ผมเป็นลูกที่เกิดจากภริยาคนแรกที่ท่านไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่คุณพ่อมีภริยาใหม่และจดทะเบียนสมรสด้วยกัน ตอนนี้ผมอายุได้ 25 ปี คุณพ่อของผมเพิ่งเสียชีวิต ผมจะฟ้องคดีเพื่อให้ผมเป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของคุณพ่อ ขณะที่ท่านเสียชีวิตแล้วทำได้หรือไม่ และจะต้องฟ้องใคร
=====
บุตรที่เกิดจากบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียน สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาแต่ผู้เดียว ดังนั้นถ้าหากบิดาไม่ได้จดทะเบียน รับเด็กเป็นบุตรไว้ก่อน หรือบิดามารดาได้มาจดทะเบียนสมรสกันในภายหลังแล้ว การที่บุตรนอกสมรสจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ บิดาได้ในวิธีที่สามคือฟ้องคดีขอให้ศาลมีพิพากษา ว่าเด็กเป็นบุตร
แต่ถ้าบิดาตายไปแล้ว ทำให้ไม่อาจใช้วิธีจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรหรือวิธีให้บิดามารดาจดทะเบียน สมรสกันในภายหลังได้ จึงอาจใช้วิธีฟ้องคดีต่อศาลให้มีคำพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรได้ แต่การที่ไม่มีตัวบิดาที่จะฟ้องเป็นจำเลยได้เพราะเสียชีวิตแล้ว และในเบื้องต้นยังไม่ทราบว่าจะมีผู้คัดค้านหรือไม่ การเริ่มต้นคดีเพื่อขอให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา จึงต้องทำเป็นคำร้องขอต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท คือมีผู้ร้องขอมาฝ่ายเดียวก่อน ยังไม่ต้องฟ้องใคร เมื่อมีผู้มีส่วนได้เสียร้องคัดค้านเข้ามา ศาลจึงจะดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทต่อไป (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4504/2537)
อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 บัญญัติหลัก กฎหมายเกี่ยวกับอายุของบุตรนอกสมรสที่จะฟ้องขอให้รับตนเป็นบุตรชอบด้วย กฎหมายของชายไว้ด้วยว่า ในกรณีที่เด็กบรรลุนิติภาวะแล้ว จะต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เด็กบรรลุนิติภาวะ
ดังนั้น การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กมีอายุไม่เกิน 21 ปีบริบูรณ์ ถ้ามีการฟ้องคดีเมื่อบุตรอายุเกิน 21 ปีแล้วก็ไม่อาจจะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้
ลองดูแนวตัวอย่างคดีที่ฟ้องร้องและศาลตัดสินไว้ คำพิพากษาฎีกาที่ 4786/2549 สรุปได้ว่า คดีนี้มีการยื่นคำร้องให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาเมื่อผู้ร้องซึ่งเป็น บุตรอายุได้ 34 ปี เป็นการที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันบรรลุนิติภาวะตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 วรรคสาม จึงขาดอายุความ แม้บุตรจะอ้างว่าบิดาที่ตายไปแล้วไม่เคยปฏิเสธว่าไม่ใช่บุตร และการที่ไม่ได้มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายจนบิดาถึงแก่ ความตายมาก่อน เพิ่งจะมีเมื่อบุตรจะไปติดต่อขอรับเงินสงเคราะห์ครอบครัวของสมาชิก คุรุสภา
แต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้อ้างว่าไม่มีหลักฐานแสดงว่าผู้ร้องเป็นบุตร ชอบด้วยกฎหมาย ของผู้ตาย นับเป็นเหตุขัดข้องโดยเพิ่งเกิดการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงต้องใช้สิทธิทางศาลขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วย กฎหมาย ของผู้ตายก็ตาม แต่การใช้สิทธิทางศาลของผู้ร้องก็ยังคงต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเรื่อง อายุความดังกล่าวด้วย ผู้ร้องจะอ้างว่าเพิ่งถูกโต้แย้งสิทธิ คดียังไม่ขาดอายุความหาได้ไม่
ที่มา: บุตรนอกกฎหมายของบิดาที่เสียชีวิตแล้ว คลินิกกฎหมาย เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคารที่ 17 สิงหาคม 2553
No comments:
Post a Comment