Thursday, February 3, 2011

คุณครูในดวงใจ

วันที่รัฐบาลสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศเมื่อปี 2499 เป็นต้นมาว่า ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น "วันครู” โดยมีเจตนารมณ์ให้เป็นวันที่ "ลูกศิษย์” ทั้งหลาย มีโอกาสได้แสดงออกถึงความเคารพ ความรัก และระลึกถึงพระคุณของครูผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้ในทุกระดับการศึกษา

จำได้ว่าเมื่อครั้งยังเรียนหนังสือ มีครูท่าน หนึ่งชื่ออาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ทราบว่าต่อมาท่านได้รับการยกย่องจากสำนักนายกรัฐมนตรีประกาศให้เป็นบุคคลดี เด่นของชาติ สาขาการพัฒนาสังคม เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณ เป็นราชบัณฑิต เป็นอาจารย์ที่สอนหนังสือได้เก่งมาก สอนด้วยความเมตตาต่อศิษย์ ใจเย็น นุ่มนวล รอบรู้เหมือนสารานุกรมเคลื่อนที่ วิชาที่ผมเรียนกับท่านถ้าจำไม่ผิดเป็นวิชาที่เกี่ยวกับภาษาไทย วรรณคดีไทย วรรณคดีเปรียบเทียบ อะไรทำนองนี้ ถ้าผิดพลาดก็ต้องกราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ เพราะนานมากแล้ว
มาเมื่อสองวันที่ผ่าน มีโอกาสได้อ่านบทความที่กล่าวถึงข้อคิดของท่านเกี่ยวกับเรื่องครูและคุณลักษณะของครู ก็เลยขอนำบางตอนมาสรุปใน ”เล่าสู่กันฟัง” ฉบับนี้

อาจารย์กล่าวไว้ว่าครูที่ดีควรเป็นผู้มีความรอบรู้ หมายถึงรู้และเข้าใจในวิชาต่างๆ ที่สอนเป็นอย่างดี มีความเชื่อมั่นในวิชาการ แต่ไม่หยิ่งผยอง ครูต้อง มีอารมณ์ขัน มีเทคนิคการสอนที่ช่วยให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างสนุกสนาน ต้องมีความยืดหยุ่น พร้อมแก้ไขปรับเปลี่ยน ต้องมีวิญญาณของความเป็นครู คือรักในตัวเด็กและสอนด้วยความยินดี มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความสามารถทำให้เรื่องยากเป็นเรื่องเข้าใจได้ง่าย รวบรัด ชัดเจน เต็มใจที่จะเปิดเผยวิชาความรู้อย่างเต็มที่ ไม่ขยักเอาไว้ มีความอดทนที่จะเห็นวิวัฒนาการของเด็กๆ ซึ่งบางคนอาจเป็นไปอย่างช้าๆ ทีละเล็กทีละน้อย วันต่อวัน มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความรู้ความสามารถพิเศษในหลายๆ ด้าน

เพราะครูส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมักมิได้มีความรู้เพียงด้านเดียว ครูที่ดีควรเป็นผู้แต่งกายเรียบร้อย สะอาด ไม่จำเป็นต้องเป็นเสื้อผ้าราคาแพง แต่อยู่ที่ความสะอาดเรียบร้อย มีสุขอนามัยที่ดี เพราะครูที่ มีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ จะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียนนักศึกษาได้มากขึ้น และสุดท้ายคือการกระทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่เด็กๆ เพราะครูเป็นเสมือนต้นแบบที่สำคัญของเด็ก สิ่งที่ครูประพฤติปฏิบัติมักถูกเด็กๆ มองว่าสิ่งนั้นถูกต้องแล้ว ถ้าครูประพฤติดีเด็กก็ได้ต้นแบบที่ดี ดังนั้นการประพฤติดีของครูย่อมเปรียบเสมือนเป็นการช่วยเหลือสังคมอีกทางหนึ่งด้วย

นั่นคือครูดีในทัศนะของครูด้วยกัน แต่หากถามว่าแล้วในความคิดเห็นของเด็กๆ บ้าง ว่าครูที่ ดีในมุมมองของเด็กเป็นอย่างไรก็พบว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย จากการศึกษาของศาสตราจารย์เฉลียว บุรีภักดี ที่รวบรวมข้อมูลจากนักเรียน ผู้ปกครอง ครู ฯลฯ กว่า 7,000 คน เมื่อหลายปีก่อน พบว่าคุณสมบัติครูดีในสายตาของเด็กก็มีหลายข้อ เช่น อยากให้ครูอุทิศเวลาให้แก่นักเรียนให้มาก ไม่เจ้าอารมณ์ รู้จักยอมรับผิด มีความเมตตาปรานี เป็นมิตร จริงใจ เปิดใจกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน มีความยุติธรรม ไม่อาฆาตศิษย์ ไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาปนกับการให้คะแนน สนใจและเข้าใจปัญหาของเด็ก เป็นต้น

“ข้าขอประณตน้อมสักการ บูรพคณาจารย์ ผู้ก่อประโยชน์ศึกษา...” เชื่อว่าคนที่เคยเป็นนักเรียนมาก่อนทุกคนน่าจะจำข้อความนี้ได้ และยังคงร้องได้อยู่ แม้วันเดือนปีที่ผ่านมาอาจทำให้บางคนหลงลืมข้อความบางตอนไปบ้าง แต่ก็เชื่อว่าทุกคนคงจะยังจำคุณครูของตนเองได้ อาจไม่ครบทุกคน อย่างน้อยแต่ละคนน่าจะมีครูในดวงใจ ที่ทำให้หวนนึกถึงทุกครั้งที่ได้ยินได้ฟังบทกลอนข้างต้น

เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณอันเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของคนดี วันครูปีนี้เรามาช่วยกันตั้งจิตอธิษฐานขอให้คุณครูผู้ มีพระคุณของแต่ละท่านมีความสุขกายสบายใจ สุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บ ไม่ไข้ ฯลฯ กันดีไหม ส่วนตัวผมเองจำเป็นต้องสนับสนุนความคิดนี้เต็มที่อยู่แล้ว เพราะคนที่บ้านก็เป็นครูเหมือนกันครับ

บัญญัติ คำนูณวัฒน์

ที่มา: คุณครูในดวงใจ คมชัดลึกออนไลน์ วันพุธที่ 12 มกราคม 2554

No comments:

Post a Comment