นพ. กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า เป็นห่วงสุขภาพจิตของคนไทย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว "พ่อ" ที่เป็นเสาหลักของครอบครัว ซึ่งหลายครอบครัวต้องเผชิญกับปัญญาเศรษฐกิจที่รุมเร้า โดยเฉพาะในครอบครัวที่ต้องถูกเลิกจ้างในช่วงนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะ เกิดความเครียด และป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ที่อาจจะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย และทำร้ายคนในครอบครัว ตามที่เคยได้มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่างๆ เนื่องจากกลุ้มใจ คิดว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ครอบครอบครัว และคิดว่าไม่สามารถแบกรับภาระอันหนักอึ้งได้อีกต่อไปแล้ว และไม่รู้ว่าจะสามารถพาสมาชิกในครอบครัวให้ผ่านพ้นสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่าง ไร
"ความจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นพ่อหรือแม่ เมื่อเจอปัญหาก็อาจจะคิดเหมือนกัน แต่เรามักจะมองว่าผู้ชายเข้มแข็งกว่าผู้หญิง เคยมีงานวิจัยพบว่าผู้หญิงมีความอดทนมากกว่าผู้ชาย เมื่อเจอปัญหาในผู้ชายที่มีความคิดอยากทำร้ายตนเองและผู้อื่นนั้น พบว่าจะทำได้สำเร็จมากกว่าผู้หญิง สุภาพบุรุษที่ดีคงไม่มีใครคิดแก้ปัญหาด้วยการจบชีวิต เพราะคนเหล่านี้จะมีมุมมองว่าการมีชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์เป็นสิ่งที่ดีและ สามารถมองเห็นมุมมองที่ดีแม้ในภาวะที่เป็นลบได้" จิตแพทย์กล่าวนพ.กัมปนาท กล่าวว่า ในสถานการณ์นี้อยากให้ทุกคนได้เอาใจใส่ผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือผู้ที่เป็นพ่อช่วยกันสังเกตุและให้กำลังใจ แสดงความร่วมมือร่วมใจ โดยช่วยกันทำความเข้าใจว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่หลีก เลี่ยงไม่ได้ แต่หากในครอบครัว ได้มีเตรียมตัวและปรับใจยอมรับสถานการณ์ ก็จะสามารถนำพาครอบครัวให้อยู่รอดต่อไปได้ โดยทุกครอบครัวควรจะมีการเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการประหยัด ลดรายจ่ายในบ้านที่ไม่จำเป็นลง ด้วยการเริ่มต้นทบทวนรายรับรายจ่ายอย่างละเอียด และแจ้งนโยบายการประหยัดให้ทุกคนในครอบครัวทราบ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ต้องช่วยกันประหยัดคือการใช้พลังงานในบ้าน เช่นไฟฟ้า และ น้ำประปา เป็นต้น ไม่ควรใช้จ่ายไปกับสิ่งของฟุ่มเฟือย แต่อย่างไรก็ตามคงไม่ต้องหยุดทำทุกสิ่งทุกอย่างมากจนเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความเครียดหรือการตื่นตระหนก (panic) ตามมาก็ได้ อาจทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่เข้าไปอีก นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ทุกคนในครอบครัวจะต้องปรับจิตใจและความคิดให้เข้าใจถึงสภาวะที่เกิดขึ้นของ โลก มองเป็นเรื่องธรรมดาที่มีขึ้นมีลง อย่าอยู่บนความคาดหวังที่ไม่ยอมยืดหยุ่น เพราะสิ่งสำคัญคือความสุขใจของคนในครอบครัว มากกว่าทรัพย์สินเงินทอง
นพ. กัมปนาท ชี้ว่า แทนที่หัวหน้าครอบครัว จะปล่อยให้ตนเองเครียด สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาสนำครอบครัวสูการใช้ชีวิตแบบพอเพียงได้ มีความอบอุ่น ช่วยกันคิดฝ่าวิกฤติ
"คนที่เป็นพ่อหรือหัวหน้าครอบครัวจะต้องทำตัวเป็นผู้นำทางความคิดให้กับ สมาชิกในครอบครัวให้ได้ ควรทำตัวเป็นแบบอย่างในเรื่องของการประหยัด ไม่ควรแสดงสีหน้าถึงความเครียดมากจนเกินไปให้กับสมาชิกในครอบครัวเห็น เพราะจะยิ่งทำให้คนอื่นๆ พลอยเครียดตามไปด้วย อาจจะเริ่มต้นคุยกันดีๆกับสมาชิกในครอบครัวให้หันมาช่วยกันประหยัด และลดค่าใช้จ่ายได้อย่างไร ในขณะเดียวกันจะหาทางเพิ่มรายรับให้กับครอบครัวในช่องทางไหนบ้าง ควรให้ทุกคนในครอบครัวมีส่วนร่วมในการช่วยคิดและร่วมมือกันปฏิบัติ เพราะถ้าพ่อเป็นคนรับผิดชอบทั้งหมด ก็จะทำให้พ่อเครียดอยู่คนเดียว ในขณะที่ลูกๆไม่สามารถที่จะเรียนรู้ประสบการณ์การช่วยเหลือครอบครัวเลย ถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดพ่อจะเครียดจนอาจเป็นโรคซึมเศร้าและอาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ สมาชิกในครอบครัวยิ่งไม่พอใจ รังเกียจ ไม่มีใครอยากคุยด้วย ทั้งๆ ที่พ่ออาจจะเป็นผู้ปรารถนาดีต่อครอบครัว" นพ.กัมปนาทกล่าว
ส่วนวิธีการปรับใจนั้น นพ.กัมปนาท มองว่าเป็นเรื่องของทัศนคติที่ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ซึ่งก่อนอื่นสมาชิกในครอบครัวจะต้องเปลี่ยนความคิดจากลบให้กลายเป็นบวกเสีย ก่อน โดยมองว่าตนเองไม่ได้เจอกับปัญหาเพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ต้องเจอกับปัญหาแบบนี้เหมือนกัน และบางครอบครัวอาจจะแย่กว่าตนเองด้วยซ้ำ นอกจากนั้นต้องคอยหาประสบการณ์ดีๆ มาคอยย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า แม้วันนี้สิ่งที่ทำอยู่อาจจะไม่ดีไม่สำเร็จหรือมีปัญหา แต่สิ่งที่ได้มาคือประสบการณ์อันล้ำค่าที่เกิดจากความตั้งใจ ความพากเพียรในอดีตที่ทำให้ชีวิตและครอบครัวดำเนินมาถึงทุกวันนี้ได้ แสดงว่าคุณก็เป็นคนที่มีศักยภาพมากเหมือนกัน พยายามบอกตัวเองอยู่เสมอว่าคุณเป็นคนที่มีคุณค่า เพื่อเป็นกำลังใจให้กับตัวเองในการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ อย่างไรก็ตามถ้าบางคนเป็นคนที่เริ่มมีปัญหาสุขภาพจิตแล้ว การจะให้เปลี่ยนความคิดจากลบเป็นบวกอาจจะยากในช่วงแรก ซึ่งจะต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนความคิดนานสักหน่อย แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถ ถ้าหากสมาชิกในครอบครัวร่วมใจกัน
นพ.กัมปนาท แนะนำหลักการปฏิบัติตัวที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ คือ
- ให้มองและสำรวจสุขภาพจิตของตนเองก่อนว่าเป็นอย่างไร เมื่อต้องเจอกับสถานการณ์แบบนี้ ถ้าเริ่มมีปัญหาแล้ว ก็ต้องรีบหาทางปรึกษาและแก้ไข โดยให้สมาชิกในครอบครัวช่วยกันสังเกต เมื่อพบว่าไม่ปรกติก็ควรหาทางรักษา และไม่ควรเก็บปัญหาไว้คนเดียว เพราะจะยิ่งทำให้เครียดหนักเข้าไปอีก
- พยายามมีสติในการแก้ไขปัญหา อย่าใช้อารมณ์ ควรคิดให้รอบคอบ หลายๆ ด้าน คิดแบบมีเหตุผล หากคิดไม่ออกก็ควรปล่อยวาง และหากิจกรรมอย่างอื่นทำไปก่อน เมื่อสมองปลอดโปร่งแล้วก็ค่อยกลับมาคิดหาทางแก้ไขใหม่อีกรอบ
- ครอบครัวควรจะวางนโยบายเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวรับทราบ เช่นการประหยัด น้ำประปา ไฟฟ้า และสิ่งของฟุ่มเฟือยต่างๆ โดยอาจจะทำป้ายต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือคนในครอบครัวให้ช่วยกันประหยัด เช่น "ปิดสวิชต์ทุกครั้งหลังออกจากห้องน้ำนะจ๊ะ" หรือไม่ก็อาจจะกำหนดช่วงเวลาการเปิดปิดเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน เป็นต้น
- ต้องคอยเตือนตัวเองไว้เสมอว่า "คุณมีสิทธิ์ท้อได้แต่อย่าเพิ่งถอย"
- คิดว่าไม่มีใครเก่งอยู่คนเดียว เมื่อเจอปัญหา ควรหาช่องทางแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ โดยให้ทุกคนในครอบครัวมีส่วนร่วมในการร่วมแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะว่าเรื่องครอบครัวไม่ควรมองว่าใครเป็นช้างเท้าหน้าหรือเท้าหลัง อยากให้มองว่าทุกคน เป็นทุกเซลล์เล็กๆที่ต้องร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจกันในการที่จะพาครอบครัวให้ผ่านอุปสรรคต่างๆไปให้ได้ การมองว่าพ่อเป็นช้างเท้าหน้า อาจจะมองว่าเป็นบทบาทที่ทางสังคมมอบให้ หรือยัดเยียดให้ ความจริงแล้วทุกคนควรรับผิดชอบชีวิตของตนเองให้ดี และพร้อมที่จะร่วมแบ่งปันให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
นพ.กัมปนาท สรุปทิ้งท้ายว่า บุคคลรอบข้างมีส่วนสำคัญในการสร้างกำลังใจมากที่สุด โดยเฉพาะครอบครัว ซึ่งถือเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดของการดูแลสุขภาพจิตซึ่งกันและกัน และยังเป็นหัวใจสำคัญที่จะประคับประคองให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้ โดยจะต้องมีความรัก ความสามัคคี ใช้มธุรสวาจา และถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวยิ่งแน่นแฟ้นขึ้น และทำให้สามารถฝ่าฟันกับอุปสรรคต่างๆ ไปได้ด้วยดี
No comments:
Post a Comment