Wednesday, December 21, 2011

ศาลปกครองเดินหน้าจัดเวทีถกรับมือปัญหาน้ำท่วม

ศาลปกครองเดินหน้าจัดเวทีถกรับมือปัญหาน้ำท่วม

ศาลปกครองจัดเวทีถกปัญหารับมืออย่างไรกับภัยน้ำท่วม นักวิชาการชี้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาน้ำมีแต่นักการเมืองแย่ง กันพูดเหมือนหาเสียง

วันพุธที่ 21 ธันวาคม 2554 ที่สำนักงานศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ ได้จัดเสวนาประชาชน เรื่องรับมืออย่างไรกับภัยน้ำท่วม โดยมีนายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย หากสังคมยังไม่ได้มีการปรับตัวหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจริง จากประสบการณ์คิดว่าเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นมาจากคนไทยไม่ค่อยได้รับรู้ข้อมูลและให้ความสนใจเกี่ยวกับข้อมูลสภาวะโลกร้อน อีกทั้งการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาค่อนข้างนิ่ง คูคลองต่างๆไม่มีศักยภาพในการระบายน้ำ ผังเมืองก็ไร้ระเบียบ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายในที่เข้ามาเสริมเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ไทยตกอยู่ในสภาวะล่อแหลมคือการที่มีฝนตกหนัก ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แผ่นดินทรุดตัว พื้นที่สีเขียวหายไป การบริหารจัดการน้ำของภาครัฐครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าเราขาดระบบการสนับสนุนการตัดสินใจในสถานการณ์วิกฤต แต่ไทยกลับใช้วิธีการขอเวลาประเมินก่อนจึงจะตัดสินใจว่าจะใช้มาตรการอย่างไร ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ทันต่อเหตุการณ์

“รัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่ตนร่วมอยู่ด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเลียนแบบประเทศญี่ปุ่น แต่ของญี่ปุ่นนั้นมีเฉพาะผู้เชี่ยวชาญเป็นกรรมการและบริหารงานโดยอิสระ แต่ของไทยกลับมีแต่นักการเมืองที่ประชุมแต่ละครั้งก็มีแต่แย่งกันพูดเหมือนหาเสียง อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอแนะว่าการแก้ไขปัญหาน้ำ ภาครัฐควรมีมาตรการออกมาให้ชัดหากเกิดน้ำท่วมเราจะให้น้ำอยู่ตรงไหน ไม่ใช่ไปทำให้นิคมอุตสาหกรรมหรือประชาชนรู้สึกว่าจะต้องถมดินให้สูง เพราะถ้าทำเช่นนั้นแล้วเกิดน้ำมาจริงก็จะเป็นอันตรายอย่างมาก เวลานี้ถามกันมากว่าปีหน้าน้ำจะท่วมอีกหรือไม่ จากข้อมูลศูนย์พายุไตฝุ่นของประเทศญี่ปุ่นระบุว่าหลังเหตุการณ์ลานินญ่าปีค.ศ.2010 พายุจะเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ก็พบว่าเป็นจริงตามนั้น โดยเราเจอพายุแล้ว 38 ลูก และปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นปีหน้าจะท่วมหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าพายุเข้าที่ไหน หากมีการบริหารจัดการที่ดีก็อาจจะท่วมไม่รุนแรง” นายเสรี กล่าว

ขณะที่นายนพนันท์ ตาปนานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาน้ำทุกคนควรกลับมาคิดว่าเราไม่ควรที่จะสู้กับน้ำ แต่ต้องหาวิธีอยู่คู่กับน้ำใหม่ เพราะประวัติศาสตร์เราไม่เคยต้านน้ำ ซึ่งตนอยากให้ภาครัฐมีการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ กทม.และจังหวัดปริมณฑล มีการพูดคุยร่วมกันเพราะถ้าป้องกันไม่ให้น้ำท่วมเฉพาะกทม.ก็จะปฏิเสธไมได้ว่าจังหวัดโดยรอบกทม.จะเป็นผู้ได้รับน้ำแทน ซึ่งจะทำให้กลายเป็นปัญหากระทบกระทั่งของมวลชน หรือการระบายน้ำควรจะมีการสร้างคลองต่อเชื่อมกันระหว่างคลองที่อยู่ในความรับผิดชอบของกทม.กับคลองที่อยู่ในพื้นที่จ.ใกล้เคียง นอกจากนี้ในขณะนี้ทางกทม.กำลังยกร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่อยู่ระหว่างการเสนอคณะกรรมการผังเมือง ซึ่งได้มีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับแผนการป้องระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ส่วนที่มีการมองว่าอนาคตกทม.จะจมน้ำนั้นควรจะมีการย้ายเมืองหลวง ตนคิดว่าไม่คุ้ม เพราะประเทศไทยกับน้ำเป็นของคู่กัน อยู่ที่ไหนน้ำก็ท่วม ดังนั้นควรแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำ และทำให้กทม.มีพื้นที่ว่างมากขึ้น เพื่อรับและระบายน้ำ

ด้านนายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจรัฐเข้าไปบริหารจัดการกรณีเกิดภัยพิบัติแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เช่น หากเห็นว่าชุมชนใดขวางทางไหลของน้ำรัฐสามารถใช้พ.ร.บ.นี้สั่งให้มีการรื้อถอนชุมชนได้ทันที แล้วเยียวยาโดยการจ่ายค่าชดเชยให้ แต่รัฐก็ไม่นำกฎหมายนี้มาใช้ และทำให้ประชาชนรู้จักกฎหมายนี้เฉพาะแต่การรองรับการจ่ายค่าชดเชยให้กับประชาชนเท่านั้น หรือเช่นกรณีที่คนที่อยู่ในพื้นที่ต่ำไม่ยอมที่จะรับน้ำก็มีหลักกฎหมายทั่วไปที่ระบุแนวปฏิบัติในทำนองว่า เอกชนที่มีที่ดินต่ำก็มีหน้าที่รับน้ำ ส่วนเอกชนที่มีที่ดินสูงก็มีหน้าที่ปล่อยน้ำ หากใครมีหน้าที่แล้วไม่ดำเนินการตามหน้าที่ก็ต้องมีความผิด แต่สังคมเราก็ยังรู้เรื่องนี้น้อย หรืออย่างกรณีที่รัฐพยายามกั้นน้ำไม่ให้กระทบกทม. ก็จะทำให้พื้นที่ด้านข้างเกิดสภาพน้ำท่วมขัง ในหลักกฎหมายทั่วไปในต่างประเทศจะถือว่ารับผลักภาระให้ผู้นั้น ทำให้บุคคลนั้นเกิดสภาพเหมือนถูกเวรคืนที่ดิน ซึ่งรัฐจะต้องจ่ายค่าชดเชย คดีลักษณะนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะเป็นหลักของการแบ่งเบาภาระความเสี่ยงด้านสาธารณภัย

ที่มา: ศาลปกครองเดินหน้าจัดเวทีถกรับมือปัญหาน้ำท่วม เดลินิวส์ เว็บ วันพุธที่ 21 ธันวาคม 2554
------------------
เหม็นขี้ฟันพวกเมือง นักวิชาการชี้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาน้ำ มีแต่นักการเมืองแย่งกันพูดเหมือนหาเสียง

No comments:

Post a Comment