Tuesday, October 5, 2010

อัจฉริยลักษณ์ของอานาปานสติสมาธิภาวนา

อานาปานสติภาวนา เป็นกรรมฐาน หรือเป็นสมาธิภาวนาแบบที่พระพุทธองค์ได้ปฏิบัติและตรัสรู้, มีคำตรัสยืนยันว่า ตรัสรู้ด้วยอานาปานสติภาวนาโดยเฉพาะ....

เรื่อง: ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย / ภาพ : ตุลย์

ในคัมภีร์พระไตรปิฎกเล่าว่า พระโพธิสัตว์ก่อนจะตรัสรู้ มีพระชนม์เพียง 7 พรรษาเท่านั้น ก็ได้เคยฝึกอานาปานสติสมาธิภาวนาด้วย พระองค์เองมาครั้งหนึ่งแล้วและก็ด้วยประสบการณ์คราวนี้เอง ที่ทำให้พระองค์ทรงหวนระลึกถึงว่า “น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้บรรลุภาวะพระนิพพาน” หลังจากที่ทรงทดลองฝึกวิธีการต่างๆ มาแล้วจากครูบาอาจารย์แทบทุกสำนัก แต่กลับทรงค้นพบว่า ไม่ใช่วิถีทางที่ทรงแสวงหาประสบการณ์ในวัยเยาว์คราวนั้นแท้ ๆ ที่ทำให้พระองค์ทรงค้นพบอนุตรสัมมาโพธิญาณสำเร็จเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ด้วยเหตุที่อานาปานสติสมาธิภาวนา เป็นภาวนาวิธีที่ทำให้พระองค์ประสบความสำเร็จอันใหญ่หลวง จึงทรงยกย่องสมาธิวิธีข้อนี้เป็นอย่างมาก ถึงท่านพุทธทาสภิกขุเอง เมื่อได้อ่านพบอานาปานสติสูตร ก็รู้สึกประทับใจเป็นอันมาก จึงได้อุทิศตนทุ่มเทศึกษาพระสูตรอย่างจริงจัง กระทั่งนำมาเขียนเป็นหนังสือ จัดตั้งวางเป็นแบบแผนแห่งการปฏิบัติขึ้นที่สำนักสวนโมกขพลาราม ซึ่งยังคงมีการสอนกันอยู่มาจนถึงบัดนี้ ทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ

ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวถึงอานาปานสติสมาธิว่า

“อานาปานสติภาวนา เป็นกรรมฐาน หรือเป็นสมาธิภาวนาแบบที่พระพุทธองค์ได้ปฏิบัติและตรัสรู้, มีคำตรัสยืนยันว่า ตรัสรู้ด้วยอานาปานสติภาวนาโดยเฉพาะ นี้ก็เป็นเรื่องพิเศษเรื่องหนึ่งว่า ทำไมจึงระบุอย่างนี้, กรรมฐานภาวนามีตั้งมากมาย ทำไมจึงตรัสระบุอานาปานสติภาวนา, ใช้คำว่า อานาปานสติภาวนา ไม่ได้ใช้คำว่า สติปัฏฐาน; แม้ว่าเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องเดียวกัน จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้างก็ไม่เท่าไร, พระองค์ก็ยังตรัส เรียกว่า ระบบอานาปานสติภาวนา เป็นระบบที่ทำให้พระองค์ได้ตรัสรู้, นี้ก็ควรจะสนใจ

มันมีของดีหลายอย่างหลายประการสำหรับแบบนี้, ตัวอย่างเช่น แบบนี้เมื่อทำแล้วจะเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาพร้อมกันไปในตัว ไม่ต้องแยกทำคนละที และยังแถมกล่าวได้ว่า มีศีลพร้อมกันไปในตัว ไม่ต้องทำพิธีรับศีลก่อนแล้วจึงมาทำ, ขอให้ลงมือทำเถิดตามระบบนี้ ก็จะมีศีล สมาธิ ปัญญา พร้อมกันไปในตัว, แบบนี้จะสู้แบบที่เขากำลังเล่าลือกันในโลก คือแบบเซน อย่างแบบเซน ของจีน ของญี่ปุ่น ที่ไปมีชื่อเสียงโด่งดังในตะวันตกในพวกฝรั่งนั้น ก็เพราะว่า มันเป็นแบบที่มีสมถะและวิปัสสนาติดกันอยู่ด้วยพร้อมกันไปในตัว

เมื่อมาพิจารณาดูถึงแบบฝ่ายเถรวาท ก็เห็นว่า แบบอานาปานสตินี้แหละ มีสมถะและวิปัสสนาพร้อมกันไปในตัว แล้วก็อย่างรัดกุมที่สุด, เลยเป็นเหตุให้ต้องนึกถึงข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึงทางออกจากความทุกข์ คือ วิถีทางดับทุกข์นั้น โดยทั่วไปก็ตรัสเป็นอัฏฐังคิกมรรค หรือมัชฌิมาปฏิปทา แต่ก็มีมากแห่งเหลือเกินแทนที่จะตรัสว่า มัชฌิมาปฏิปทา ก็ตรัสแต่เพียงว่า สมโถ จ วิปัสสนา จ เท่านี้ก็มีคือ สมถะและวิปัสสนา เป็นนิโรธคามินีปฏิปทา คือ ตรัสแทนคำว่า มัชฌิมาปฏิปทา...

ทำไมมันแทนกันได้ เพราะว่าในสมถะนั้น มีศีลรวมอยู่ด้วย, เมื่อพูดว่าสมถะและวิปัสสนา ก็มีทั้งศีล ทั้งสมาธิ และทั้งปัญญา ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น, ถ้าสงเคราะห์ย่นย่อแล้วก็เพียงศีล สมาธิ ปัญญา ดังนั้น มันจึงมีค่าเท่ากัน, พระองค์จึงนำมาตรัสแทนกันได้, ระหว่างคำว่า มัชฌิมาปฏปทา กับคำว่า สมโถ จ วิปัสสนา จ, ขอให้เป็นที่เข้าใจในข้อนี้

ทำสมาธิภาวนาโดยวิธีอานาปานสติภาวนาแล้ว จะเป็นการปฏิบัติอย่างถึงที่สุดทั้งใน สมาธิ และทั้งในปัญญา เรียกว่ามันสมบูรณ์แบบอยู่ในตัว ถ้าจะพูดอย่างธรรมดาสามัญก็ว่า เป็นวิธีที่ได้เปรียบที่สุด”

อานาปานสติสมาธิภาวนา เป็นทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานอยู่ในตัวเองพร้อมบริบูรณ์ วิธีปฏิบัติก็ง่าย ไม่ต้องใช้องค์ประกอบมากมาย อาศัยเพียงแต่การตามระลึกรู้ลมหายใจ (กาย) เวทนา จิต ธรรมอย่างรู้ตังทั่งพร้อมเท่านั้น หากผู้ใดปฏิบัติตามวิธีการดังกล่าวนี้อย่างถูกต้องก็จะได้รับผลตั้งแต่ขั้น ต่ำ คือ ความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันทันตาเห็น เกื้อกูลต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต ส่งเสริมให้ศักยภาพทางจิตและปัญญา เข้มแข็ง เฉียบคม สุกสว่าง กระจ่างใส สดชื่น เบิกบาน ผ่อนคลาย สบายใจ ไร้ความตึงเครียด และประโยชน์ขั้นสูงสุด คือ ทำให้หยั่งลงสู่สัจธรรรมระดับปรมัตถ์ กล่าวคือ ภาวะพระนิพพาน อันเป็นที่สิ้นสุดลงของความทุกข์บรรดามีทั้งมวล

อานาปานสติสมาธิภาวนา จึงเป็นสมาธิภาวนาที่ควรนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างทั่วถึง ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ทั้งนี้ เพื่อที่เราทั้งหลายจะได้ลิ้มชิมรสอมตธรรมในชีวิตนี้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอให้เนิ่นนานไกลออกไปนับแสนล้านชาติภพอย่างที่เคยเชื่อกันมา อย่างผิดๆ แต่โบราณอีกต่อไป ดังที่มีพุทธพจน์ตรัสยืนยันอย่างชัดเจนว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอเจริญอานาปานสติแล้วอย่างนี้แล ทำให้มากอย่างนี้แล้วเธอพึงหวังผล 7 ประการ ผล 7 ประการคือ อะไรบ้าง กล่าวคือ

1.บรรลุอรหัตตผลในปัจจุบันทันที

2.หากไม่ได้บรรลุอรหัตตผลในปัจจุบัน ก็จะบรรลุในเวลาใกล้มรณะ

3.หากไม่ได้บรรลุอรหัตตผลในปัจจุบันและในเวลาใกล้มรณะ ก็จะได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี

4. ...ก็จะได้เป็นพระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี

5. ...ก็จะได้เป็นพระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายี

6. ...ก็จะได้เป็นพระอนาคามีผู้สสังขารปรินิพพายี

7. ...ก็จะได้เป็นพระอนาคามีผู้อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี

เพราะอุทธัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการหมดสิ้นไป

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอเจริญอานาปานสติแล้วอย่างนี้แล ทำให้มากอย่างนี้แล้ว เธอพึงหวังผล 7 ประการดังกล่าวมานี้”

Let all happiness be happened at your heart, your soul, and your spirit through the meditation process of Buddhist's way of conduct.

ที่มา: อัจฉริยลักษณ์ของอานาปานสติสมาธิภาวนา โพสต์ทูเดย์ดอทคอม โดย ว.วชิรเมธี 15 สิงหาคม 2553

No comments:

Post a Comment