Tuesday, August 10, 2010

อย.เตือนระวังน้ำปลา-น้ำส้มสายชูปลอมระบาด

"จุรินทร์" นำทีมจับโรงงานน้ำปลา-น้ำส้มสายชูปลอม อย.เตือนสุดอันตราย ทำกระเพาะ ไต พัง

วันนี้ (9 ส.ค.2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สารณสุข นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พล.ต.ต.จตุรงค์ ภุมรินทร์ ผบก.ปคบ. ร่วมกันแถลงข่าวการทลายโรงงานน้ำปลาปลอมที่ จ.สมุทรสงคราม และ จ.นครสวรรค์

นายจุรินทร์ กล่าวว่า เมื่อเดือน ส.ค. อย.และตำรวจ บก.ปคบ.ได้ร่วมกันทลายโรงงานน้ำปลาปลอมที่ จ.สิงห์บุรี ซึ่งผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าผิดมาตรฐาน เนื่องจากพบค่าไนโตรเจน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ปริมาณโปรตีนเพียง 0.7 กรัมต่อลิตร ทั้งที่ค่ามาตรฐานกำหนดว่าจะต้องมีไม่น้อยกว่า 4 กรัมต่อลิตร นอกจากนี้ยังพบสารกันบูดถึง 3,400-4,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ตามกฎหมายกำหนดว่าไม่ควรเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

เมื่อไม่นานนี้มีพลเมืองดีแจ้งเบาะแสมา จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบโรงงานน้ำปลาแก้วจินดาอุตสาหกรรม ที่ตั้งอยู่ใน จ.นครสวรรค์ พบสถานที่ผลิตไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์จีเอ็มพี นอกจากนี้พบผลิตภัณฑ์น้ำปลาผสมตราทับทิมและน้ำปลาผสมตราปลาไส้ตันชุมพร ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบมีสารอาหารต่ำกว่ามาตรฐาน ทั้งยังพบผลิตภัณฑ์อ้างว่าเป็นน้ำปลาแท้ตราปลาไส้ตันชมจันทร์และพบน้ำเกลือ ปรุงอาหารตราดอกบัวคู่ ซึ่งจะได้นำไปส่งตรวจสอบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต่อไปว่าได้มาตรฐานหรือไม่ หากพบว่าผิดมาตรฐานมีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือถ้าพบวัตถุกันเสียเกินปริมาณที่กำหนดมีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

นอกจากนี้ยังได้เข้าตรวจสอบโรงงานน้ำปลาวิจิตร (ฮั่วฮะ) ที่อยู่ใน จ. สมุทรสงคราม ซึ่งผลการตรวจสอบโรงงานไม่ผ่านเกณฑ์จีเอ็มพี ทั้งยังพบผลิตภัณฑ์น้ำปลาและน้ำส้มสายชูเทียม มีการแสดงฉลากไม่ตรงตามที่ขออนุญาตด้วย ประกอบด้วย น้ำปลาผสมตรากุ้งวิจิตร บนฉลากแสดงเลขสารบบของน้ำเกลือปรุงอาหารตราเก้าสิบเก้า แสดงวันผลิตไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ส่วนน้ำส้มสายชูเทียม ตราฮ่องเต้ มีการแสดงฉลากไม่ตรงตามที่ขออนุญาต เนื่องจากบนฉลากแสดงเลขสารบบของน้ำเกลือปรุงอาหารตราทิพย์ ทั้งยังพบฉลากผลิตภัณฑ์น้ำปลา วัตถุแต่งกลิ่นรสและฉลากน้ำส้มสายชูที่ไม่ถูกต้องหลายรายการ จึงได้อายัดและเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์รวมมูลค่าของกลางประมาณ 15 ล้านบาท จึงได้แจ้งข้อหาสถานที่ผลิตอาหารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์จีเอ็มพี ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ผลิตอาหารเพื่อมีฉลากเพื่อลวง เข้าข่ายอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน -10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-1 ล้านบาท หากตรวจวิเคราะห์อาหารไม่ได้มาตรฐาน พบวัตถุกันเสียจะมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ด้าน นพ.พิพัฒน์ เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ที่ต้องออกมาเตือนก่อนที่ผลการตรวจจะออกมา เพื่อความปลอดภัย เพราะอาจมีผู้บริโภคซื้อไปรับประทานหรือมีร้านค้านนำไปจำหนาย ดังนั้นอาจจะทำให้เป็นอันตรายกับไตได้ ส่วนกรณีน้ำส้มสายชูเทียม ตอนนี้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยังไม่ออกแต่ที่เราเป็นห่วงคือ ในอดีตที่เคยจับกุมพบว่า มีการผลิตจากกรดซัลฟูริกที่มีความเข้มข้น อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ ที่แนะนำให้รับประทานคือน้ำส้มที่ผลิตจากการหมัก มิใช่ผลิตจากสารเคมี กรณีน้ำส้มที่ตรวจพบ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตหรือผ่านการขึ้นทะเบียน ระหว่างนี้จึงควรงดบริโภคก่อน

ที่มา: อย.เตือนระวังน้ำปลา-น้ำส้มสายชูปลอมระบาด เดลินิวส์ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 09 สิงหาคม 2553

No comments:

Post a Comment