Friday, December 31, 2010

สังคมอเมริกันกรณีโรคอ้วน

ฉลาดบริโภค: พลาดซ้ำของสังคมอเมริกันกรณีโรคอ้วน-ดร.วินัย ดะห์ลัน

เรื่องการก้าวพลาดกรณีส่งเสริมการบริโภคกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงยุคทศวรรษ 1970-1980 นำไปสู่ปัญหากรดไขมันโอเมก้าหกล้นและกรดไขมันทรานส์กันบ้าง น่าจะดีกว่า

เรื่องของเรื่องมาจากปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือดของคนอเมริกันหลังยุคสงคราม โลกครั้งที่สองที่พุ่งขึ้นเป็นติดจรวด สหรัฐอเมริกาเป็นสังคมของนักวิชาการต่างฝ่ายต่างก็หาสาเหตุและวิธีการแก้ไข สิ่งที่พบคือภาวะคอเลสเตอรอลสูงในเลือด มีผลทำให้หลอดเลือดตีบ นำไปสู่ปัญหาโรคหัวใจ ในที่สุดก็คร่าชีวิตคนอเมริกันล้มตายกันผล็อยๆ

เมื่อคอเลสเตอรอลสูงในเลือดเป็นสาเหตุ นักวิชาการทั้งแพทย์ ทั้งนักโภชนาการจึงแห่กันออกมาให้คำแนะนำเรื่องการลดการบริโภคคอเลสเตอรอล รวมทั้งการหาวิธีดูแลด้านโภชนาการเพื่อลดคอเลสเตอรอลในเลือดกันยกใหญ่ เป็นที่มาของกรณีการรณรงค์การบริโภคกรดไขมันโอเมก้า 6 ในยุคทศวรรษ 1970-1980 อย่างที่บอกโดยนักวิชาการพบว่า การบริโภคกรดไขมันโอเมก้า 6 ช่วยให้คอเลสเตอรอลในเลือดลดลงได้

กรดไขมันโอเมก้า 6 เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง กลุ่มโอเมก้า 6 มีกรดไลโนเลอิกซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายสร้างไม่ได้ต้องได้รับจาก อาหารเท่านั้นเป็นหลักนักวิชาการรู้จักกรดไขมันตัวนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1937 แล้วรู้ด้วยว่ากรดไขมันตัวนี้พบมากในน้ำมันพืชหลายชนิดแต่ขณะนั้นยังไม่รู้ ว่ามันช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ถึงรู้ก็ยังไม่ทราบว่าคอเลสเตอรอลในเลือด เป็นสาเหตุให้คนอเมริกันต้องเสียชีวิตมากมายในเวลาต่อมา

ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สาเหตุหลักที่ทำให้คนอเมริกันเสียชีวิตคือโรคหัวใจและหลอดเลือด นักวิชาการรู้ว่าเรื่องนี้เป็นผลมาจากการบริโภคไขมันมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอเมริกันนิยมอาหารประเภทไขมันสัตว์ ทั้งไขมันวัว ไขมันหมู เวลาทอดอาหารใช้ความร้อนสูงมากๆ ก็ต้องนำเอาไขมันสัตว์เป็นก้อนแข็งเหล่านี้มาใส่ในกระทะ ทอดด้วยความร้อนสูงๆใช้เวลานานๆ ทั้งไขมันอิ่มตัวและไขมันสัตว์เหล่านี้เองที่ก่อปัญหาทำให้ไขมันสูงในเลือด ทั้งคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ แต่ยุคแรกๆ นักวิชาการอเมริกันห่วงแต่เรื่องคอเลสเตอรอลเท่านั้น

เมื่อเปลี่ยนการบริโภคจากไขมันสัตว์มาเป็นน้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว สูงในปริมาณมากๆ อย่างเช่นน้ำมันเมล็ดทานตะวันที่มีกรดไลโนเลอิก 68% น้ำมันเมล็ดคำฝอยที่มีกรดไลโนเลอิก 78% หรือน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ เช่น น้ำมันข้าวโพด (59%)น้ำมันเมล็ดฝ้าย (54%) น้ำมันถั่วเหลือง(51%) น้ำมันงา (45%) เลี่ยงไขมันสัตว์อย่างไขมันวัว ไขมันหมู(10%) สิ่งที่พบคือคอเลสเตอรอลในเลือดลดลงได้ ก็เท่านั้นแหละที่ทำให้สังคมอเมริกันตื่นตัวในเรื่องโภชนาการ ว่าด้วยเรื่องไขมันกันยกใหญ่

คนอเมริกันยุคทศวรรษที่ 1970 ได้รับคำแนะนำให้เพิ่มการบริโภคกรดไลโนเลอิกให้มากขึ้น เลี่ยงหรือลดไขมันอิ่มตัวอย่างเด็ดขาด สังคมอเมริกันเกิดการรณรงค์เรื่องการลดคอเลสเตอรอล ตอนนั้นนักวิชาการยังไม่เข้าใจกลไกของกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงมากนัก รู้แต่ว่าเมื่อเปลี่ยนจากการบริโภคไขมันสัตว์มาบริโภคน้ำมันพืชที่มีกรดไลโน เลอิกมากขึ้น อุบัติการณ์เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง โดยขณะนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นผลมาจากการลดไขมันสัตว์มากกว่าการเพิ่มการบริโภค น้ำมันพืช

นักวิชาการอเมริกันยุคแรกๆ แนะนำให้บริโภคน้ำมันพืชที่มีกรดไขมันโอเมก้า 6 ให้มากๆ ยิ่งมากก็ยิ่งดี น้ำมันพืชกลุ่มที่มีไลโนเลอิกสูงๆ ทั้งน้ำมันเมล็ดทานตะวันเมล็ดคำฝอย ข้าวโพด ถั่วเหลือง พาเหรดกันออกมายึดครองตลาดอเมริกัน และในที่สุดวิชาการแบบอเมริกันก็แพร่ออกไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ถั่วเหลืองและฝ้ายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของสหรัฐอเมริกาโดยถั่วเหลืองมี อิทธิพลมากกว่าเนื่องจากเกษตรกรถั่วเหลืองอเมริกันรวมตัวได้เป็นกลุ่มเป็น ก้อนกว่า ให้ทุนสนับสนุนทางวิชาการได้มากกว่า ไม่นานนักอิทธิพลของถั่วเหลืองก็เพิ่มขึ้น ความรู้เรื่องข้อดีของน้ำมันถั่วเหลืองจึงมาแรงแซงน้ำมันพืชทุกชนิดไปได้หมด

คนอเมริกันได้รับการแนะนำให้บริโภคน้ำมันพืชประเภทที่มีกรดไขมันไลโนเลอิก มากขึ้น ขณะที่ลดกรดไขมันอิ่มตัวไปพร้อมๆกัน ทั้งไขมันสัตว์ ทั้งน้ำมันพืชบางชนิด เช่นน้ำมันมะพร้าวและปาล์มถูกรังเกียจ สังคมอเมริกันเน้นการบริหารจัดการด้วยกฎหมายและกฎระเบียบ บรรดาสมาชิกสภาจึงมีบทบาทสูง สิ่งที่เรียกว่าการวิ่งเต้นหรือล็อบบี้เพื่อสนับสนุนกฎหมายฝ่ายที่ตนเองเห็น ด้วยกลายเป็นเรื่องปกติ คนอเมริกันรังเกียจการคอร์รัปชันในสังคมอื่น แต่กลับมองไม่เห็นว่าการล็อบบี้กับการคอร์รัปชันมันก็เรื่องเดียวกัน

ช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ต่อต้นทศวรรษ 1980 นี่เองที่เกิดสิ่งที่เรียกว่า 'สงครามน้ำมันพืช' ขึ้นระหว่างถั่วเหลืองกับปาล์มต่อเนื่องไปจนถึงยุค 1990 น้ำมันปาล์มที่มีกรดไขมันอิ่มตัวอยู่มากถึง50% มีกรดไลโนเลอิก 10%กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของนักวิชาการอเมริกัน

สิ่งที่หลายฝ่ายมองข้ามคือถั่วเหลืองเป็นพืชเศรษฐกิจของสังคมอเมริกัน ขณะที่น้ำมันปาล์มเป็นอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องธุรกิจการค้ามากกว่าที่เป็นปัญหาทางวิชาการ

แต่ในที่สุดสังคมวิชาการในมหา-วิทยาลัยก็หนีอิทธิพลทางธุรกิจไปไม่พ้นจากผล ประโยชน์ทางธุรกิจแปรเปลี่ยนเป็นข้อมูลทางวิชาการเผยแพร่ออกไปทั่วโลก

ตัวผมเองเมื่อครั้งเริ่มต้นทำงานยังต้องช่วยทำโปสเตอร์ต่อต้านน้ำมันปาล์ม และมะพร้าว ส่งเสริมการบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองถึงขนาดทำแผ่นปลิวอธิบายวิธีการบริโภค น้ำมันถั่วเหลืองกันเป็นเรื่องเป็นราว ต้องใช้กี่ช้อนโต๊ะในอาหารหนึ่งมื้อ ข้อมูลวิชาการที่ระบาดมาจากสังคมอเมริกันถึงประเทศไทยโดยไม่ทันคิดว่าถั่ว เหลืองคือพืชนำเข้าขณะที่ปาล์มกับมะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจของสังคมไทยแท้ๆ ในที่สุดส่งผลให้อุตสาหกรรมปาล์มและมะพร้าวในบ้านเราแทบถึงการณ์ดับสลาย ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่นำเข้าผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองมากที่สุดในโลก จนกระทั่งทุกวันนี้

อีกหลายปีต่อมา นักวิชาการอย่าง Laura Sims ที่ทำงานอยู่ในรัฐสภาสหรัฐนำเรื่องการล็อบบี้ในประเด็นน้ำมันถั่วเหลืองกับ น้ำมันปาล์มที่กลายเป็นสงครามน้ำมันพืชในสหรัฐอเมริกามาเปิดเผยในหนังสือของ เธอชื่อ 'การเมืองน้ำมันพืช'(Politics of Fat) กลายเป็นเรื่องฮือฮาที่ทำให้สังคมได้รับรู้ว่าการล็อบบี้ไม่ได้เกิดเฉพาะใน สภาเท่านั้น แต่เป็นล่ำเป็นสันอยู่ในแวดวงวิชาการอย่างมหาวิทยาลัยด้วย นักวิชาการรับทุนทำงานด้านวิชาการเผยแพร่ข้อมูลที่สอดคล้องกับความต้องการ ของฝ่ายธุรกิจและอุตสาหกรรม ที่ในที่สุดผลักดันสังคมให้ลื่นไถลกลายเป็นสังคมกรดไขมันโอเมก้า 6 ล้นไปในที่สุด

กว่าจะรู้ว่าก้าวพลาด เราก็เจอปัญหาโรคหัวใจไม่ลด โรคอ้วนเพิ่มขึ้นเป็นที่เรียบร้อย เรื่องอย่างนี้ก็ไม่รู้ว่าจะไปกล่าวโทษเอาผิดกับใครได้

ที่มา: คอลัมน์ ฉลาดบริโภค: พลาดซ้ำของสังคมอเมริกันกรณีโรคอ้วน โดย ดร.วินัย ดะห์ลัน เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 962 วันที่ 5-11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 หน้า 70-71

สรุป น้ำมันถั่วเหลืองไม่ได้มีดีไปกว่าน้ำมันปาล์มเลย

No comments:

Post a Comment