Sunday, July 26, 2009

อิสราเอลมหาอำนาจเทคโนโลยีจัดการน้ำ (1)

เดลินิวส์ออนไลน์ ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจ เกี่ยวกับ"น้ำ"ที่น่าสนใจมาก ๆ


กล่าวกันว่า “อิสราเอล” เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าประทานมาด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่กึ่งกลาง ระหว่างสามทวีป คือยุโรปเอเชีย และแอฟริกา มีประวัติศาสตร์ของ 3 ศาสนา คือคริสต์ อิสลาม และยูดาห์อยู่ในประเทศนี้ จัดอยู่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีพรมแดนติดกับเลบานอน ซีเรีย จอร์แดนและอียิปต์ มีประชากรราว 6.5 ล้านคนสภาพภูมิประเทศค่อนข้างแคบและยาว มีความยาวประมาณ 470 กม. กว้าง 135 กม. ครึ่งหนึ่งของ ภูมิประเทศเป็นพื้นที่ทะเลทรายแห้งแล้ง แต่อิสราเอลก็พัฒนาระบบชลประทานน้ำหยดใช้น้ำกับพืชอย่างคุ้มค่าโดยใช้ระบบ คอมพิวเตอร์ควบคุมการปล่อยหยดน้ำ จนปลูกพืชผักส่งออกได้เป็นอันดับ1 ในยุโรป

ปัญหาเรื่องน้ำเป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศ ปริมาณน้ำฝนต่อปีจัดอยู่ระหว่าง 1,000 มิลลิเมตร ทางเหนือสุดของประเทศ ลงมาจนถึง 31 มิลลิเมตร ทางใต้สุด นอกจากนี้ในช่วง 4 เดือนที่มีฝนตกตั้งแต่ พ.ย. จนถึง ก.พ. ปริมาณน้ำฝนแต่ละปีไม่คงที่นั้นเป็นความพยายามอย่างหนักของประเทศที่ขาดแคลน น้ำ และมีการหาแหล่งน้ำ ใหม่ ๆ อยู่เสมอในระหว่างปี พ.ศ. 2503-2512 อิสราเอลสร้างท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ ส่งน้ำจากเหนือลงมาทางภาคใต้ที่แห้งแล้ง รวมทั้งการทำฝนเทียม การนำน้ำเสียกลับมาใช้ประโยชน์ และการกลั่นน้ำจืดจากทะเล

แนววิธีเพื่อต่อสู้กับความแห้งแล้งของแผ่นดินทะเลทรายทำ ให้อิสราเอลวันนี้กลายมาเป็น “มหาอำนาจเทคโนโลยีของน้ำ” ต้องพูดกันถึงขนาดนั้น และเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านน้ำไปสู่ในรูปของธุรกิจ ในทุก 2 ปี อิสราเอลจะจัดงานแสดงเทคโน โลยี และนวัตกรรมสุดยอดการจัดการน้ำภายใต้ชื่องานว่า วอเทค (WATEC) และในปีนี้ งานวอเทค2009 ครั้งที่ 5 จะมีขึ้น ระหว่าง 17-19 พฤศจิกายน 2552 ณ กรุงเทลอาวีฟ เพื่อจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุดเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากร น้ำและสิ่งแวดล้อมของอิสราเอล และเป็นเวทีหารือและแสวงหาความร่วมมือทางธุรกิจในสาขาดังกล่าวระหว่างสถาบัน และบริษัทที่เกี่ยวข้องของอิสราเอลและบริษัทต่างชาติ ก่อนที่งานจะเริ่มต้น ทางผู้จัดงานได้เชิญสื่อมวลชนและนักธุรกิจ จากนานาประเทศที่มีความสัมพันธ์ทาง การทูตอันดีกับอิสราเอลมาอย่างยาวนานอาทิ ไทย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา จีน สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ตุรกี อัฟกานิสถาน แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น มาเยี่ยมชมบริษัทผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการน้ำและระบบการจัดการสิ่ง แวดล้อมด้านน้ำ ก่อนที่จะนำเทคโนโลยีของ ตัวเองไปโชว์ในงาน

มร.โบกี้ โอเรน ประธานการจัดงานวอเทค 2009 กล่าวว่า “อัตราการเติบโตของประชาชนทั่วโลก และการเติบโตของสังคมเมืองที่มากกว่าชนบทแบบก้าวกระโดด รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจที่รุมเร้า ก่อให้เกิดความท้าทายของภาครัฐบาลและ อุตสาหกรรม และเหล่านักลงทุนที่มีศักยภาพที่จะจัดการปัญหาที่จะตามมา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือการแข่งขันในการเข้าถึงข้อมูลของน้ำและแหล่งพลังงานอันจำเป็น ซึ่งการจัดการน้ำก่อให้เกิดข้อบังคับด้านกฎหมายที่สอดคล้องกับสังคม และเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ในประวัติศาสตร์การจัดการน้ำแยกออกจากกัน แต่ขณะนี้มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น”

“ประเทศอิสราเอลอยู่ในฐานะของแหล่งนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านจัดการน้ำและสิ่ง แวดล้อมแล้วยังรวมผู้เชี่ยวชาญด้านจัดการน้ำทุกสาขา นอกจากนี้เรายังเป็นประเทศที่สร้างความประหลาดใจให้กับชาว โลกเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่น้ำที่นำสมัย รวมทั้งเทคโนโลยีด้าน สิ่งแวดล้อมด้วย”

ย้อนไปในอดีต อิสราเอลไม่มีความสมดุลด้านภูมิศาสตร์ การผันน้ำจากเหนือลงใต้ก่อให้เกิดระบบขนส่งน้ำแห่งชาติ โดยระบบถูกออกแบบทางวิศวกรรมโดยบริษัทเอกชน ทาฮาล กรุ๊ป (Tahal group) และบริษัท เมโกรอท (MEKOROT) พัฒนาเรื่องของระบบโครงสร้างของท่อส่งน้ำ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 จนกระทั่งสำเร็จในปี 2507 ระบบ ท่อต้องผ่านทางทะเลมาจากกาลีลี่ (Galilee) ในทางเหนือลงมาสู่ด้านใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นทะเลทราย ความยาวของท่อน้ำราว 6,500 กม. เดินทางไปทั่วประเทศ ระบบน้ำทั้งหมดที่ขนส่งมีทั้งสิ้น 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับการอุปโภคบริโภคและผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ยังต้องนำน้ำไปเติมในใต้ดินในแผ่นดินทะเลทรายในฤดูหนาวเพื่อ ป้องกันการระเหยของน้ำใต้ดินซึ่งจะสร้างความชุ่มชื้นให้กับพืชผักที่ปลูกใน ทะเลทรายได้

นอกจากเรื่องของการเชื่อมต่อโครงข่ายน้ำแล้วความท้าทายอีกเรื่องของน้ำคือ การจัดการน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเรื่องที่ยากกว่าระบบการจัดการน้ำทั่วไปถึง 2 เท่า เพราะน้ำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง น้ำจากอุตสาหกรรมที่มีความเข้มข้นของสารพิษสูง น้ำเสียจากอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ สิ่งทอ หรืออุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือนจะถูกบำบัด อิสราเอลได้คิดค้นระบบแม่เหล็กเพื่อดูดจับโลหะหนักในน้ำ อาทิ น้ำเสียที่มีคราบน้ำมัน สีย้อมผ้า ผงซักฟอก รวมถึงการปล่อยกระแสไฟฟ้าลงไปในน้ำเสียทำให้ลดค่าใช้จ่ายการจัดการน้ำเสียลง ถึง 15 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับระบบทั่วไป และทั้ง 2 ระบบได้มีการจดสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการแล้ว

ประเทศอิสราเอล นำน้ำมารีไซเคิลถึง 75 เปอร์เซ็นต์ในอัตราการใช้น้ำ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร นับเป็นอันดับหนึ่งในโลก ขณะที่อันดับ 2 คือสเปนนำน้ำมารีไซเคิล 12 เปอร์เซ็นต์

บริษัท ฮากิโฮน (Hagihon Ltd.) จัดอยู่บริษัทแนวหน้าของการบำบัดน้ำเสียที่ใหญ่สุดในอิสราเอล ตั้งอยู่ในเมืองเยรูซาเลม มีทุนจดทะเบียนถึง 5,000 ล้านบาท ทำธุรกิจจัดการน้ำแบบวันสต๊อป เซอร์วิสเกี่ยวข้องกับผู้คน 750,000 คน ในนครเยรู ซาเลม รับผิดชอบทั้งการจัดหาแหล่งน้ำ เก็บกักน้ำโดย การสร้างอ่างเก็บน้ำรวม 20 แห่ง เก็บกักน้ำไว้ได้ 360,000 ลูกบาศก์เมตรเพื่อให้เพียงพอต่อชาวเยรูซาเลม รวมถึงการต่อยอดการบำบัดน้ำเสียพัฒนาให้เป็นก๊าซชีวภาพ

นอกจากนี้ยังมีบริษัทลูกที่รับสร้างโรงงานกรองน้ำสะอาด และการจัดการน้ำเสียในระบบเกษตรกรรม ผ่านระบบชลประทาน ทั้งนี้การจัดการน้ำเสียของบริษัทนี้นอกจากการใช้เทคโนโลยีอันซับซ้อนแล้ว กรรมวิธีที่เปิดเผยให้สื่อมวลชนดูเป็นเรื่อง ง่ายที่บ้านเราใช้กันอยู่ไม่ว่าการเติม ออกซิเจนให้น้ำ ด้วยการปล่อยให้น้ำไหลขึ้นลงตลอดเวลาในบ่อบำบัด แล้วใช้เครื่องกวนน้ำขนาดใหญ่หมุนเป็นวงกลมในบ่อบำบัด ซึ่งกว่าจะมาถึงขั้นตอนนี้น้ำเสียจะถูกกรองเอาเศษขยะ เศษซากพืชออกเสียก่อน เมื่อบำบัดได้ที่ระบบน้ำจะปล่อยลงสู่ระบบชลประทาน ด้วยการปล่อยน้ำลงมาจากที่สูงเหมือนกับน้ำตก เพื่อเพิ่มออกซิเจนอีกรอบ

แน่นอน ฮากิโฮนจะรวบรวมเทคโนโลยีทั้งหลายประดามีมาร่วมในงาน วอเทค 2009 เปิดฉากเจรจาขายเทคโนโลยีให้กับผู้สนใจจากทั่วโลก ซึ่งคาดว่าจะมีผู้มาร่วม งาน 20,000 คนจาก 81 ประเทศ ในสัปดาห์มาติดตามเทคโนโลยีการจัดการน้ำอันก้าวหน้ารวมถึงการคิดค้นนวัตกรรม ทางพลังงานของชนชาติยิวที่ใช้ปัญญาแก้ปัญหาจนก้าวสู่ระดับผู้นำด้าน เทคโนโลยีเรื่องน้ำและพลังงาน ที่กำลังกลายเป็นสินค้าส่งออก

* ผู้สนใจร่วมงาน WATEC 2009 ครั้งที่ 5 ระหว่าง 17-19 พฤศจิกายน 2552 ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่สถานทูตอิสราเอล โทร : 0-2204-9200 โทรสาร : 0-2204-9255 เว็บไซต์ http://bangkok.mfa.gov.il

พรประไพ เสือเขียว

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=522&contentID=8938

No comments:

Post a Comment