Wednesday, February 2, 2011

ระวัง..ไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาด

อธิบดีกรมควบคุมโรค เตือนระวังไข้หวัดใหญ่ หลังพบเดือนแรกของปี 2554 ป่วยแล้ว 470 ราย เสียชีวิต 2 ราย แนะสังเกตอาการ พบแพทย์ทันทีที่ป่วย ....

วันพุธที่ 2 ก.พ. 2554 นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังจากองค์การอนามัยโลกได้ลดระดับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ลงเป็นระยะหลังการระบาดใหญ่และกลายเป็นส่วนหนึ่งของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล สํานักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค จึงได้ปรับเปลี่ยนการเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รวมเข้ากับการเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่โดยรวม เพื่อให้การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่โดยรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2553 เป็นต้นมา ซึ่งในสัปดาห์ที่ 1-3 ของปี 2554 พบว่าแนวโน้มสัดส่วนของผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในสถานพยาบาลอยู่ใน ระดับคงที่ ประมาณร้อยละ 6 และจากการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ พบว่า สัดส่วนการตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อยู่ในระดับคงที่ ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์ของโรคมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงเพิ่มมากกว่าสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างชัดเจน แต่ควรเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ เป็นช่วงฤดูกาลระบาด ตอนต้นปีอาจพบการระบาดของโรคได้ จากการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ สะสมตั้งแต่วันที่ 1-22 มกราคม 2554 จำนวน 470 ราย เสียชีวิต จำนวน 2 ราย เป็นผู้เสียชีวิตยืนยันเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั้ง 2 ราย โดยเป็นคนในครอบครัวเดียวกันและมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน จากการเฝ้าระวังกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในสถานพยาบาล พบว่าจํานวนผู้ป่วยด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ที่เข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยนอก ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 พบว่าจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้ป่วยระหว่าง ร้อยละ 5-10 เพิ่มสูงขึ้น และจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เกินร้อยละ 10 ของจํานวนผู้ป่วยนอกมี 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทราและสมุทรสาคร

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ มักจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก มีน้ำมูกไหล อาการจะค่อยๆดีขึ้นภายใน 5- 7 วัน ผู้ที่กำลังป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ห้ามออกกำลังกายหรือทำงานหนัก เนื่องจากอาจทำให้อาการทรุดลงจากการติดเชื้อลุกลามไปที่ปอดได้ และหากมีอาการป่วยจากไข้หวัดใหญ่รุนแรง เช่น มีไข้สูงและไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วัน มีอาการไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หอบเหนื่อย ซึม ในเด็กเล็กอาจทำให้เด็กร้องไห้งอแงมาก กินอาหารไม่ได้หรือกินได้น้อยมาก อาเจียน ท้องเสีย ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที และหากมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333 ตลอด 24 ชั่วโมง

โรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ มีวิธีการป้องกันเหมือนกัน คือ รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ หากเข้าไปในที่ชุมชนหนาแน่นควรสวมหน้ากากอนามัย สำหรับผู้ที่มีไข้ ให้หยุดอยู่บ้าน 7 วัน ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้อื่น คาดหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่กับผู้อื่น สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว หากมีไข้สูง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ซึ่งเป็นสัญญาณว่าอาจเป็นไข้หวัดใหญ่ ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที ส่วนผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว หากมีอาการดังกล่าว และไข้ยังไม่ลดภายใน 48 ชั่วโมง ขอให้ไปพบแพทย์ทันที

.

No comments:

Post a Comment