Wednesday, May 2, 2012

สามก๊กไอที ตอนที่เจ็ด

ในสามก๊กไอทีตอนที่ผ่านๆ มา ผมเขียนถึงก๊กเก่าแก่ทั้งสองก๊ก คือไมโครซอฟท์และแอปเปิลไปแล้ว คราวนี้เป็นคิวของก๊กสุดท้ายซึ่งเป็นก๊กน้องใหม่กันบ้าง ไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็นกูเกิลนั่นเอง...

ตามประวัติศาสตร์แล้ว วุยก๊กของโจโฉ สืบทอดอำนาจมาจากอาณาจักรฮั่นเดิม (โจโฉครองอำนาจโดยที่ยังรักษาสถานภาพของฮ่องเต้ฮั่นเอาไว้) ส่วนง่อก๊กของตระกูลซุนก็เป็นตระกูลขุนนางเก่าแก่ที่มีอำนาจในแดนใต้มานาน เพิ่งมาเริ่มแข็งเมืองในช่วงที่อำนาจจากส่วนกลางอ่อนแอลง

ส่วนวุยก๊ก ซึ่งในสามก๊กหลายเวอร์ชั่นยกให้เป็นตัวเอก เป็นก๊กใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างแผ่นดินปั่นป่วนวุ่นวาย โดยเล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ร่วมสาบานกันเป็นพี่น้อง ค่อยๆ สร้างตัวขึ้นมาจากศูนย์จนกลายมาเป็นหนึ่งในสามก๊กใหญ่ และภายหลังก็มีขุนศึกกับกุนซือผู้เก่งกาจเข้าร่วมด้วยหลายราย ที่คนไทยรู้จักกันดี ได้แก่ ขงเบ้ง จูล่ง ฮองตง ม้าเฉียว เป็นต้น

มา ดูในโลกไอทีจะเห็นว่าที่มาของกูเกิลนั้นคล้ายๆ กัน คือ กูเกิลไม่มีรากเหง้ายาวนาน เป็นประวัติศาสตร์ของวงการไอทีมา 30 กว่าปี แบบไมโครซอฟท์และแอปเปิล กูเกิลเพิ่งจดทะเบียนเป็นบริษัทในปี 1998 (นับถึงวันนี้มีอายุได้ 14 ปี ในขณะที่ไมโครซอฟท์อายุ 37 ปี แอปเปิลอายุ 36 ปี)

จุดเริ่มต้นของกูเกิลเกิดจากนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ด 2 คน คือ Larry Page และ Sergey Brin พัฒนาระบบการค้นเว็บที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าบริการในท้องตลาดช่วงนั้น และตัดสินใจหยุดเรียนมาเปิดบริษัทแทน ผลิตภัณฑ์ของกูเกิลมีเพียงอย่างเดียวในช่วงแรก แต่ก็ดีมากจนโค่นคู่แข่งมานับไม่ถ้วน และกูเกิลก็ขยายสายผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ครอบคลุมบริการอื่นๆ บนอินเทอร์เน็ต เช่น อีเมล์ เอกสาร แผนที่ ภาพถ่าย วิดีโอ ฯลฯ จนกลายเป็นราชาแห่งอินเทอร์เน็ตในที่สุด เฉกเช่นเดียวกับ “จ๊กก๊ก” ที่ตอนแรกไม่มีอาณาจักรของตัวเอง เป็นแค่กองกำลังเล็กๆ แต่ใช้ไหวพริบและอาศัยช่องว่างของมหาอำนาจที่กำลังปะทะกัน สร้างตัวเองขึ้นมาได้ทางภาคตะวันตกของแผ่นดินจีน

จุดเปลี่ยนสำคัญ ครั้งหนึ่งของกูเกิล คือ การได้ Eric Schmidt ผู้บริหารมากประสบการณ์ (อดีตเขาเคยทำงานกับ Sun และ Novell) มานั่งเก้าอี้เป็นซีอีโอให้ เพราะการปล่อยให้สองผู้ก่อตั้งวัยรุ่นบริหารกันเองเพียงลำพังอาจล้มเหลวได้ กูเกิลภายใต้การเติบโตของ Schmidt เติบโตอย่างก้าวกระโดด ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลกไอทีได้สำเร็จ

โครงสร้างการบริหาร ของกูเกิลจะใช้ระบบผู้บริหารสูงสุด 3 คน คือ Eric Schmidt ในฐานะซีอีโอ และสองผู้ก่อตั้ง Larry Page กับ Sergey Brin ตัดสินใจร่วมกันในเรื่องสำคัญๆ ของบริษัท แนวทางนี้ช่วยให้กูเกิลสามารถตอบโจทย์ทั้งในแง่วิสัยทัศน์ระยะยาวของ Page/Brin ที่จะรวบรวมข้อมูลสารสนเทศจากทั้งโลกมาไว้ที่เดียวกัน และการแปรเปลี่ยนแผนงานเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของ Schmidt

แนว ทางการใช้ผู้บริหารหลัก 3 คน เป็นคณะกรรมการมีอำนาจตัดสินใจสูงสุด จึงคล้ายกับ “จ๊กก๊ก” ของเล่าปี่ที่มี 3 พี่น้องร่วมสาบานเป็นแกนกลางนั่นเองครับ (บางคนอาจบอกว่า Schmidt ทำหน้าที่คล้ายกับขงเบ้งมากกว่า อันนี้ผมเห็นด้วยในระดับหนึ่งเหมือนกัน)
Eric Schmidt เพิ่งลงจากตำแหน่งซีอีโอไปเมื่อปีที่แล้ว 2011 และส่งไม้กลับคืนให้ Larry Page ที่เติบโตและมีประสบการณ์มากขึ้นแล้วมาเป็นซีอีโอแทน อย่างไรก็ตาม Schmidt ยังนั่งเก้าอี้บริหารต่อไปในฐานะประธานของบริษัท และรักษาโครงสร้างการบริหารแบบ 3 คนเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนให้ Larry Page ขึ้นมาเด่นแทนเท่านั้น

กูเกิลไม่มีรากเหง้าใดๆ มาก่อนเลย เป็นบริษัทที่เกิดจากเว็บและโตขึ้นมาด้วยเว็บเพียงอย่างเดียว ซึ่งต่างไปจากแอปเปิลที่โตมากับฮาร์ดแวร์ และไมโครซอฟท์ที่โตมาด้านซอฟต์แวร์ ดังนั้นกูเกิลจะทำผลิตภัณฑ์ที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตออกมาได้ดีมาก แต่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์อาจยังไม่ดีมากนัก เช่น Chrome OS ยังสู้ Windows ไม่ได้ และ Android เอง ก็ยังเป็นรอง iOS ในหลายจุด เป็นต้น

จุดอ่อนอีกประการหนึ่งของกูเกิลคือรายได้หลักของกูเกิลยังมา จากโฆษณาออนไลน์แทบทั้งหมด (แม้ว่ากูเกิลจะมีบริการเป็นร้อยเป็นพันชนิดก็ตาม) ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่กูเกิลอาจจะโดนตีที่แกนกลางของบริษัท แล้วถึงกับล่มสลายในชั่วเวลาไม่นานได้เลย ตรงนี้ต่างไปจากไมโครซอฟท์และแอปเปิลที่มีรายได้มาจากหลายทาง ต่อให้ตลาดไหนเจอคู่แข่งที่น่ากลัว ก็ยังใช้รายได้จากส่วนอื่นมาทดแทนได้

กู เกิลเองก็ทราบปัญหานี้ดี และพยายามกระจายแหล่งรายได้ออกไปมากขึ้น เช่น ขายสินค้าและบริการต่างๆ อย่างเพลง หนังสือ แอพ แต่ในภาพรวมก็ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก คือมีรายได้เข้ามาบ้างแต่ยังไม่มีสัดส่วนเยอะอย่างที่หวัง

มาร์ค Blognone
::ไทยรัฐออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม 2555

No comments:

Post a Comment