Wednesday, May 2, 2012

2 พค.2555:: กนง.ชี้เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยง มีมติคงดอกเบี้ย 3%

กนง.ชี้เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยง มีมติคงดอกเบี้ย 3%


กนง.ระบุ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยง และต้องการแรงกระตุ้นให้ฟื้นตัวจากน้ำท่วมได้เต็มที่ จึงมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3% เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน ยอมรับในอนาคตแรงกดดันเงินเฟ้อจ่อพุ่ง หลังต้นทุนผู้ประกอบการที่เพิ่มจากการปรับค่าแรง ราคาน้ำมันจะถูกส่งต่อไปยังราคาสินค้า ชี้ดอกเบี้ยนโยบายไทยต่ำสุดในภูมิภาคแล้ว สั่งจับตาครึ่งปีหลังดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสกลับมาขึ้นต่อได้...
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยผลการประชุม กนง.ว่า ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3% ต่อปีต่อไป เนื่องจาก ธปท.ต้องการให้เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวกลับมาเต็มที่ก่อน แม้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด ทั้งในด้านการผลิต การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเร่งตัวขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและของภาคธุรกิจ และกำลังซื้อในประเทศที่ปรับดีขึ้น
นอกจากนั้น ภาคการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นทำให้ภาคการส่งออกคาดว่าจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นด้วย ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวช้าๆ และยังมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะปรับดีขึ้น แต่เศรษฐกิจยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยและยังต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง สำหรับอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน เม.ย.ชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อนและการลดลงของราคาอาหารสดบางชนิดเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับสูงและการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เริ่มทยอยเห็นผลภายใต้ภาวะอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาดอาจเอื้อให้มีการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังราคาสินค้าและบริการให้ปรับสูงเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อยังมีอยู่ในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น กนง.ประเมินว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงในช่วงที่ผ่านมามีส่วนช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างน่าพอใจและเร็วกว่าที่คาด แต่ภาวะเศรษฐกิจไทยในอนาคตก็ยังมีความเสี่ยงอยู่บ้าง โดยเฉพาะจากปัจจัยต่างประเทศ ในขณะที่ภาวะเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ จึงเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังเป็นระดับที่เหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องให้เข้าสู่ภาวะปกติ และสอดคล้องกับการรักษาเงินเฟ้อในกรอบเป้าหมาย
ขณะเดียวกัน กนง.ได้สั่งให้จับตาแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลที่จะเกิดขึ้นรอบ 2 หลังจากต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นแล้วว่า จะมีการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปสู่ราคามากหรือน้อย และเร็วแค่ไหน นอกเหนือจากผลโดยตรงจากค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นโดยตรง ประมาณ 0.2% นอกจากนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังที่เศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อก็จะเพิ่มเร็วขึ้น ซึ่ง กนง.ได้ติดตามและเตรียมความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับสถาการณ์
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยยังคงติดลบ 3% และเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้ ดังนั้นดอกเบี้ยในขณะนี้ถือว่าเอื้อต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจอยู่แล้ว นอกจากนั้น หากประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปก็เห็นแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง และผลจากการที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกฟื้นเร็วกว่าที่คาด ทำให้การรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อของ ธปท.ในวันที่ 11 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ธปท.จะมีการปรับขึ้นประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และอัตราเงินเฟ้อของไทยในปีนี้อีกครั้ง

::ไทยรัฐออนไลน์ วันพุธที่ 2 พฤษภาคม 2555

No comments:

Post a Comment