Sunday, December 26, 2010

ผลจากการประเมินคุณภาพของนักเรียนด้วยข้อสอบ PISA (Programme for International Student Assessment) ของกลุ่มประเทศสมาชิก OECD(Organisation for Economic Co-operation and Development) ซึ่งเป็นการประเมินตรวจสอบโดยมองไปในอนาคตว่าระบบการศึกษาได้เตรียมความ พร้อมให้กับเยาวชนสำหรับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ และเพื่อการมีส่วนร่วมในสังคมในอนาคตเพียงพอหรือไม่ พบว่า นักเรียนไทยยังมีระดับ “ความรู้หนังสือ” (ผู้เขียนขอใช้คำว่า “ความรู้หนังสือ” แทนคำว่า “Literacy” ซึ่งน่าจะยังไม่มีคำไทยที่จะสื่อความหมายได้ตรงตัวที่สุด) อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์และอยู่ในลำดับท้ายๆ ซึ่ง “ความรู้หนังสือ” นี้มิได้มีความหมายเพียงแค่การอ่านออกเขียนได้ และคิดคำนวณเป็นเท่านั้น แต่มีความหมายรวมไปถึงความสามารถในการวิเคราะห์ ตีความสารสนเทศที่ได้จากการอ่าน การรู้เท่าทันข้อมูล สื่อ เหตุการณ์ หรือสภาวการณ์ต่างๆ ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคที่มีข้อมูลสารสนเทศท่วมหัวเช่นใน ปัจจุบัน

แนวโน้มการศึกษาของไทยเองก็ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง กระทรวงศึกษาธิการจึงได้พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบหลักสูตรให้เป็น “หลักสูตรอิงมาตรฐาน(Standard-Based Curriculum)” แทนหลักสูตรเดิมซึ่งเป็นหลักสูตรแบบอิงเนื้อหา(Content-Based Curriculum) เพราะการจำข้อมูลความรู้ไปแบบดิบๆ ของนักเรียนไม่สามารถจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการนำไปใช้พัฒนาประเทศชาติได้ ยิ่งสถานการณ์ของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา องค์ความรู้ต่างๆ ก็มีการปรับเปลี่ยน/เพิ่มเติมอย่างรวดเร็วจนยากที่ครูจะบอกสอนผู้เรียนได้ ครบทุกเรื่อง โรงเรียนจึงควรสอนความรู้ที่เป็นรากฐานสำคัญและทักษะที่ผู้เรียนจะนำไปใช้ใน การแสวงหาความรู้หรือเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองได้ในภายภาคหน้า

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เองก็พยายามที่จะระบุสมรรถนะที่สำคัญสำหรับผู้เรียนไว้ 5 ประการคือ ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ในกลุ่มสาระต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้น แต่ผู้เขียนเองก็ไม่มั่นใจนักว่ากิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนทั่วไปจะ ส่งเสริมให้เกิดสมรรถนะดังกล่าวได้เป็นอย่างดีหรือไม่ หากทุกฝ่ายยังไม่เข้าใจเหตุผลความจำเป็นที่แท้จริง จึงอยากเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับคุณลักษณะที่มีความจำเป็นต่อผู้เรียนสำหรับ โลกในอนาคต ซึ่งครูควรหล่อหลอมและปลูกฝังให้เกิดกับผู้เรียน ดังนี้

1. นักอ่าน จากตัวเลขสถิติการอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยของคนไทยที่น้อยจนน่าวิตก รัฐบาลเองก็มีความพยายามที่จะผลักดันเรื่อง “รักการอ่าน” ให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ก็ยังดูเป็นเพียงลมปาก (Lip Services) เท่านั้น ผู้เขียนอยากเสริมในประเด็นนี้อีกว่า นอกจากในเรื่องของการอ่านภาษาไทยแล้ว โรงเรียนคงต้องช่วยส่งเสริมในเรื่องการอ่านและใช้ภาษาอังกฤษด้วย ทำอย่างไรจะทำให้สังคมไทยยอมรับภาษาอังกฤษได้อย่างไม่เคอะเขิน(แม้ว่าเราจะ ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครก็ตาม) อย่ามองการใช้ภาษาอังกฤษว่าเป็นเรื่องของคนหัวสูง แต่ควรฝึกฝนใช้ให้เป็นสิ่งคุ้นเคย ทั้งนี้เพราะภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เราคุยกับคนทั่วโลกได้ รู้เรื่อง เราจะสามารถเรียนรู้วิทยาการต่างๆ ได้อย่างไร้พรมแดน ลองนึกภาพดูว่าคนค่อนโลกเขาคุยกันรู้เรื่องหมดแต่เราคุยกับเขาไม่รู้ เรื่องอยู่คนเดียวแล้วจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นอย่าปล่อยให้ภาษาอังกฤษกลายเป็นปมด้อยและอุปสรรคในการออกสู่โลกกว้าง สำหรับคนไทยส่วนใหญ่เช่นในอดีตและปัจจุบัน

2. นักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ เราจะพบว่านักเรียนไทยจำนวนไม่น้อยยังมองเทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือสื่อ สาร และใช้เพื่อการบันเทิงเท่านั้น แต่ยังไม่มองเทคโนโลยีในแง่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไร้พรมแดน ซึ่งตรงนี้ครูคงต้องริเริ่มออกแบบการสอนที่จะนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วน หนึ่งของการเรียนรู้ในห้องเรียน เพื่อพยายามชี้ให้นักเรียนได้เห็นว่าเราสามารถใช้ประโยชน์และหาคำตอบในสิ่ง ที่อยากรู้ทั้งหลายได้จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมทั้งเสนอตัวอย่างมุมมองการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเป็นช่องทางเพื่อส่งเสริม การประกอบอาชีพ หรือที่เรียกว่า “มองให้เป็นเงินเป็นทอง” ขึ้นมาได้

3. นักวิเคราะห์สารสนเทศ เนื่องจากปัจจุบันในโลกไซเบอร์มีสารสนเทศอยู่มากมาย บ้างก็เป็นข้อเท็จจริง บ้างก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคล และที่ร้ายกว่านั้นอาจเป็นข้อความที่มีเจตนาบิดเบือนหลอกลวงให้บุคคลอื่น เข้าใจผิดเพื่อหวังประโยชน์ส่วนตน นักเรียนจะต้องมีวิจารณญาณในการตีความและ วิเคราะห์ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อ บ่อยครั้งที่ครูสั่งงานให้นักเรียนไปค้นคว้าหาความรู้จากอินเทอร์เน็ตแล้ว นักเรียนใช้การก๊อป&วาง(Copy and Paste) เพื่อทำรายงานมาส่งครูโดยที่ไม่ได้อ่านเนื้อหานั้นเลย ครูควรแนะนำให้นักเรียนรู้จักเลือกแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น เว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา รวมทั้งให้นักเรียนอ้างอิงที่มาของเนื้อหานั้นด้วย เพื่อครูจะได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลและการทำงานของนักเรียนว่า นักเรียนได้สังเคราะห์ข้อมูลเป็นหรือไม่อย่างไร

4. นักแก้ปัญหา สำนวน “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของการจัดการศึกษาที่ไม่บรรลุประสิทธิผล ผู้เรียนไม่สามารถนำความรู้ที่ร่ำเรียนไปใช้ได้จริง สังคมจะเต็มไปด้วยคนประเภทที่ “รู้ดี พูดดี แต่ทำไม่ได้” คงต้องยอมรับว่าปัจจุบันประเทศของเรามีปัญหาในสังคมหลายเรื่องที่ยังแก้ไม่ ได้ ผู้หลักผู้ใหญ่บางคนก็ยังหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับปัญหาโดยตรงหรือใช้วิธีการ แก้ปัญหาแบบโกยเอาปัญหาไปกองหลบไว้อีกมุมหนึ่ง(พอให้ลับตาคน) วันดีคืนดีปัญหาเหล่านั้นก็ปะทุขึ้นมาทีหนึ่ง วนเวียนอยู่เช่นนี้เป็นวัฏจักร และนับวันปัญหาทั้งหลายก็ยิ่งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ โรงเรียนควรต้องจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกวางแผนแก้ปัญหา ได้เรียนรู้เทคนิคการแก้ปัญหาที่เป็นชีวิตจริงอยู่เสมอ เพื่อเป็นการเตรียมสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาแบบยั่งยืนให้กับ ประเทศชาติ อนาคตของชาติจะได้ไม่แย่ไปกว่าวันนี้

5. นักกระหายใคร่เรียนรู้(Active Learner) ผู้เขียนจะรู้สึกสลดใจมากหากได้ยินคำถามจากนักเรียนว่า “วันนี้ครูจะสอนอะไร” “ครูจะสั่งให้ทำอะไร” “อันนี้ต้องจดไหม” ฯลฯ เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่านักเรียนได้แต่รอให้คนอื่นมานำพาชีวิตเขาไป นักเรียนไม่ได้มีเป้าหมายแท้จริงอย่างที่ตัวเองต้องการ ได้แต่ทำตามที่คนอื่นบอกหรือทำอย่างที่เขาทำๆ กัน นักเรียนทุกคนควรมีความศรัทธาเชื่อมั่นในตนเองว่า “ฉันทำได้...ฉันเรียนรู้ได้” และ “ฉันจะต้องได้เรียนในสิ่งที่ฉันอยากรู้” เพราะแท้ที่จริงแล้วการศึกษาก็คือชีวิตของเรา ในปลายทางของชีวิตแล้วเราไม่ได้เรียนไปเพื่อสอบ ไม่ได้เรียนไปเพื่อเกรด4 ไม่ได้เรียนไปเพื่อพ่อเพื่อแม่ แต่เราเรียนเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขบนโลกใบนี้ และมีชีวิตเพื่อการเรียนรู้ (Lifelong Learning)

6. นักธรรม คุณสมบัติข้อนี้มิได้หมายถึงการสอบธรรมศึกษา(ที่เน้นแบบเชิงปริมาณ)แต่อย่าง ใด แต่หมายถึงการมีคุณธรรมจริยธรรม มีสำนึกรับผิดชอบต่อผู้อื่นและสังคม และรู้สึกละอายต่อการทำผิด ซึ่งเป็นสิ่งที่จะกำกับความกระหายใคร่รู้ในข้อ 5 มิให้กลายเป็นความ “สอดรู้” เราคงรู้สึกกันได้ว่าสังคมไทยขณะนี้เริ่มมองการสอดรู้สอดเห็นเป็นเรื่อง ธรรมดาไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีคลิปลับส่วนบุคคลที่ต้องกลายเป็นคลิปสาธารณะ หนังสือประเภทซุบซิบนินทาที่วางขายกันเกลื่อนแผงหนังสือ หรือแม้แต่รายการประเภทแฉเรื่องราวส่วนบุคคลของคนที่มีชื่อเสียง อันแสดงให้เห็นว่าสังคมกำลังมัวเมากับการเสพความบันเทิงจากเรื่องเสียหายของ ผู้อื่น หากเราปล่อยให้เยาวชนเอาแต่ลุ่มหลงฝักใฝ่กับเรื่องเหล่านี้โดยไม่กระตุกความ คิดกันบ้าง ความเจริญงอกงามทางความคิดของเยาวชนไทยก็คงลอยไกลออกไปทุกที

ผู้เขียนเชื่อว่าหากการศึกษาขั้นพื้นฐานสามารถทำให้เยาวชนเกิดคุณลักษณ์ 6 ประการข้างต้นได้สำเร็จ นั่นถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาอันยิ่งใหญ่เสียยิ่งกว่า"การปฏิรูปเอกสารหลักสูตร ปฏิรูปข้อกฎหมาย หรือปฏิรูปโครงสร้างต่างๆ เช่นที่ผ่านมา" ประเทศไทยเราสาละวนอยู่แต่กับการสร้างกรอบสร้างเกณฑ์ต่างๆ มาตลอด สร้างเสร็จก็รื้อออกมาสร้างใหม่ หมดเงิน...หมดเวลา...และหมดแรงไปมิใช่น้อย คงถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับกระบวนทัศน์ในการคิดและการทำงานกันใหม่เสียที มาช่วยกันนะครับ “เพื่อชาติ”

พงศธร มหาวิจิตร / ครูโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สระบุรี
นิสิต ป.เอก สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม 2553

No comments:

Post a Comment