฝ่ายเอกชน ดำเนินการและบริหารการศึกษาโดยภาคเอกชนแท้ ๆ จึงย่อมไม่มีเหตุให้ถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้สักกรณี

บัดนี้มีนักเลงดีมีฝีมือลองของแล้วครับท่าน ได้ผลอย่างไรโปรดติดตาม

ผู้ฟ้องคดีเป็นอาจารย์สอนกฎหมายประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยา ลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออันเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อมีเสียงเป็นที่ รู้จักกันดีแห่งหนึ่งในวงการศึกษาเอกชน

ท่านอาจารย์สอนมาแปดปีมีลูกศิษย์อยู่หลายรุ่นหลายคน วันดีคืนดีท่านอธิการบดีมีหนังสือแจ้งเลิกจ้างโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย แบบว่าถูกเลิกจ้างกันแบบไม่ทันตั้งตัว

เขาหาว่าอาจารย์กระทำผิดวินัยตามระเบียบของมหาวิทยาลัยนั่นแหละ

มือระดับสอนกฎหมายเมื่อเห็นว่าการเลิกจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ ก็ต้องพิสูจน์ความผิดถูกกันถึงโรงถึงศาลเป็นธรรมดา

จึงฟ้องมหาวิทยาลัยต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างและให้ชดใช้เงิน เป็นค่าเยียวยาสถานภาพการเป็นอาจารย์ประจำมาเป็นเวลาแปดปีรวมสี่แสนแปดหมื่น บาท

ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของเอกชน ไม่ใช่หน่วยงานทางปกครองตามนิยามในมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

กรณีพิพาทจึง ไม่เป็นคดีปกครอง ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลปกครอง

มีคำสั่ง ไม่รับฟ้อง ไว้พิจารณา ให้จำหน่ายคดี

ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะมิใช่กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ

แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก็เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการบริการ สาธารณะด้านการศึกษา

อันเป็นกิจการทางปกครองและใช้อำนาจทางปกครองในการดำเนินกิจการดังกล่าวตาม กฎหมาย

ผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็น หน่วยงานทางปกครองและอธิการบดีมหา วิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานของผู้ถูกฟ้องคดีเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามนัยมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ

แต่ผู้ถูกฟ้องคดีคงเป็นหน่วยงานทางปกครองและอธิการบดีมหา วิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือคงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็เฉพาะ แต่ในกรณีที่จะกระทำการในการดำเนินกิจการทางปกครองและใช้อำนาจทางปกครองใน การดำเนินกิจการดังกล่าวตามกฎหมายเท่านั้น

การเลิกจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นอาจารย์ประจำซึ่งเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เป็น การใช้อำนาจทางปกครองในการจัดการศึกษาระดับปริญญาตามที่กฎหมายมอบหมายให้ผู้ ถูกฟ้องคดีจัดทำ

ข้อเท็จจริงในคดี อธิการบดีมีคำสั่งเลิกจ้างตามระเบียบของมหาวิทยาลัยผู้ถูกฟ้องคดีจากผลการ สอบสวนที่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำผิดวินัยตามที่ถูกกล่าวหาอันเป็น โทษทางวินัยสถานหนึ่ง และมีผลเป็นการถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ตาม นัยมาตรา ๙๗ วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวและผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งและชดใช้ ค่าเยียวยาสถานภาพ

จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่ หน่วยงานทางปกครองหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

มาตรา ๒๓ วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ บัญญัติว่ากิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่า ด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน

ศาลปกครองจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้

อย่างไรก็ตามปรากฏว่าคดีนี้ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสืออุทธรณ์ถึงประธานคณะ กรรมการการอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ แต่มิได้รอให้คณะกรรมการการอุดมศึกษามีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือมิได้วินิจฉัยภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ กลับนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองกรณี จึงเป็นการฟ้องคดีก่อนเวลาที่อาจใช้สิทธิฟ้องคดี ตามมาตรา ๔๒ วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ

มีคำสั่ง ไม่รับฟ้อง ยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น (คำสั่งที่ ๘๘๐/๒๕๔๙)

กำลังทำคะแนนนำอยู่ ถูกจับแพ้ฟาวล์เสียก่อน.

พิสิษฐ์ พลรักษ์เขตต์
praepim@yahoo.com

ที่มา: กฎหมายข้างตัว เดลินิวส์ออนไลน์ เสาร์ ที่ 10 เมษายน 2553

No comments:

Post a Comment