Tuesday, October 5, 2010

ตั้งศูนย์ชีวิต + สมเด็จองค์ปฐมชี้คติธรรม

ในโลกปัจจุบัน ที่มีแต่ความวุ่นวาย แข่งขัน แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน ไม่มีมิตรแท้-ศัตรูถาวร เน้นเงินตรา เข้มข้นด้วยภาวะทุนนิยม การเลียนแบบ การบ้าดารา(เกาหลี) การบ้าเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต้องรุ่นใหม่ ต้องทันสมัย ต้องเหมือนเพื่อน รวมทั้งภาวะข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลอย่างรวดเร็วและมหาศาล การถูกจับผิด ถูกตำหนิบ่อย ๆ สิ่งต่าง ๆ มากมายที่อยู่รอบ ๆ ตัวเหล่านี้ ทำให้"ชีวิตเสียศูนย์"ได้ บางคนอาจเข้าสู่ภาวะ"จิตตก"ได้ บางคนกำลังเผาตัวเองอยู่..ด้วยเป็นโรคหงุดหงิดง่าย

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สะสมมากเข้า ก็เกิดเป็น"ความทุกข์" หากรู้ไม่เท่าทันก็จักพ้นทุกข์ไม่ได้

การตั้งศูนย์ชีวิต อาจกล่าวในรายละเอียดได้ดังนี้

1. ต้องมีสติ หมายถึง ต้องใจเย็น ใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหา ทุกคนล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น แต่ถ้าเรามองว่า ปัญหาที่เราเผชิญอยู่เป็นสิ่งท้าทาย เราควรมาสนุกกับการเอาชนะปัญหาด้วยธรรมะ ใช้ธรรมะนำชีวิต มองปัญหาใหญ่ให้เป็นปัญหาเล็ก มองปัญหาเล็กเป็นไม่มีปัญหา อันนี้ย่อมเป็นการปรับเปลี่ยนทัศนะคติในการมองโลก มองโลกบวกย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง

2. ปรับทุกข์กับคนสนิท การปลดปล่อยสิ่งที่ทำให้เราไม่สบายใจ ย่อมทำให้เราสบายใจขึ้น ถ้าไม่มีใครจะคุยด้วย คุยกับสัตว์เลี้ยงก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น หมา แมว หรือ ปลา เราก็จะรู้สึกดีขึ้น ถ้าสามารถขอคำแนะนำจากผู้ใหญ่ที่เรานับถือ ก็จะดี เพราะท่านอาบน้ำร้อนมาก่อน ย่อมอาจชี้ทางออกของปัญหาให้เราได้

3. การสวดมนต์ การสวดมนต์จะช่วยให้ใจของเราสบายมากขึ้น สุขยิ่งขึ้น ทุกข์น้อยลง การสวดมนต์ให้สวดช้า ๆ ให้ใจจดจ่อกับการสวดมนต์เท่านั้น ถ้าวอกแวก ก็ดึงกลับมา ให้หาบทสวดที่ยาวหน่อยจะดีมาก เช่น พาหุง-มหากา ซึ่งเป็นการอาศัยบารมีของพระพุทธเจ้าที่ทรงชนะมารที่มาผจญ ให้เราสามารถเอาชนะอุปสรรคอันตรายทั้งปวงได้ด้วยเช่นกัน

4. หาเวลาพักผ่อน บางครั้งเราอาจเครียดเกิืนไป การเปลี่ยนบรรยากาศ จะช่วยให้จิตใจของเราดีขึ้น การตักบาตร-ทำบุญ การนั่งสมาธิ ย่อมทำให้จิตของเราดีขึ้น แถมยังได้บุญอีกด้่วย -บุญต้องสั่งสมไว้ตอนมีชีวิต พอหมดชีวิตก็หมดสิทธิ์สั่งสมบุญ เพราะฉะนั้น จงอย่าประมาท (ในการทำความดี)

=-=-=-=-=-=-=-=-=-
หาดีใส่ตัวนั้นสมควร แต่อย่าเอาชั่วใส่คนอื่น

สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตา ตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้
๑. อย่าเอาความชั่วของเขามาใส่ใจเรา และจงอย่าเอาความชั่วของใจเราไปใส่ใจใคร ระมัดระวังอารมณ์ให้ดี ๆ หากรู้ไม่เท่าทันก็จักพ้นทุกข์ไม่ได้

๒. อนึ่งอยู่ในคนหมู่มาก การที่จักกล่าววาจาใด ๆ ออกมาจึงหมั่นกลั่นกรองเสียก่อนแล้วจึงพูด จักได้ไม่ต้องเสียใจในภายหลัง

๓. การจักละอารมณ์ชั่วได้ ก็อยู่ที่กำลังใจ คือ ไม่ท้อถอยต่อความผิด ความเลว รู้ว่าผิดก็ตั้งต้นต่อสู้ใหม่ ไม่มีคำว่าสายเกินไปในพระพุทธศาสนา จักไม่ยอมให้ความชั่ว ความผิดมันครอบงำจิตได้นาน ตั้งหน้าตั้งตาเดินรุดหน้า ทำแต่ความดี

๔. ดีในที่นี้ คือ ดีอยู่ในศีล - สมาธิ - ปัญญา อันเป็นหนทางนำไปสู่พระนิพพานเท่านั้น

๕. อย่าลืม วันหนึ่งๆ ไม่มีใครมาทำร้ายเราได้มากเท่ากับอารมณ์จิตของเราเองทำร้ายจิตเราเอง

อยู่คนเดียวให้ระวังอารมณ์จิต อยู่หลายคนให้ระวังวาจา

สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตา ตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้

๑. รักษาอารมณ์ของจิตให้ดี ๆ อยู่หลายคนให้ระวังวาจา และพยายามทำตนให้เหมือนอยู่คนเดียว

๒. ทุกคนไม่ช้าไม่นาน ก็ต้องพรากจากกันไปหมดคือ มีความตายเป็นที่สุด อย่าถือเขาถือเราให้มันมากนัก ร่างกายเป็นเพียงธาตุ ๔ ที่ประชุมกันขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น มีความทุกข์เป็นพื้นฐาน มีความแปรปรวนในท่ามกลาง และมีความตายไปในที่สุด

๓. บุคคลผู้ยังเกาะติดร่างกาย ต่างก็เป็นผู้น่าสงสาร เพราะหลงวนอยู่ในความทุกข์

๔. การมีอารมณ์ไม่พอใจ หรือ พอใจเขา นั่นคือการพอใจหรือไม่พอใจในร่างกาย หรือติดอยู่ใน สักกายทิฎฐิ นั่นเอง

๕. จงเห็นตามความเป็นจริงว่า คนทุกคน สัตว์ทุกตัว รักสุข เกลียดทุกข์เหมือนกัน แม้แต่ตัวเจ้าเองก็เป็นอยู่ เพราะฉะนั้นจงอย่าตำหนิใครว่าเลว ให้เห็นใจซึ่งกันและกัน และอย่าแบกเอากรรมของใคร ๆ มาเป็นที่หนักใจ แค่กรรมของเจ้าเองก็หนักโขอยู่แล้ว


อย่าติดอดีตและอนาคตธรรม จิตจักไม่มีความสุข

สมเด็จปฐม ทรงพระเมตตา ตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้

๑. จงอย่ามีอารมณ์โมโหหุนหัน เมื่อพูดคุยถึงเรื่องเก่าๆ ให้รู้ว่านั่นเป็นอดีตธรรมที่ผ่านไปแล้ว อย่านำมาขุ่นเคืองผูกใจจำอยู่ในปัจจุบัน จิตจักไม่มีความสุข

๒. กรรมใดยังไม่เกิด เป็นเรื่องของอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เมื่อเจ้านำมากล่าวขึ้นในปัจจุบัน ก็เป็นจุดซึ่งนำมาแห่งความทุกข์ ทำไมเจ้าจึงไม่คิดว่า บางทีชีวิตของเจ้าอาจสิ้นสุดในวินาทีข้างหน้านี้ สู้เอาเวลามาเตรียมตัวเตรียมใจ ซ้อมตายให้พร้อมเพื่อความได้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน ให้มั่นคงทุก ๆ ขณะจิตมิดีกว่าหรือ (ก็ยอมรับว่าดีกว่า แต่จิตอดคิดเลวไม่ได้)

๓. ก็เลวเป็นปกติ เพราะผู้ใดยังมีสังโยชน์ ๑๐ ประการร้อยรัดใจอยู่ จงอย่าได้ลืมตนคิดว่าเป็นคนดีเป็นอันขาด
(สังโยชน์ ๑๐ เบื้องต้น ก็คือ มีอธิศีล เบื้องกลาง คือ มีอธิจิต และเบื้องปลาย คือ มีอธิปัญญาตามลำดับ)

๔. จงเตือนจิตตนเองไว้เสมอ อย่าไปดูอารมณ์ของใคร และอย่าติดใจในอารมณ์ของบุคคลอื่น ให้หมั่นดูอารมณ์จิตของตนเป็นสำคัญ เรียนให้มันรู้ว่า จิตที่เสวยอารมณ์อยู่นี้มันสุขหรือมันทุกข์ มีความถูกต้องหรือบกพร่องในอารมณ์พระกรรมฐานหรือไม่ จับตามองอารมณ์ดีๆ ผิดแล้วก็เริ่มต้นใหม่ๆ ให้ใช้ความเพียรอยู่อย่างนี้ อย่าท้อถอย อุปสรรคย่อมมีมาขัดขวาง เป็นครูที่เข้ามาทดสอบอารมณ์ของจิต นั่นเป็นของดี

๕. ไม่มีศัตรูก็ย่อมไม่มีการต่อสู้ ชนะโดยปราศจากอุปสรรคนั้นดีไม่จริง จักต้องต่อสู้ฟันฝ่าในทุกด้านของกิเลสที่สิงอยู่ในอารมณ์ ถ้าสู้เยี่ยงนี้แล้วชนะศัตรูได้ นั่นแหละจึงจะเป็นของจริง

๖. แต่ถ้าหากท้อถอยอย่างไม่ทันตั้งท่าสู้ ก็จงอย่าหวังว่าจักได้เข้าสู่พระนิพพาน ตามที่องค์สมเด็จพระบรมครูทุก ๆ องค์ต้องการให้เข้าสู่ได้ เพราะนั่นเป็นการแพ้ตั้งแต่นอนอยู่ในมุ้งแล้ว ใช้ไม่ได้

๗. พยายามอยู่ในธรรมปัจจุบันให้มาก อย่าให้อดีต - อนาคตเข้ามาเป็นพิษ ทำร้ายจิตของตนเอง เตือนกันไว้แค่นี้


ความไม่รู้จักพอ

สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตา ตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้

๑. อย่ากังวลใจในส่วนที่ใครจักร่วมทำบุญหรือไม่ก็ตาม อย่าเอาจิตไปผูกพัน เพราะนั่นเป็นอารมณ์เลว หรือโลภ อยากได้ทรัพย์ของเขาประการหนึ่งเหมือนกัน

๒. แม้จักไม่นำทรัพย์นั้นมาเป็นส่วนตนก็ตาม ก็ยังจัดได้ว่ามีความอยากได้ จุดนี้ทำให้อารมณ์จิตมีความกระหายเป็นทุกข์ เพราะความไม่รู้จักพอ

๓. ผู้รับทานบริจาค จักต้องมีอารมณ์พอ คือ พอในใจอยู่เสมอ ใครจักทำบุญหรือไม่ทำบุญ เราก็พอใจ ไม่โลภอยากได้ทรัพย์สินของเขามาร่วมบุญที่เราทำ ทำก็ดี ไม่ทำก็ดี มีความพอดีอยู่ในใจ อารมณ์จิตก็จักเป็นสุข

๔. อารมณ์ไม่วุ่นวาย กับอารมณ์เฉยๆ อันไหนจักดีกว่ากัน (ตอบว่า อารมณ์เฉย ๆ ดีกว่า)

๕. ส่วนใหญ่เจ้ามักจักเฉยไม่เป็น นี่เพราะอานาปานัสสติกรรมฐานอ่อนไป จึงมักจักขาดสติ ตามไม่รู้เท่าทันอารมณ์อยู่เสมอ จุดนี้แหละที่บกพร่อง ทำให้จิตกระวนกระวาย ต้องหมั่นควบคุมอานาปานัสสติกรรมฐานให้มาก

ที่มา: บางส่วนของสมเด็จองค์ปฐมจากการรวบรวมของ พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

No comments:

Post a Comment