Thursday, April 26, 2012

เออีซีดันค่าแรงเกิน 300 บาท "โกร่ง" เตือนไทยเผชิญหน้าวิกฤติแรงงาน

“ดร.โกร่ง” กระทุ้งลบทัศนคติ ผวาวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ขึ้นสมอง หวั่นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยจนเงินออมท่วมประเทศ ไม่มีการลงทุนเพิ่ม โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ เตือนไทยเตรียมพร้อมเผชิญวิกฤติแรงงาน ไม่นานพม่าแห่กลับประเทศ ชี้หลังเออีซีค่าแรงพุ่งเกิน 300 บาทแน่

นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจไทย” ในงาน “60 ปี ไทยโทรทัศน์ 35 ปี อสมท” ว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจของไทยต้องปรับตัวให้สอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่มีการเปลี่ยนขั้วมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จากเดิมที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปเคยเป็นผู้นำและเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทย โดยในอดีตไทยเคยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯและยุโรปรวมกันประมาณ 45% แต่ปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 12% ในขณะที่การค้าขายกับอาเซียนและเอเชียสูงถึงเกือบ 80% “ผมมีความเห็นต่างจากนักเศรษฐศาสตร์ฝั่งตะวันตกที่มองว่าเศรษฐกิจของจีนเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย จริงอยู่ที่เศรษฐกิจจีนเติบโตน้อยลงเหลือ 8-9% ขณะที่ก่อนหน้านี้เติบโต 11-12% แต่หากคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจจะพบว่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นหรือเป็นการเติบโตบนฐานเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น สามารถจำหน่ายสินค้าและบริการได้มากขึ้น ดังนั้นจีนจะมีบทบาทเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลกต่อไปอีกหลายปี”

นายวีรพงษ์ กล่าวว่า ภาคธุรกิจของไทยยังต้องปรับตัวเรื่องการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตด้วยการใช้องค์ความรู้ เครื่องจักรที่ทันสมัยขึ้นและใช้แรงงานให้น้อยลง เนื่องจากในอนาคตอันใกล้ เมื่อประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะพม่า เปิดประเทศ ก็มีความเป็นไปได้สูง ที่แรงงานจำนวนมากที่มาทำงานในไทยจะย้ายกลับประเทศ อุตสาหกรรมที่ไม่ปรับตัวในเรื่องนี้จะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน นอกจากนั้นเมื่อเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี แนวโน้มค่าแรงขั้นต่ำจะปรับตัวสูงกว่า 300 บาทต่อวันแน่นอน ดังนั้น หากไม่ยกระดับอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ก็จะเกิดปัญหาตามมาในอนาคต จะหวังให้รัฐบาลอุ้มตลอดไปไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมาหลังจากวิกฤติปี 2540 ฐานะการออมของประเทศได้เพิ่มสูงขึ้น โดยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาโดยตลอด โดยประเทศไทยมีเงินออมที่ไม่ได้เอาไปลงทุนมากถึง 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ทุนสำรองอยู่ที่ 180,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเท่ากับว่ามีเงินไหลเข้ามาจากต่างประเทศประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย “กระนั้นแนวความคิดของภาคราชการหรือนักเศรษฐศาสตร์บางคน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยมักวิตกว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเหมือนในปี 2540 ได้อีก ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาจึงไม่มีการผลักดันให้มีการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ”

เขา ยังระบุว่า การจะพัฒนาประเทศได้ ต้องเปลี่ยนทัศนคติ ลืมอดีตและสร้างอนาคตใหม่ จะใช้วิธีคิดแบบเก่าๆเหมือนกับบริษัทที่มีกำไรแล้วก็ไม่ลงทุนต่อ เอาเงินไปฝากธนาคาร ไปซื้อพันธบัตรกินดอกเบี้ยต่ำๆ เป็นระยะเวลานานๆ จะทำแบบนั้นต่อไปไม่ได้ เพราะทัศนคติแบบนี้ไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างที่ควรจะเป็น

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยต้องตระหนักในความสำคัญในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการผลิตของสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลก เช่น รถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนอกจากรักษาความได้เปรียบในส่วนนี้ไว้แล้ว ยังจะต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ล้าหลังและยังไม่ได้รับการปรับปรุง เช่น ระบบการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นที่ทราบกันว่ารัฐบาลได้มีวงเงิน 350,000 ล้านบาทในการวางระบบบริหารจัดการน้ำ คาดว่าจะใช้เวลาในการเร่งรัดโครงการต่างๆในระยะเวลา 18 เดือน “ประตูระบายน้ำที่เรามีอยู่เป็นประตูน้ำที่ทันสมัย แต่ทันสมัยเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ต้องมีการปรับปรุง เช่น ประตูน้ำบางโฉมศรีที่ในปีนี้จะใช้งบซ่อมแซม 70 ล้านบาท และจะมีการปรับปรุงให้ทันสมัยในอนาคต รวมทั้งจะต้องสร้างเขื่อนกั้นลุ่มน้ำยมให้ได้ หากจะมีการขัดใจกับเอ็นจีโอก็ต้องขัด เพราะในลุ่มน้ำดังกล่าวยังไม่มีเครื่องมือควบคุมน้ำแต่อย่างไร”

นอกจากนี้ ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ต้องมีการเร่งก่อสร้างในระยะเร่งด่วน ก็คือ การขยายสนามบินสุวรรณภูมิ การสร้างทางรถไฟแอร์พอร์ตลิ้งค์ เพื่อเชื่อมสนามบินดอนเมืองกับสุวรรณภูมิ รวมทั้งต้องเร่งเจรจากับสายการบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ให้ย้ายมาอยู่ที่สนามบินดอนเมือง

รวมทั้งปรับปรุงแอร์พอร์ตลิ้งค์ที่มีอยู่ให้ใช้การได้ดีขึ้น ขณะที่ระบบรางที่มีความล้าหลังมาก นอกจากการปรับปรุงระบบรางคู่แล้ว ก็ต้องเปลี่ยนหัวรถจักรให้เป็นหัวรถจักรไฟฟ้า อย่างไรก็ตามการดำเนินงานของรถไฟนั้น รัฐบาลต้องสนับสนุนให้มีการลงทุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้พัฒนาและแข่งขันกับการขนส่งทางถนนที่มีต้นทุนสูงกว่า

นอกจากนี้ รัฐบาลยังตัดสินใจในการลงทุนรถไฟความเร็วสูงหลายเส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-ระยอง, กรุงเทพฯ-มาเลเซีย และกรุงเทพฯ-อุดรธานี หรือเชื่อมต่อไปถึงเวียงจันทน์ อย่างไรก็ตามในเส้นทางต่างๆจะมีการเริ่มก่อสร้างบางส่วนในระยะแรก เช่น สายเหนือจะก่อสร้างถึง จ.พิษณุโลก ก่อน สายตะวันออกจะก่อสร้างถึง อ.พัทยา จ.ชลบุรี และสายอีสานจะก่อสร้างถึง จ.นครราชสีมา ก่อน จากนั้นจึงดำเนินการในส่วนที่เหลือต่อไปตามเป้าหมาย

::เออีซีดันค่าแรงเกิน 300 บาท "โกร่ง" เตือนไทยเผชิญหน้าวิกฤติแรงงาน ข่าวเศรษฐกิจ ไทยรัฐออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน 2555

No comments:

Post a Comment