Thursday, December 8, 2011

“ผลสำรวจเรื่องเซ็กส์” คือ “FYI” หรือ “การตลาด” ของผลิตภัณฑ์ใต้สะดือ?

ลิงก์ที่เกี่ยวกับประเด็นขายดีแซ่บๆแบบไม่ต้องสืบ...ประเด็นที่ ชวนให้นึกถึงผลสำรวจที่เป็นทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์ 2 ชิ้นในบ้านเรา

ที่ผู้คนพูดถึงกันทั้งบ้านทั้งเมือง เพราะงานสำรวจนี้พูดถึงเรื่องเซ็กซ์

ชิ้นแรก ประกาศออกมาช่วงต้นเดือนธันวาคม เป็นงานสำรวจเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ในหัวข้อต่างๆ โดยสัมภาษณ์ผู้คนรวมทั้งหมด 29,000 คน ใน 36 ประเทศ แล้วได้ผลออกมาน่าสนใจว่า

ชายไทย มีพฤติกรรมนอกใจคนรักมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในโลก โดยชายไทย 54 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่า เคยนอกใจคนรัก ซึ่งอันดับสองได้แก่ชายเกาหลีใต้ ด้วยสถิติ 34 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อันดับสามคือ ชายมาเลเซีย มีจำนวน 33 เปอร์เซ็นต์

ผลสำรวจชุดนี้ ยังมีต่อ หญิงไทยก็ไม่น้อยหน้า นอกใจเป็นอันดับสอง รองจากไนจีเรีย โดยผู้หญิงจากประเทศในดินแดนกาฬทวีป ยอมรับว่านอกใจแฟน 62 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหญิงไทยใจเด็ดตามมาติดๆ 59 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่สามก็คือ มาเลเซีย 39 เปอร์เซ็นต์

แค่ข้อสรุปว่า ชายไทยนอกใจมากที่สุดในโลก ส่วนหญิงไทยก็มาแรงเป็นอันดับสองของโลก เท่านี้ก็สร้างความฮือฮากันมากมายแล้ว

ส่วนผลสำรวจชุดที่สอง ปรากฏประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2554 ในประเด็น “ผลสำรวจล่าสุดเรื่องความสุขสมแห่งสัมผัสรักในอุดมคติของชาวเอเชีย”

การสำรวจดังกล่าวทำกับชายและหญิงที่มีคู่รักที่มีความแข็งตัวของอวัยวะเพศชายระดับ 3 หรือ 4 (ระดับความแข็งตัวมี 4 ระดับ ระดับ 4 คือระดับที่ดีที่สุด)อายุระหว่าง 31-74 ปี ที่มีกิจกรรมทางเพศในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา รวม 3,282 คน (ชาย 1,658 คน หญิง 1,624 คน) ใน 10 ประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และประเทศไทย

แล้วได้ข้อสรุปจากการสำรวจว่า...

ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ต่อเดือน ชายอินโดฯ นำหน้าถี่สูงสุด 9.8 ครั้ง ชายไทยอยู่ในระดับ 4 ที่ 7.7 ครั้ง หญิงอินเดียนำหน้าถี่สูงสุด 8.7 ครั้ง หญิงไทยอยู่ในระดับกลางที่ 5.7 ชาวเกาหลีใต้รั้งท้ายทั้งชายหญิงถี่เพียง 4.4 ครั้ง และ 4.3 ครั้ง

ประเด็นที่น่าคิดในงานสำรวจทั้ง 2 ชิ้นงานนี้ ไม่ใช่เรื่องความน่าเชื่อถือของเครื่องมือที่ใช้สำรวจ

แต่เป็นเรื่องของที่มาของผลสำรวจ อันมาจากผลิตภัณฑ์ใต้สะดือ(พูดแล้วรู้สึก “คันหู” โดยทันที)

ผลสำรวจแรก มาจากผลิตภัณฑ์ถุงยางเจ้าหนึ่ง ส่วนผลสำรวจหลัง มาจากบริษัทระดับโลกที่รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

การนำประเด็นที่ผู้คนบนโลกนี้สนใจมาเชื่อมโยงกับสินค้าตัวเองได้อย่างเหนือชั้น ส่งผลต่อการรับรู้(Brand Awareness) ต่อแบรนด์ได้อย่างทรงพลัง

ผลสำรวจเหล่านี้จึงก้าวข้ามจากการแจ้งให้ทราบ หรือ “FYI” (For Your Information) มาสู่การทำ “การตลาด” ด้วยข้อมูลที่หวือหวา แฝงเรื่องใกล้ตัวสักนิดอย่างการใช้คำว่า “ชายไทย” หรือ “หญิงไทย” ซึ่งสามารถชวนให้นึกถึงพี่ป้าน้าอาหรือสาวน้อยข้างบ้านก็ได้

และที่สำคัญ งานสำรวจแนวนี้ มีกลิ่นความเป็น “วิชาการ” แฝงอยู่ ทำให้สามารถนำเรื่อง “เซ็กส์” มาพูดกันอย่างเปิดเผย(อาจจะแกมด้วยอารมณ์ขัน)ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งวัฒนธรรมในบางพื้นที่ทำให้พูดเรื่องใต้สะดือได้ไม่เต็มปาก แต่เมื่อบอกว่าเป็น “ผลสำรวจ” แล้ว ความรู้สึกบัดสีบัดเถลิงจึงลดดีกรีลง

“ผลสำรวจเรื่องเซ็กซ์” จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญกับผลิตภัณฑ์ใต้สะดือ จนคาดหมายได้ว่า “เทรนด์” นี้จะทำให้เราได้ยินผลสำรวจที่แสนหวือหวาเกี่ยวกับเรื่องบนเตียงผ่านแบรนด์ถุงยางอีกหลายชุดสำรวจ

ไม่ต่างจากภาพของโฆษณารถยนต์ที่ผูกกับสมรรถภาพเครื่องยนต์และประเด็นการรักษาสิ่งแวดล้อม(ทั้งที่การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ก็ไม่รักษาสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว)

ไม่ต่างจากบริษัทประกันชีวิต ที่หยิบเอาความรักแบบไร้เงื่อนไขเพื่อทำอะไรให้คนที่คุณรักที่ดังมาตั้งแต่ยุค “ปู่ชิว” จนมาถึงยุค “พ่อใบ้”

หรือการโฆษณาเครื่องดื่มมึนเมา ที่ไม่พูดถึงตัวผลิตภัณฑ์โดยตรง แต่พูดถึงการทำประโยชน์ต่อสังคมและเพื่อนฝูง

คมคิดที่แสนครีเอทีฟเหล่านี้ ชวนให้สองมือของตัวเองล้วงกระเป๋า สองเท้าก้าวเข้าไปซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีภาพประทับในหัวแบบข้างต้นเสียจริง

แต่มองอีกมุม ชวนให้เกิดอาการพิจารณาว่า...

นี่เรากำลังบริโภคสินค้า หรือบริโภค "ภาพลักษณ์" ของสินค้าอยู่หรือ?

เรื่อง...ณัฐกร เวียงอินทร์
ที่มา: “ผลสำรวจเรื่องเซ็กส์” คือ “FYI” หรือ “การตลาด” ของผลิตภัณฑ์ใต้สะดือ? มติชนออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 08 ธันวาคม พ.ศ. 2554

No comments:

Post a Comment