Sunday, August 22, 2010

สิทธิรับมรดกของบุตรนอกกฎหมาย

การที่พ่อกับแม่ไม่ได้แต่งงานแต่เคยอยู่กินด้วยกันระยะหนึ่งและเลิกกันไป โดยมีลูกสาว 1 คน คือ ตัวหนู ต่อมาพ่อแต่งงานกับผู้หญิงอื่นและมีลูกด้วยกัน 2 คน แต่พ่อก็ยังส่งเสียเงินทองให้หนูเรียนหนังสือ แม้ว่านาน ๆ พ่อจะมาเยี่ยมหนูและแม่ แต่ถ้าพ่อมาครั้งใดจะพาหนูและแม่ไปกินข้าวนอกบ้านและซื้อของให้ บางครั้งพ่อก็ให้ลูกน้องแวะเอาของใช้มาให้ที่บ้าน ทำให้หนูและแม่มีความเป็นอยู่ที่ไม่เดือดร้อน

พ่อเคยบอกหนูว่าหนูเป็นลูกของพ่อที่มีสิทธิในทรัพย์สินและกิจการบริษัทเท่า กับลูกอีก 2 คน จึงอยากให้หนูเรียนหนังสือให้มาก ๆ เพื่อวันหนึ่งจะได้มาช่วยเหลือพ่อด้วยกัน แต่นั่นเป็นเพียงคำพูดลอย ๆ ของพ่อ ยังไม่ได้ทำหลักฐานอะไรยืนยัน หนูไม่กล้าที่จะรบเร้าพ่อมาก หนูจึงอยากทราบว่าหากวันข้างหน้าพ่อไม่ได้ทำหลักฐานอะไรที่หนูเข้ามาช่วย เหลือกิจการงานบริษัท และพ่อเกิดเสียชีวิตเสียก่อน หนูยังมีสิทธิในกิจการหรือทรัพย์สินของท่านอีกต่อไปหรือไม่
====

บุตรที่เกิดจากบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันถือว่าเป็นบุตรนอกกฎหมายของบิดา หลักกฎหมายโดยทั่วไปถือว่าเป็นบุตรที่ไม่มีสิทธิรับมรดกของบิดาที่เสียชีวิต ได้ แต่มีข้อยกเว้นว่าถ้าเป็นบุตรนอกกฎหมายที่มีพฤติการณ์ของบิดาได้ให้การ รับรองว่าเป็นบุตรไว้ด้วยแล้ว จะถือว่าเด็กมีสิทธิรับมรดกของบิดาเช่นเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้ (ซึ่งจะแตกต่างเรื่องบุตรนอกกฎหมายกลายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาในภาย หลัง คือ บุตรนอกกฎหมายที่บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร บุตรนอกกฎหมายที่บิดามารดาจดทะเบียนสมรสในภายหลัง หรือศาลพิพากษาว่าบุตรนอกกฎหมายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา)

ส่วนบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองในที่นี้ เป็นการรับรองโดยพฤติการณ์โดยข้อเท็จจริงไม่ใช่โดยข้อกฎหมาย ถึงจะรับรองไว้อย่างไรก็จะไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา ไม่มีสิทธิและหน้าที่ต่อกันอย่างบิดาและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นสิทธิของบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองในที่นี้จึงมีเพียงสิทธิในการรับ มรดกของบิดาได้เท่านั้น

กรณีใดเป็นพฤติการณ์ที่บิดาให้การรับรองนั้นกฎหมายไม่ได้กำหนดแบบไว้ จึงต้องดูจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป มีคดีหลายคดีที่ศาลวินิจฉัยว่าเป็นพฤติการณ์ที่บิดาให้การรับรองว่าเด็กเป็น บุตร เช่น สมัยก่อนมีการต้องไปแจ้งสูติบัตรเด็กเกิดที่อำเภอหรือเขต บิดาก็ไปแจ้งสูติบัตรว่าตนเป็นบิดาเด็ก หรือบิดาให้เด็กใช้นามสกุลของบิดา หรือเมื่อเด็กโตเข้าโรงเรียนบิดาไปโรงเรียนแสดงตนว่าเป็นบิดาเด็กและเคยมี คดีที่ศาลตัดสินไว้ว่า แม้กระทั่งภาพถ่ายของบิดาที่โอบกอดหญิงที่เอามือลูบที่ครรภ์ของหญิง เมื่อเด็กในครรภ์คลอดออกมาถือว่าเป็นพฤติการณ์ที่ให้การรับรองว่าเด็กเป็น บุตรได้ไว้แล้ว เป็นต้น

พฤติการณ์ของบิดาที่ส่งเสียเลี้ยงดูและยอมรับว่าเป็นลูก ซึ่งเป็นที่รู้ของคนทั่วไปเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นการรับรองบุตรของบิดาได้ ดังนั้น ถ้าบิดาไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินหรือกิจการของบิดาไว้ แต่ถ้าบิดาได้รับรองว่าบุตรนอกกฎหมายเป็นบุตรของตนไว้ แม้ว่าเด็กจะยังคงเป็นบุตรไม่ชอบ ด้วยกฎหมายของบิดาอยู่ต่อไป แต่ถือว่าบุตรนอกกฎหมายคนนี้เป็นทายาทของบิดา ที่มีสิทธิรับมรดกของบิดาด้วย ซึ่งหากบิดาตายและทายาทอื่นไม่ยอมรับ คงจะต้องโต้แย้งกันในคดีแบ่งมรดกของบิดาในระหว่างทายาททั้งหลายต่อไป

====
สรุปง่ายๆ พาพ่อไปจดทะเบียนรับเป็นบุตรใหูู้ถูกต้องที่อำเภอ หรือ สำนักงานทะเบียนราษฎร์ (พวกที่เกี่ยวกับทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน เปลี่ยนชื่อ)

ที่มา: สิทธิรับมรดกของบุตรนอกกฎหมาย คลินิกกฎหมาย เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคารที่ 17 สิงหาคม 2553

No comments:

Post a Comment