Wednesday, March 9, 2011

ม.บูรพาเจ๋งสร้างหุ่นยนต์’อาร์โอวี’

ม.บูรพาเจ๋งสร้างหุ่นยนต์’อาร์โอวี’ สำรวจใต้น้ำ ทัดเทียมของนอก แถมราคาถูกกว่าแค่ 7 หมื่น

วันนี้( 9 มี.ค.2554) ดร.ภัคพงศ์ จันทเปรมจิตต์ หัวหน้าทีมวิจัยและพัฒนายานใต้น้ำควบคุมระยะไกล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่า ตน และสมาชิกในทีมประกอบด้วยนิสิตในภาควิชาอีก 6 คน ได้วิจัยและพัฒนายานใต้น้ำควบคุมระยะไกล (Remotely Operated underwater Vehicle - ROV) หรือ “อาร์โอวี” เป็นหุ่นยนต์ที่ถูกนำมาใช้ในการทำงานใต้น้ำ เพื่อการสำรวจและเก็บข้อมูลของสิ่งมีชิวิตและทรัพยากรใต้ทะเล ช่วยให้มนุษย์จัดการและใช้ทรัพยากรได้อย่างถูกต้องและคุ้มค่ามากที่สุด อาร์โอวียังถูกนำไปใช้ตรวจสอบใต้ท้องเรือและสิ่งก่อสร้างใต้น้ำได้อีกด้วย ซึ่งดั้งเดิมจะใช้มนุษย์ดำน้ำสำรวจซึ่งอาจเป็นอันตราย ดังนั้นการใช้หุ่นยนต์อาร์โอวี จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดยอาร์โอวีจะถูกควบคุมและการติดต่อสื่อสารกับผู้ใช้งานผ่านทางสายเคเบิล

ม.บูรพาเจ๋งสร้างหุ่นยนต์’อาร์โอวี’ สำรวจใต้น้ำ ทัดเทียมของนอก แถมราคาถูกกว่าแค่ 7 หมื่น

ดร.ภัคพงศ์ กล่าวว่า สำหรับอาร์โอวีถูกใช้งานแพร่หลาย ปัจจุบันมีการจำหน่ายอาร์โอวีจากต่างประเทศ แต่มีราคาสูงหลายแสนบาท ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการพัฒนาอาร์โอวีขนาดเล็ก โดยทีมวิจัยที่ต้องการให้อาร์โอวีสามารถทำงานได้ทัดเทียมกับของต่างประเทศ และมีราคาถูกกว่า รวมทั้งซ่อมบำรุงได้ง่ายอีกด้วย โดยอาร์โอวีที่พัฒนาขึ้นจะประกอบด้วยระบบขับเคลื่อน 4 ชุด ผู้ควบคุมจะใช้จอยสติ๊กกำหนดการเคลื่อนที่ได้ 3 รูปแบบ คือ เคลื่อนที่ขึ้น-ลงตามแนวดิ่ง เดินหน้า-ถอยหลัง หันซ้าย-หันขวา โดยมีชุดคอนโทรลเลอร์สำหรับการควบคุมและรับข้อมูลจากเซ็นเซอร์ คือ เซ็นเซอร์วัดความดัน ไอเอ็มยู และ เข็มทิศอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งมีกล้องวิดีโอที่สามารถรับภาพใต้น้ำมายังผู้ใช้งานเพื่อเก็บข้อมูล ได้ มีระบบแสงสว่างสำหรับงานในที่มืด น้ำหนักประมาณ 15 กก. ราคาต้นแบบประมาณ 70,000 บาท

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ วันพุธ ที่ 09 มีนาคม 2554

No comments:

Post a Comment