Sunday, July 26, 2009

อิสราเอลมหาอำนาจเทคโนโลยีจัดการน้ำ (2)

น้ำ คือ ชีวิต และ มีความสำคัญยิ่งขึ้น มากขึ้นไปทุกที

เดลินิวส์ออนไลน์ ได้ลงข้อมูลไว้

ปัญหา “น้ำ” ในอิสราเอลจัดเป็นปัญหาระดับชาติ ทั้งภาครัฐและเอกชนประสานความร่วมมือเพื่อให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภครวม ทั้งทำการเกษตรได้ด้วย การเสาะแสวงแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำใต้ดิน น้ำเสีย และน้ำทะเลประเทศนี้นำกลับมาใช้อย่างคุ้มค่า ทุ่มเทกำลังสมองเพื่อให้น้ำสะอาดบริโภคได้อย่างสะดวกใจสบายกาย บริษัทไอดีอี เทคโนโลยี (IDE technologies Ltd.) อยู่ในแถบเอลัต ด้านใต้ของอิสราเอลซึ่งแห้งแล้ง ถือว่าเป็นบริษัทที่มีระบบเทคโนโลยีแยกเกลือออกจากน้ำทะเล ทำให้ได้ราคาน้ำประปาออกมาด้วยต้นทุนถูกสุดในโลก คือ การผลิตน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร (1 ลูกบาศก์เมตรเท่ากับ1,000 ลิตร) ใช้เงิน 0.53 ดอลลาร์สหรัฐ

การผันน้ำทะเลเพื่อมาสกัดเกลือด้วยการกรองออก ของบริษัทแห่งนี้มาจากทะเลสาบกาลิลี่ ประสิทธิภาพของโรงงานมีกำลังการผลิต 330,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ผลิตออกมาได้ตามมาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก (WHO) ทั้งนี้ระบบการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลยังมีเทคโนโลยีที่รักษาสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงานไฟฟ้า โดยใช้ไฟ 4 กิโลวัตต์ต่อการผลิตน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตรของกระบวนการผลิตน้ำทั้งหมดบริษัทแห่งนี้ตั้ง มา 40 ปีแล้ว ที่ผ่านมาได้เข้าไปติดตั้งระบบแยกเกลือออกจากน้ำทะเลมากกว่า 35 โรงงานใน 40 ประเทศ

น้ำทะเลที่กลั่นมาจากน้ำทะเลของโรงงานแห่งนี้มีคุณภาพและรสชาติที่ดื่มได้ อย่างสนิทใจ ซึ่งทางโรงงานบอกว่ารสชาติเทียบเท่ากับน้ำแร่ ผู้ดูงานทุกคนจะได้รับการชิมน้ำทะเลที่ผ่านกระบวนการทั้งสิ้น เพื่อยืนยันว่าน้ำทะเลนั้นดื่มได้จริง ๆ

เมโกรอท บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงในการจัดการน้ำในอิสราเอล ถือว่าเป็นบริษัทน้ำแห่งชาติของอิสราเอล ทำหน้าที่จัดสรรน้ำจากแหล่งน้ำหลักของประเทศ 4 แห่งสำคัญของประเทศคือในทะเลสาบ คินเนเล็ก น้ำใต้ดินที่มาจากชั้นหินทรายซึ่งอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล และหินปูนในพื้นที่เป็นภูเขา รวมถึงการแยกน้ำเกลือออกจากทะเล และน้ำกร่อย เมโกรอทรับจัดการเพื่อให้เป็นน้ำที่นำไปอุปโภคบริโภคได้ ซึ่งกรรมวิธีการทำน้ำสะอาดของแต่ละแห่ง เมโกรอทมีเทคโนโลยีที่ต่างกันไม่ว่าน้ำที่มาจากชั้นหินซึ่ง มีแร่ธาตุต่างกัน ทั้งแคลเซียม แมกนีเซียม รวมถึงเชื้อโรค จุลินทรีย์ต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนในน้ำ มาทำให้น้ำสะอาด

น้ำจากแหล่งต่าง ๆ ข้างต้นจะถูกสูบไปตามท่อต่าง ๆ มีต้นทางอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ รวมถึงไปพักในอ่างเก็บ น้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่า เอชคอล ( Eshkol) ที่ต้องดูแลให้สะอาดไม่ให้มีสาหร่ายหรือตะกอนตกค้างอยู่ในอ่างเพราะอยู่กลาง แจ้งรับแสงตลอดเวลา ซึ่งเรื่องนี้มีงานวิจัยรองรับอีกเช่นกัน

นับตั้งแต่ปี 2507 เป็นต้นมา ระบบขนส่งน้ำแห่งชาติที่เกิดขึ้นจาก เมโกรอท 80 เปอร์เซ็นต์ของน้ำถูกออกแบบมาใช้ในเรื่องของเกษตรกรรม 20 เปอร์เซ็นต์ใช้ในชนบท ต่อมาในปี 2513 สัดส่วนการใช้เพิ่มขึ้น ในชนบทเพิ่มถึง 70 เปอร์เซ็นต์

นอกจากเรื่องการจัดสรรน้ำสะอาดแล้ว อิสราเอลมีบริษัทมากมายที่รับจ้างบำบัดน้ำเสีย ทั้งในโรงงานอุตสาหกรรม ในระบบปศุสัตว์และเกษตรกรรม ผู้นำด้านการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่อิสราเอลก็ยังครองความเป็นที่ 1 โดยคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของน้ำทั้งหมด

แอคไวส์ (Aqwise) บอกถึงสถานะของตัวเองไว้ว่าเป็นบริษัทชั้นนำในการพัฒนา สร้างสูตรสำเร็จของการแก้ปัญหาน้ำเสีย ทั้งน้ำเสียจากระบบอุตสาหกรรม เทศบาล ทั้งระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่ประสบความสำเร็จในการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียในเทศบาลและโรงงาน อุตสาหกรรมทั่วโลกที่เน้นหนักไปทางอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งในยุโรป อเมริกาเหนือ ตะวันออกกลางโดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้น้ำเสียเหล่านี้คืนชีพมาเป็นน้ำ ดื่มได้อีกครั้ง สิ่งที่น่าสนใจของบริษัทแห่งนี้ได้คิดค้นเครื่อง ดักจับน้ำเสียที่เป็นพลาสติกมีรูพรุนไว้จับเศษตะกอนในน้ำ ยามที่ปล่อยต้องกวนน้ำเสียเพื่อเพิ่มออกซิเจน อันเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของบริษัท

ทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด ชาวอิสราเอลถูกสอนให้รู้คุณค่าของน้ำ หน่วยงานราชการทั้งระดับประเทศและท้องถิ่นรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดน้ำ ดังนั้นคำขวัญที่ว่า “อย่าสิ้นเปลืองน้ำสักหยดเดียว” จึงเป็นที่รู้จักไปทุกบ้านเรือนในอิสราเอล สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ของการกักเก็บน้ำ เพื่อให้เพียงพอต่อการเพิ่ม ขึ้นของประชากรที่เพิ่มในอิสราเอล แม้กระทั้งระบบเปิดปิดวาล์วก๊อกน้ำ มาตรวัดน้ำ ชาวยิวก็คิดค้นไว้แล้ว เอ.อาร์.ไอ โฟล์ คอนโทรล (A.R.I. Flow Control Accessories Ltd.) ได้คิดค้นหัวก๊อกเปิดจ่ายน้ำได้อย่างแม่นยำ ลดการสูญเสียของน้ำซึ่งสามารถนำมาใช้ได้สำหรับอาคารบ้านเรือน

นอกจากตั้งหน้าตั้งตาหาเทคโนโลยีด้านน้ำแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ ทั้งขยะ รวมถึงการจัดสรรการใช้พลังงานอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพ

“ไฮร์เรีย” (Hirria) โรงงานบำบัดของเสียของเทศบาลกรุงเทลอาวีฟ จัดเป็นสถานที่ดูงานด้านสิ่งแวดล้อมอันขึ้นชื่อ เพราะที่นี่คือหลุมฝังกลบขยะของเมือง ครอบคลุมพื้นที่ 450,000 ตารางเมตร รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็น และการลดปริมาณสำเร็จเมื่อปี 2541 ภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างสมาคมชุมชนเมือง เทศบาลเมือง แปรเปลี่ยนขยะกองมหึมากลายเป็นศูนย์พิทักษ์สิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ในอิสราเอล ประกอบด้วยศูนย์แยกขยะรีไซเคิล ศูนย์ผลิตพลังงานสีเขียวหรือพลังงานบริสุทธิ์ โดยใช้ขยะเป็นวัตถุดิบ โดยขบวนการแยกขยะทั้งหลายใช้ระบบคอมพิวเตอร์และแรงงานผสมผสานกัน

ขยะในโรงงานแห่งนี้ ยังนำไปสร้างสวนสาธารณะอายาลอน (Ayalon Park) สวนสาธารณะขนาดใหญ่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 จัดให้เป็นสวนสาธารณะนำร่องสำหรับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยใช้ปุ๋ยจากขยะมาบำรุงต้นไม้ ภายในสวนสาธารณะยัง มีเนินสูงซึ่งเกิดจากขยะไร้พิษที่บำบัดแล้ว กลายเป็นจุดชมวิว อีกแห่งของเทลอาวีฟ เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้เรื่องขยะอย่างครบวงจร เรื่องของการจัดการ การนำมารีไซเคิล หรือรียูส การนำขยะมาแยกก๊าซชีวภาพ เป็นต้น เปิดโอกาสให้ นักเรียนและประชาชนทั่วไปมาเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับขยะภายใต้การบริหาร งานชุมชนในท้องถิ่นเป็นหลัก

ลมและแสงแดดมีอย่างเหลือเฟือในอิสราเอล ในอิสราเอลมีศูนย์วิจัยและคิดค้นพลังงานทดแทนที่ทันสมัยที่รู้จักในนามโรเทม อินดัสทรี (Rotem Industries) ได้รวบรวมนักวิทยาศาสตร์และงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เช่น การเก็บ กักพลังงานลมที่ใช้กังหันลมหน้าตาธรรมดาอย่างที่เห็นอาจจะ เอาต์ไปแล้ว เพราะได้มีการคิดค้นกังหันลมแนวตั้งที่สามารถเก็บพลังงานลมไว้แปรเปลี่ยน เป็นกระแสไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ด้วยการทำกังหันเป็นแนวตั้งรูปทรงคล้ายดอกบัวที่รู้จักในนาม วิน โลตัส (Wind lotus) มีใบพัด 5 แฉก แม้ลมไม่แรงมากแค่ความเร็วลม 3 เมตรต่อวินาทีก็ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 3.5-5.5 เมกะวัตต์ เพราะระบบออกแบบให้สามารถรับลมได้ทุกทิศทาง

พรประไพ เสือเขียว

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=522&contentId=10223

No comments:

Post a Comment