Thursday, December 24, 2009

หลับเวร

พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ฉบับล่าสุดมีเนื้อหาทางกระบวนการดำเนินการทางวินัยข้าราชการพลเรือนยัง เหมือนเดิมกับฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๕

และได้ฟันธงบวกคอนเฟิร์มว่ามาตรา ๙๒ ของกฎหมาย ป.ป.ช. น่าจะขัดต่ออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ

มีความเห็นเป็นประการใดยังรับความคิดเห็นจากทุกท่านอยู่ขอรับ

ข้าราชการพลเรือนนั้นเหมือนลูกเมียน้อยต้องลงโทษตามฐานความผิดที่ ป.ป.ช.ชี้มูลเท่านั้น

แต่ข้าราชการตุลาการ ตุลาการศาลปกครอง และข้าราชการอัยการ กฎหมาย ป.ป.ช.ท่านให้ส่งสำนวนไปยังคณะกรรมการที่ดูแลการบริหารงานบุคคล เช่น คณะกรรมการตุลาการ คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง คณะกรรมการอัยการ เป็นผู้ดำเนินการสอบสวนลงโทษทางวินัย

ถ้าคณะกรรมการท่านเห็นว่าไม่มีมูลที่จะลงโทษทางวินัย ก็ให้รายงาน ป.ป.ช.ทราบเท่านั้นเอง

แล้วจะไม่น้อยใจแทนข้าราชการพลเรือนได้ยังไง

ขนาดจะนอนหลับทั้งทียังมีเวรเลย

เรื่องนี้ เป็นเรื่องของลูกจ้างประจำตำแหน่งนักการภารโรงในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

เผลอหลับไปหน่อยระหว่างอยู่เวรดูแลรับผิดชอบสถานที่และทรัพย์สินนอกเวลาทำงานปกติตามคำสั่งของมหาวิทยาลัย

มีทรัพย์สินสูญหายระหว่างนั้น งานเข้าเต็ม ๆ มหาวิทยาลัยมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเห็นของกระทรวงการคลัง

ท่านว่ามหาวิทยาลัยมีคำสั่งให้อยู่เวรตลอดคืน การที่ไปนอนหลับในเวลาหลังเที่ยงคืนจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการ

ไอ้ที่ไปนอนหลับมันก็มีเหตุน่าเห็นใจไม่ใช่ด้วยความไม่รับผิดชอบนะท่านอาจารย์

ก็สั่งให้ไปอยู่เวรหลังจากที่ทำหน้าที่ตามปกติมาแล้วทั้งวันและเสร็จจากอยู่เวรครั้งนี้แล้วยังต้องทำงานต่อในวันรุ่งขึ้นอีก

คนนะไม่ใช่เครื่องจักร

อย่างนี้ถือว่าไม่เป็นธรรม คุณภารโรงจึงฟ้องมหาวิทยาลัยขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

กรณีในเรื่องนี้เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ทำให้เกิดความเสียหาย ต่อหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่ให้หน่วยงานของรัฐเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ได้

และตามมาตรา ๑๐ พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว กำหนดให้การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดได้ กระทำการนั้นไปด้วย ความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

สิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนท่านให้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่ง การกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์โดยมิต้องให้ใช้เต็มจำนวนของ ความเสียหายก็ได้

ถ้าการละเมิดเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวม ให้หักส่วนแห่งความรับผิดดังกล่าวออกด้วย

หนีไปนอนหลับระหว่างอยู่เวรจนของหายเข้าข่ายต้องรับผิด เต็ม ๆ ไม่ใช่เป็นการจัดฉากแน่นอน แต่มหาวิทยาลัยก็ใช้งานจนหัวปักหัวปาแบบนี้ก็น่าคิดเหมือนกันนะ

เรื่องนี้ศาลปกครองสูงสุดท่านวินิจฉัยไว้เป็นแนวทางการปฏิบัติราชการต่อไปไว้ดังนี้

เมื่อปรากฏว่าคำสั่งของมหาวิทยาลัยผู้ถูกฟ้องคดีให้ผู้ฟ้องคดีอยู่เวรดัง กล่าว เป็นคำสั่งที่มีผลทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องปฏิบัติหน้าที่ทั้งใน เวลาทำงานปกติและนอกเวลาทำงานปกติรวมกันถึงสองวันกับหนึ่งคืนติดต่อกัน

ดังนั้น โดยสภาพการทำงานจึงต้องยอมให้ผู้ฟ้องคดีได้นอนพักผ่อนระหว่างอยู่เวรในตอนกลางคืน

และเมื่อปรากฏด้วยว่าเงินค่าตอบแทนการอยู่เวรเป็นเงินค่าตอบแทนที่อยู่นอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติไม่ใช่เงินค่าจ้างเฝ้ายาม

ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ต้องรับผิดดังเช่นพนักงานรักษาความปลอดภัย ผู้มีอาชีพเฝ้ายามโดยเฉพาะ และคำสั่งไม่ได้ห้ามผู้ฟ้องคดีนอนพักผ่อนระหว่างปฏิบัติหน้าที่และไม่ได้ กำหนดวิธีการในการอยู่เวรจะต้องตรวจตราอาคารหรือทรัพย์สินโดยเฉพาะผู้ฟ้อง คดีจึงตรวจเยี่ยงวิญญูชนจะพึงกระทำตามปกติ

ผู้ฟ้องคดีได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรอันพึงปฏิบัติแล้วโดยตรวจสอบปิดล็อก ประตูหน้าต่างก่อนเข้านอนพักผ่อนและไม่พบสิ่งผิดปกติแต่ประการใด

จึงเป็น การปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ในการดูแลทรัพย์สิน ประกอบกับผลการสอบสวนสรุปว่า ทรัพย์สินสูญหายโดยไม่ทราบสาเหตุ อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์หรือสิ่งผิดปกติที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ แล้วไม่ป้องกันแก้ไข

จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดีไม่ ต้องรับผิดชดใช้ ให้เพิกถอนคำสั่งที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๗๙/๒๕๔๙).

พิสิษฐู พลรักษ์เขตต์
praepim@yahoo.com


ที่มา: กฎหมายข้างตัว เดลินิวส์ออนไลน์ http://dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=337&contentID=38120

No comments:

Post a Comment