Tuesday, October 5, 2010

ถ่ายภาพทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์

มารู้จัก เทคโนโลยีที่ช่วยค้นหาจุดกำเนิดของโรคลมชักและประเมินเพื่อวางแผนในการผ่าตัด หนึ่งในนั้นคือ การถ่ายภาพทางเวชศาสตร์ นิวเคลียร์ เป็น เทคนิคการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ โดยให้สารเภสัชรังสีแก่ผู้ป่วย และถ่ายภาพการกระจายตัวของสารเภสัชรังสีในอวัยวะที่ต้องการตรวจด้วยเครื่อง ตรวจและสร้างภาพ เช่น GAmma camera หรือ Single Photon Emission Computed Tomography (SPECT) หรือ Positron Emission Tomography (PET) เพื่อแสดงขนาด รูปร่าง ตำแหน่ง และการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ที่ไม่สามารถตรวจวินิจฉัยได้โดยวิธีอื่น

SPECT-Single Photon Emission Computed Tomography เป็นเทคนิคการถ่ายภาพอวัยวะภายในร่างกายที่ต้องการตรวจโดยการให้สารเภสัช รังสีแก่คนไข้ แล้วทำการตรวจวัดรังสีแกมมาที่แผ่ออกมาจากสารเภสัชรังสีนั้นด้วย อุปกรณ์ที่เรียกว่า "กล้องถ่าย แกมมา (gamma camera)" ซึ่งมีทั้งแบบที่หมุนได้ และแบบอยู่กับที่รอบตัวคนไข้ จากนั้น คอมพิวเตอร์จะแปลข้อมูลที่ได้ออกมาให้เห็นเป็นภาพการกระจายตัวของสารเภสัช รังสี โดยสร้างภาพตัดเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้น ทำให้สามารถบอกความผิดปกติของอวัยวะได้โดยดูการกระจายตัวของสารเภสัชรังสี ซึ่งเทคนิค SPECT สามาวินิจฉัยได้ดีในโรคหัวใจ โรคลมบ้าหมู และโรคมะเร็ง ข้อได้เปรียบอีกอย่างคือไม่ต้องใช้เครื่องไซโคลตรอนในการผลิตไอโซโทปรังสี

PET-Positron Emission Tomography เป็น เทคนิคการถ่ายภาพอวัยวะในร่างกายที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน โดยการตรวจวัดสารกัมมันตรังสีบางชนิด ซึ่งให้แก่ร่างกายในรูปของสารเภสัชรังสีเพื่อใช้ในการตรวจวัดเชิงปริมาณของ ขบวนการทางชีวเคมีในร่างกายของสิ่งมีชีวิต ไอโซโทปรังสีที่ใช้จะเป็นชนิดที่ปลดปล่อยโพซิตรอนออกมา ซึ่งโพซิตรอนที่จะทำปฏิกิริยาประลัยเกือบจะทันทีทันใดกับอิเล็กตรอนที่โคจร อยู่รอบนิวเคลียสในอะตอมของสาร จึงทำให้ PET มีประโยชน์ในการศึกษากระบวนการทางสรีรวิทยาและชีวเคมีที่ผิดปกติ โดย PET จะมุ่งไปยังระบบประสาทส่วนกลางเป็นหลัก ด้วยการวัดตัวแปรเสริมอื่น ๆ ประกอบเช่นการไหลเวียนของเลือด กระบวนการสร้างและสลายน้ำตาล กลูโคส และการเผาผลาญออกซิเจน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะหาสมุฏฐานของโรคลมบ้าหมู หรือหาขนาดที่แน่นอนของบริเวณที่พิการในสมองได้ ในการศึกษาที่เกี่ยวกับหัวใจและหน้าที่ของหัวใจ การตรวจโดยใช้ PET จะเป็นวิธีที่เฉพาะเจาะจง และ ให้ผลดีกว่าการตรวจสอบโดยวิธีอื่น ๆ

takecareDD @ gmail.com

ที่มา: ถ่ายภาพทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาษาหมอวันละคำ เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคารที่ 05 ตุลาคม 2553

No comments:

Post a Comment