Wednesday, December 21, 2011

เปิดเสรีทางการศึกษา บทพิสูจน์ 'เสร็จนาฆ่าโคคึก'

เปิดเสรีทางการศึกษา บทพิสูจน์ 'เสร็จนาฆ่าโคคึก'
วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2554

ดูเหมือนกระแสของการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน กำลังกลายเป็นประเด็น “ฮอต” อย่างสุด ๆ ในสังคมขณะนี้ ซึ่งการที่สังคมไทยมีความตื่นตัวกับเรื่องนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะเท่ากับเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยพร้อมแล้วที่จะก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่า และเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ก็เนื่องมาจากเหตุผลหลายประการประการแรก ประเทศไทยได้ประกาศ ปฏิญญาสากลต่อชาวโลกก่อนหน้านี้ในทำนองว่าจะสร้างคนไทยให้พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีพุทธศักราช 2558 2. ทุกประเทศทั่วโลกจะต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกยุคใหม่ โดยเน้นในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นหลัก 3. ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องจมปลักอยู่กับ “หลุมดำ” ของปัญหาทางด้านการเมืองมาอย่างยาวนาน จนทำให้ไม่สามารถพัฒนาประเทศได้อย่างที่ควรจะเป็น และ 4. เรื่องการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมในการขับเคลื่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงจะต้องออกแรงผลักดันให้ประเทศไทยก้าวผ่านไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนให้ได้ แม้จะเหลือระยะเวลาในการดำเนินการอีกไม่มากก็ตาม ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลนี้ควรจะต้องรีบกระทำคือ เร่งจัดหาเจ้าภาพเพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการประสานและขับเคลื่อนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นระบบ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการสร้างคนให้ประเทศชาติ ก็ควรที่จะกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างเด็กให้มีคุณภาพตามที่่ต้องการทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว พร้อมทั้งกำหนดให้เรื่อง

ดังกล่าวเป็น “วาระแห่งชาติ” อย่างเร่งด่วน เพราะนอกจากจะเป็นการปลุกกระแสคนไทยให้เข้ามามีส่วนร่วมแล้วยังจะทำให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติของทุกภาคส่วน
ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ศธ. ก็จะต้องมีการจัดระเบียบการศึกษาใหม่ด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีการขับเคลื่อน เริ่มตั้งแต่การแก้ปัญหาขาดแคลนครู, ทำให้ครูได้สอนตรงตามวิชาเอกที่เรียนมา, หลักสูตรจะต้องสอดคล้องกับสังคมยุคใหม่, การคืนไม้เรียว, การปรับแนวทางการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย โดยจะต้องเน้นให้เด็กอ่านแบบสะกดคำ ประสมคำ รวมทั้งได้รู้ถึงสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ไทย ฯลฯ และที่สำคัญคือเน้นการสอนให้เด็กรู้จักการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์และแก้ปัญหาเป็น, การสอนวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม การเรียนภาษาอังกฤษและภาษาจีนอย่างเข้มข้น และที่สำคัญคือการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับหลักสูตร เป็นต้น เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาล้วนแต่เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างเยาวชนไทยให้มีคุณภาพทั้งสิ้น

จะว่าไปแล้วการที่ประเทศไทยจะต้องเร่งสร้างคนให้พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างยั่งยืนก่อนปี 2558 แม้จะถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นก็จริง แต่ก็ควรที่จะคำนึงถึงผลกระทบอื่น ๆ ที่จะตามมาอย่างรอบด้านด้วย เพราะทุกอย่างในโลกนี้เปรียบเสมือน “เหรียญสองด้าน” อยู่เสมอ เมื่อมีด้านบวกก็ย่อมมีด้านลบ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องกระทำอย่างรัดกุมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะเหตุว่าหลังการเกิดเป็นประชาคมอาเซียนขึ้นมาแล้วจะทำให้ตลาดการศึกษาทุกระดับในอาเซียนถูกเปิดออกอย่างเสรี โดยเฉพาะสถานศึกษาในประเทศไทยทุกสังกัดที่ยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ ที่มีอยู่เกือบ 30,000 แห่งทั่วประเทศนั้นก็คงจะมีโอกาสล้มครืนลงอย่างไม่เป็นท่า หากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องยังเพิกเฉยไม่หามาตรการใด ๆ มารองรับ สุดท้ายก็คงเหลืออยู่แต่เพียงสถานศึกษาที่มีความพร้อมที่มีอยู่เพียงไม่กี่พันแห่งเท่านั้นที่ยังจะสามารถยืนอยู่ได้กระแสความตื่นตัวของการเปิดเสรีทางการศึกษาที่จะถาโถมเข้าสู่ตลาดการศึกษาไทยในอีกไม่นาน หากมองในแง่ดีก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้สถานศึกษาของไทยต้องเร่งพัฒนาตนเองเพื่อให้สามารถก้าวไปสู่ส่วนบนของยอดคลื่น แต่ในทางกลับกันเกลียวคลื่นที่สาดซัดมาด้วยความรุนแรงนี้ก็พร้อมที่จะม้วนเอาการศึกษาที่อ่อนแอให้ถูกกลืนหายสาบสูญไปได้ด้วยเช่นกัน

กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล น่าจะต้องมองเห็นถึงปัญหาใหญ่ที่กำลังคืบคลานเข้ามาทำลายล้างสถาบันการศึกษาของบ้านเราในอีกไม่ช้า ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่ายังมีสถานศึกษาทั้งของรัฐและของภาคเอกชนอีกหลายหมื่นแห่งที่ยังตกอยู่ในสภาพเสมือนคนไข้ที่ป่วยนอนซม บางแห่งอาการหนักถึงขั้น “โคม่า” อันเนื่องมาจากผลกระทบของปัญหารอบด้านทั้งเศรษฐกิจ การเมืองหรือสังคม ที่โหมกระหน่ำเข้าใส่มาก่อนหน้านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

โดยเฉพาะในส่วนของสถานศึกษาเอกชน ที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ มาโดยตลอด ทั้งจากปัญหาทางด้านการเมือง ผสมผสานไปกับผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียนฟรี, การที่บุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์จำนวนมากลาออกไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการ, การเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเสียค่าแป๊ะเจี๊ยะเพื่อแลกกับการให้บุตรหลานได้เข้าเรียน หรือแม้แต่การจะเพิ่มค่าตอบแทนให้ผู้ที่จบปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท เป็นต้น คงถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องหันกลับมาเหลียวแลการศึกษาเอกชนอย่างจริงจังเสียที ควรหาทางช่วยเหลือให้สถานศึกษาเหล่านั้นสามารถอยู่รอดได้ เพราะหากปล่อยให้สถานศึกษาเอกชนกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศต้องต่อสู้เพียงลำพังจนต้องปิดตัวเองในที่สุด ในขณะที่สถานศึกษาของรัฐเองก็ไม่สามารถรองรับนักเรียนที่มีอยู่นับล้านคนได้ทั้งหมด และผู้ปกครองเองก็ไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายค่าเล่าเรียนราคาแพงลิบลิ่วให้แก่สถานศึกษาดี ๆ ได้ ถามว่ากระทรวงศึกษาธิการจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เด็กนักเรียนที่ไม่มีที่เรียนอาจต้องกลายสภาพเป็นเสมือนสารตกค้าง รวมทั้งบุคลากรอีกไม่น้อยที่ต้องตกงาน ทำให้เดือดร้อนกันไปทั่ว จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาสถานศึกษาเอกชนนอกจากจะเป็น “ยอดขุนพล”ในการร่วมสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศชาติแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้เด็ก ๆ ทุกคนได้มีที่เรียน ดังนั้นหากผู้มีอำนาจทั้งหลาย เมื่อเห็นปัญหาใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นกับสถานศึกษาเอกชนแล้วไม่คิดหาทางแก้ไข และปล่อยให้แนวร่วมที่เคยเป็นพลังสำคัญในการร่วมพัฒนาเยาวชนของชาติต้องล้มหายตายจากไปต่อหน้าอย่างไม่รู้สึกรู้สาแล้วก็คงไม่ต่างอะไรกับสุภาษิตที่ว่า “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล” นั่นเอง

สายธาร สืบพัฒนา
© 2554 เดลินิวส์ เว็บ วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2554
-------------------
Nan Manee: ยกเลิกการเรียนแบบท่องจำ หักไม้เรียว นี่คือผลพวงจากหลักสูตรดังกล่าว จบ ม. ๓ อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ คิดเลขไม่เป็น ขาดคุณธรรมจริยธรรม -หลักสูตรเมื่อก่อน จบชั้น ป. ๔ อ่านหนังสือออก เขียนหนังสือได้และเขียนสวย คิดเลขเป็น ลองเปรียบเทียบดูว่าการศึกษาพัฒนาขึ้นหรือแย่ลง

Tian Maudtaisong · Ramkhamhaeng University: เห็นด้วยอย่างยิ่ง เป็นครูมาจะยี่สิบปีแล้ว มีครูไม่ถึงครึ่งโรงเรียนที่เห็นว่านักเรียนสำคัญส่วนใหญ่ยึดแต่ตัวครูเท่านั้นที่สำคัญ ครูเก่ง นักเรียนต้องฟังอย่าแสดงความคิดเห็น ปิดกั้นทางสติปัญญาห้ามเด็กโต้เถียง นี่แหละครูปัจจุบัน จบสูงแต่สมองต่ำ มีอต่ชวนนักเรียนไปเรียนพิเศษที่ตัวเองรวมกับเพื่อนครูด้วยกันเปิดสอนในโรงเรียนบ่นทั้งชั่วโมง บางคนแย่มากฝากฝึกสอนตลอด ผู้บริหารก็มัวแต่ไปทำผลงานซีนั่นซีนี่ตลอดทั้งปีการศึกษาพบหน้าผู้บริหารไม่ถึง๑๐ หน บางคนอยู่ก็ไม่ทำอะไรนั่งอ่านหนังสือพิมพ์กับรอเซ็นแฟ้ม ที่แย่ไปกว่านั้นไม่มีเมตตาธรรมเด็กทำผิดแทนที่จะหาเหตุที่แท้จริงกลับดุด่าว่ากล่าวแบบหยาบคายเด็กบางคนครอบครัวก็แย่อยู่แล้วยิ่งมาเจอครูแย่ก็เลยไปกันใหญ่ หลักสูตรก็เปลี่ยนบ่อยมากเปลี่ยนรัฐบาลทีก็เปลี่ยนหลักสูตรที ยิ่งภาษาจีนไม่รู้จะให้เรียนไปทำอะไร เด็กเรียนมา ๒ เทอมได้ ๒ คำ หนีห่าว หล่าวซือ ที่เหลือไม่ได้ เงินก็ต้องจ่ายค่าภาษาจีน ควรเน้นภาษาไทยให้แตกฉาน แล้วเพิ่มภาษาอังกฤษให้แน่นจะดีกว่า ครูไทยเก่งกว่าครูต่างชาติเยอะแต่กลับมองข้าม มีอีกมากมายในวงการครูที่หาประโยชน์จากเด็กและผู้ปกครอง รัฐบาลอย่ามองแต่ผิวเผินควรลงลึกสักทีอนาคตของชาติอยู่ที่การศึกษาอย่างให้ใครประนามได้ว่าแพ้ลาว แพ้เวียตนาม

ภรณชนิต ศรีวงค์ · มหาวิทยาลัยเกษตรศาสร์: การศึกษาไทยไร้ทิศทาง นักเรียนเรียนรู้เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ทำอะไรเป็นบ้าง พ่อแม่ไทยไม่เคยให้ลูกทำงานเหมือนฝรั่ง จบตรีทำงานไม่ได้ก็ต่อโทร จบเอกทำอะไรได้บ้าง งบด้านการศึกษา จัดใ้ห้โรงเรียนน้อยมาก ตึกใหม่ไม่เคยมี แต่มหาวิทยาลัย ตึกมากมายเอาไว้ทำอะไรบ้าง เด็กมัธยมขาดอุปกรณ์หลายอย่างโรงเรียนงบไม่พอ ครูต้องหาเอง หรือให้เด็กนำมา เมื่อไม่พร้อมก็ไม่อยากเรียน อย่างภาษาจีน เปิดตั้งแต่ ม.1 ภาษาไทย ยังใช้ไม่ถูกเขียนไม่ได้เลย บังคับเรียนจีน เอาไปใช้ที่ไหน ใครได้ผลประโยชน์กันแน่

รศ.ดร.อำนวย เดชชัยศรี · วค.บ้านสมเด็จฯ ๐๙ มศว.ประสานมิตร ๑๙ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ๓๐:
ระบบพรรคในสภาไทยมีปัญหา..สส.ที่เราเลือกแค่ประชาธิปไตย ๔ นาทีที่เรามีสิทธิเมื่อสส.ไปกินดีอยู่ดีมักจะทรยศต่อตนเองลืมความทุกข์ยากของประชาชน..ระบบสังคมทุนนิยมผู้บริหารเอาตัวรอดประจบนักการเมือง..นักการเมืองข้ามหัวผู้บริหาร..ชี้มือกร่างกับผู้น้อยสั่งเอาสั่งเอา.ร่ำรวยจากเงินภาษีประชาชนซื้ออำนาจทุกอย่างที่ประเทศไทยมีอยู่..เงินภาษีประชาชนส่วนหนึ่งนำมาแจกรากหญ้าในนามตัวเอง...สร้างระบบเอาแต่ได้ฮึกเหิมเผด็จการเปลี่ยนแปลงตัวบทกฎหมายให้เป็นประโยชน์กับพวกตัวเอง..ทำผิดแก้ให้ไม่ผิด..เผาบ้านเมืองไม่ผิด???เอาอวัยวะส่วนไหนมาคิด ...แค่นี้..ครูจะยังคิดพึ่งพวกขี้โกงอีกหรือ ขี้โกงได้รับการสนับสนุน ๑๕ ล้านเสียง..แล้วอีก ๕๐ ล้านเสียงที่มีความเห็นตรงข้ามจะนั่งนิ่งๆกระนั้นหรือ....สงสารประเทศไทย

Etc

No comments:

Post a Comment