Wednesday, July 6, 2011

สินสมรส (1) + (2) + (3) + (4) + (5)

สินสมรส (1)

ดิฉันมีปัญหาเกี่ยวกับชีวิตสมรส แต่สิ่งที่ดิฉันไม่ทราบคือปัญหาเรื่องทรัพย์สิน เพราะชีวิตสมรสที่มีปัญหา ทำให้ดิฉันต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เรามีร่วมกัน ซึ่งจะมีทั้งนำไปขายโดยไม่บอก หรือซื้อมาโดยปิดบังไม่ให้รู้ ดังนี้

1. การที่สามีนำที่ดินและบ้านไปขายฝากโดยดิฉันไม่ทราบ ดิฉันจะมีทางเอาที่ดินกลับคืนมาได้หรือไม่

2. ที่ดินที่สามีเป็นผู้ซื้อโดยผ่อนกับธนาคาร และธนาคารหักหนี้จากเงินเดือนของสามีทุกเดือน ที่ดินแปลงนี้จะเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือสินสมรสของสามีภริยา

รวมทั้งให้สามีช่วยเซ็นให้ความยินยอมในเรื่องอื่น ๆ ก็ไม่เซ็นให้ ทำให้ดิฉันไม่อาจทำการค้าขายได้สะดวก จนบางครั้งต้องใช้วิธีปลอมลายเซ็นสามีในการให้ความยินยอม

ตอบ
เนื่องจากมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการจัดการสินสมรสมากมาย ทั้งจดหมาย โทรศัพท์และอีเมล จึงขอรวบรวมตอบเพื่อผู้อ่านท่านอื่น ๆ จะได้ศึกษาเป็นแนวทางด้วยดังนี้

1. ถ้าที่ดินแปลงใดเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส ที่ดินแปลงนั้นจะเป็นสินสมรสที่จะเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างสามีภริยา การขาย ฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง จะทำให้นิติกรรมการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476(1)) และถ้าเจ้าหนี้รับซื้อฝากที่ดินโดยไม่สุจริต คู่สมรสฝ่ายที่ไม่ได้ให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมขายฝากมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากคู่สมรสนำไปขายฝากให้เจ้าหนี้ได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480) โดยฟ้องทั้งผู้ซื้อฝากและผู้ขายฝากให้เป็นจำเลยร่วมกัน

นอกจากนี้การฟ้องคดีดังกล่าวยังสามารถฟ้องเพิกถอนทรัพย์สินได้ทั้งหมดมิใช่ฟ้องได้เฉพาะส่วน เนื่องจากในการเพิกถอนนิติกรรมสำคัญใด ๆ ที่บุคคลภายนอกทำการโดยไม่สุจริตหรือไม่ได้เสียค่าตอบแทนตามนัยที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้นั้น เป็นเรื่องของนิติกรรมโดยตรง จึงต้องเพิกถอนทั้งหมด โดยมีผลว่าทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นย่อมกลับคืนมาเป็นสินสมรสทั้งหมด มิใช่เพิกถอนแต่เฉพาะส่วนของคู่สมรสที่ไม่ได้ให้ความยินยอมเท่านั้น (ตามแนวคำวินิจฉัยของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7180/2551) ส่วนเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ถูกเพิกถอนได้รับความเสียหายอย่างไรก็ต้องไปว่าเอากับผู้ขาย

2. เมื่อเงินเดือนเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส เงินเดือนจึงเป็นสินสมรส
ดังนั้นการที่นำเงินเดือนไปชำระหนี้กับธนาคารเพราะเป็นผู้กู้เงินจากธนาคารมาซื้อทรัพย์สิน ทรัพย์สินที่ซื้อมาโดยผ่อนชำระกับธนาคารโดยวิธีการให้หักเงินเดือน การซื้อหาทรัพย์สินนี้จึงได้มาจากการใช้เงินเดือน ถือได้ว่าทรัพย์สินนี้เป็นสินสมรสซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างสามีภริยาไม่ใช่สินส่วนตัวของเจ้าของเงินเดือน (ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9570/2551)

ฉบับหน้าจะมาว่ากันต่อเรื่องปัญหากรณีที่คู่สมรสไม่ให้ความยินยอมในการจัดการสินสมรส

ที่มา: สินสมรส (1) คลินิกกฎหมาย เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคาร ที่ 07 มิถุนายน 2554

สินสมรส (2) ต่อ

ฉบับที่แล้วเราค้างไว้ในปัญหาที่ว่า หากคู่สมรสฝ่ายใดไม่ให้ความยินยอมในการที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะจัดการสินสมรส จะทำอย่างไร

ในเบื้องต้นดิฉันอยากจะทำความเข้าใจก่อนว่า มิใช่ว่าถ้าเรามีคู่สมรสแล้วเราจะต้องขอความยินยอมจากคู่สมรสของเราทุกเรื่อง เพราะในหลายกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถทำได้โดยลำพัง เพราะนิติกรรมนั้นยังไม่ใช่การจัดการสินสมรสที่สำคัญที่กฎหมายบัญญัติให้จัดการร่วมกัน ยกตัวอย่างกรณีที่คู่สมรสสามารถจัดการได้เองโดยลำพัง เช่น

1. การจัดการทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัวของตนเอง,

2. การจัดการบ้านเรือนหรือจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว ซึ่งค่าใช้จ่ายในการจัดการดังกล่าวจะผูกพันสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย

3. การทำพินัยกรรมยกสินสมรสเฉพาะส่วนกรรมสิทธิ์ของตนให้แก่บุคคลใด

4. คดีที่เกี่ยวกับการฟ้อง ต่อสู้คดี หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุงรักษาสินสมรส หรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรส

5. การให้เพื่อการกุศลพอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว

6. บางคู่อาจจะได้มีการทำสัญญาก่อนสมรสไว้ว่าจะให้คู่สมรสฝ่ายใดเป็นผู้จัดการสินสมรส ก็เป็นไปตามสัญญาก่อนสมรสนั้น

7. สำหรับการค้าการขาย ถ้าเป็นการที่คู่สมรสคนใดอยากจะขอกู้เงินจากบุคคลอื่น การขอกู้ยืมเงินมิใช่เป็นเรื่องของการจัดการสินสมรสที่สำคัญที่คู่สมรสทั้งสองฝ่ายจะต้องจัดการร่วมกัน และหนี้เงินกู้นั้นถือว่าเป็นหนี้สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายที่เป็นลูกหนี้ คู่สมรสฝ่ายใดจึงมีอำนาจกู้ยืมเงินบุคคลอื่นได้โดยไม่ต้องมีความยินยอมของคู่สมรส เพราะกฎหมายจะระบุกรณีต้องมีความยินยอมของคู่สมรสเฉพาะเรื่องการให้กู้ยืมสินสมรสเนื่องจากการให้บุคคลอื่นมากู้ยืมเงินเราอาจจะทำให้สินสมรสได้รับความเสียหายเพราะอาจไม่ได้รับการใช้คืน แต่ปรากฏว่าในทางปฏิบัติถ้าเราจะไปกู้เงินใคร เจ้าหนี้ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธนาคารหรือสหกรณ์จะให้ผู้ขอกู้ได้โปรดกรอกแบบฟอร์มเอกสารความยินยอมของคู่สมรสด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าหนี้ต้องการเอกสารอะไรผู้กู้ก็จะหามาให้เพราะอยากได้เงินกู้ จึงมีกรณีที่ผู้กู้บางรายไม่อยากบอกให้คู่สมรสของตนทราบว่าจะขอกู้เงินจึงได้เซ็นชื่อปลอมของคู่สมรสในเอกสารความยินยอม

ภายหลังเกิดคู่สมรสนั้นมีปัญหาทะเลาะกันเรื่องอื่นก็มีการขุดคุ้ยเรื่องการปลอมลายเซ็นมาแจ้งความกันวุ่นวาย ซึ่งความจริงแล้วการขอกู้เงินไม่จำเป็นต้องใช้ความยินยอมของคู่สมรสเลย ตัวอย่างคดีเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1862/2531 จำเลยเป็นหญิงมีสามี สมัครใจทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ เมื่อไม่ปรากฏว่าสัญญากู้ทำขึ้นเพราะถูกบังคับหรือสำคัญผิดก็ย่อมเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้สามีจำเลยไม่ได้ให้ความยินยอมในการกู้เงินก็ไม่ทำให้สัญญากู้ดังกล่าวเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการกู้เงินของจำเลยไม่ใช่ การจัดการเกี่ยวกับสินสมรสที่จะต้องให้สามีจำเลยยินยอม

ที่มา: สินสมรส (2) คลินิกกฎหมาย เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคาร ที่ 14 มิถุนายน 2554

สินสมรส (3)

บางกรณีคู่สมรสอาจจะไว้ใจคู่สมรสอีกฝ่ายมาก ในอันที่จะให้ทำนิติกรรมใด ๆ หรือกรณีที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันและไม่อยากยุ่งยากในการต้องมาเซ็นยินยอม จึงอาจจะทำหนังสือให้ความยินยอมในการที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจะจัดการสินสมรสไว้ล่วงหน้าจะใช้ได้หรือไม่ เพราะอาจเกิดกรณีว่าพอคู่สมรสฝ่ายใดไปทำนิติกรรมเข้าจริง ๆ ภายหลังอีกฝ่ายหนึ่งก็จะขอให้เพิกถอนโดยอ้างเรื่องยังไม่มีความยินยอมในนิติกรรมนั้น เรื่องนี้มีแนวคำวินิจฉัยของศาลตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3186/2538 ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าทำได้ โดยศาลได้วางแนวบรรทัดฐานไว้ในคดีนั้นว่า ความยินยอมให้ทำนิติกรรมไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องให้ความยินยอมเฉพาะเรื่องเฉพาะราย จะให้ความยินยอมเป็นการล่วงหน้าและตลอดไปไม่ได้ ทั้งโดยสภาพแล้วผู้ให้ความยินยอมสามารถให้ความยินยอมเฉพาะเรื่องเฉพาะรายหรือตลอดไปก็ได้

เมื่อหนังสือให้ความยินยอมมีข้อความว่า ภริยายอมให้สามีทำนิติกรรมในการกู้เงิน กู้เบิกเงินเกินบัญชีค้ำประกัน ฯลฯ หรือทำนิติกรรมอื่นใดที่เกี่ยวข้องได้โดยผู้เป็นภริยาตกลงให้ความยินยอมในการกระทำนั้นตลอดไป ย่อมแสดงให้เห็นว่า ภริยามีเจตนาให้ความยินยอมในการที่สามีทำนิติกรรมที่ระบุในหนังสือให้ความยินยอมและนิติกรรมอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับธนาคารได้ตลอดไป ดังนั้นสัญญาค้ำประกันที่สามีทำกับธนาคารเพื่อค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้คนหนึ่งต่อธนาคารย่อมมีผลใช้บังคับโดยชอบ ภริยาจึงไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนสัญญาค้ำประกันดังกล่าว

ส่วนกรณีที่คู่สมรสไม่ยอมให้ความยินยอมสำหรับการจัดการสมรสที่สำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าให้คู่สมรสทั้งสองฝ่ายจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งจึงต้องร้องขอต่อศาลสั่งอนุญาตแทนความยินยอมนั้น หากปรากฏว่าการไม่ให้ความยินยอมนั้นปราศจากเหตุผลหรือไม่อยู่ในสภาพที่อาจให้ความยินยอมได้ เพราะถ้าขืนจัดการไปเองโดยลำพังจะทำให้คู่สมรสที่ไม่ได้ให้ความยินยอมร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นไว้เสียแต่ว่าคู่สมรสที่ไม่ได้ให้ความยินยอมจะมารับรองนิติกรรมนั้นในภายหลังที่เรียกว่าการให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้น หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

สำหรับนิติกรรมที่สำคัญซึ่งกฎหมายกำหนดให้คู่สมรสทั้งสองฝ่ายต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้นอาจถูกเพิกถอนได้ในภายหลังนั้น มีข้อสังเกตคือ ตราบใดที่นิติกรรมที่ทำโดยไม่มีความยินยอมดังกล่าวนี้ยังไม่มีการฟ้องขอให้เพิกถอน นิติกรรมสัญญานั้นยังคงสมบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่น สามีขายบ้านหลังหนึ่งให้แก่นาย ก. โดยภริยาไม่ทราบและไม่ได้ให้ความยินยอม นาย ก.ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่บริวารของผู้ขายให้ออกจากบ้านหลังนั้นได้ เพราะนิติกรรมสัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนาย ก.กับสามีนั้นสมบูรณ์เนื่องจากยังไม่มีการเพิกถอนจึงเป็นเรื่องที่ภริยาจะต้องฟ้องศาลเพื่อขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายบ้านของสามีกับนาย ก.ว่าทำไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นภริยา และนาย ก.ผู้เป็นบุคคลภายนอกไม่สุจริตและไม่ได้เสียค่าตอบแทน เป็นต้น

ที่มา: สินสมรส (3) คลินิกกฎหมาย เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคาร ที่ 21 มิถุนายน 2554

สินสมรส (4)

คู่สมรสที่ต้องการจะให้ทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสให้แก่ผู้อื่นจะทำได้มากน้อยเพียงใด เช่น ให้ลูกติดมา หรือให้ญาติพี่น้อง ของตนเอง หรือนำไปบริจาคหรือทำบุญ และไม่อยากให้คู่สมรสของเราทราบเพราะขี้เกียจฟังเสียงบ่นในวันหลัง

ตอบ
เนื่องจากการจัดการสินสมรสที่สำคัญที่กฎหมายบัญญัติให้คู่สมรสต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งนั้น จะรวมถึงการยกทรัพย์สินให้ผู้อื่นโดยเสน่หาไว้ด้วย อย่างไรก็ตามกฎหมายได้ยกเว้นการให้โดยเสน่หาที่สามารถจัดการได้ตามลำพังหรือไม่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าหากการให้โดยเสน่หานั้นเป็นการให้ที่พอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

แต่เดิมกฎหมายเก่าได้แบ่งประเภทของทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเป็น 3 ประเภท คือ สินส่วนตัว สินเดิม และสินสมรส โดยสินเดิมและสินสมรสที่อยู่รวมกันเป็นสินบริคณห์ แต่กฎหมายใหม่แบ่งทรัพย์สินออกเป็น 2 ประเภทเท่านั้น คือ สินส่วนตัว และสินสมรส ดังนั้นคู่สมรสจะเอาสินส่วนตัวของตนไปให้ใครย่อมไม่มีปัญหา แต่ที่มีปัญหาพิพาทกันในศาลจะเป็นเรื่องที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งเอาสินสมรสไปยกให้ผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสของตน ซึ่งอันที่จริงการยกให้ผู้อื่นโดยเสน่หาอาจทำได้หากเข้าข้อยกเว้นของกฎหมาย หรือจะยกให้ไม่ได้หากเกินสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวและไม่เป็นการให้ตามหน้าที่ธรรมจรรยา จึงต้องดูข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องว่ากรณีใดเป็นการให้ที่เกินสมควรหรือไม่ ตัวอย่างคดีที่พิพาทกัน เช่น

-สามียกที่ดินให้ภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ตามสมควร ในทางศีลธรรม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2270-2271/2534 )

-สามียกที่ดินสินสมรสราคาเกินกว่าแสนบาทให้ผู้อื่น โดยภริยามิได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือ เหตุที่ยกให้เพราะผู้นั้นช่วยอุปการะและพาสามีไปตรวจรักษาพยาบาล ไม่ปรากฏว่าเป็นเงินเท่าใด ยังไม่พอถือว่าเป็นการสมควรในทางศีลธรรมอันดี (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 258/2518)

-สามีทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนยกที่ดินอันเป็นสินบริคณห์ให้บุตรโดยเสน่หาคนละแปลง เมื่อปรากฏว่ายังมีที่ดินอันเป็นสินบริคณห์หรือสินสมรสเหลืออีกหลายแปลง จึงเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากภริยาก่อน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2391-2392/2517, 3471/2531)

หรือตัวอย่างของการที่บิดายกสินสมรสให้บุตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7419/2543 คดีนั้นได้ให้เหตุผลไว้ว่า แม้บิดาไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนอกกฎหมาย แต่โดยทางธรรมจรรยาซึ่งเป็นความรู้สึกผิดชอบภายในจิตใจที่เกิดจากพื้นฐานทางคุณธรรมและจริย ธรรมของผู้เป็นบิดา บิดาย่อมมีความผูกพันที่จะให้การเลี้ยงดูบุตรซึ่งเกิดมาโดยปราศจากความผิดใด ๆ โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของบุตรเป็นสำคัญ ซึ่งบิดาได้จัดให้บุตรได้รับการศึกษาและดูแลบุตรดังกล่าวตลอดมาจนกระทั่งบิดาถึงความตาย ดังนั้นการที่บิดาได้โอนบ้านและที่ดินพิพาทเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของบุตรและมารดาของเด็ก โดยบ้านและที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินส่วนน้อยเมื่อเทียบกับทรัพย์สินทั้งหมดที่บิดามีอยู่ร่วมกับภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการให้ตามหน้าที่ธรรมจรรยาอันพอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว คู่สมรสที่เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายจึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้โดยเสน่หาดังกล่าวไม่ได้

ที่มา: สินสมรส (4) คลินิกกฎหมาย เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคาร ที่ 28 มิถุนายน 2554

สินสมรส (5)

การที่บิดามารดาจะยกทรัพย์สินให้บุตรของตนที่มีครอบครัวแล้ว ทรัพย์สินที่ยกให้นี้จะเป็นสินส่วนตัวของบุตรคนเดียว หรือเป็นสินสมรสร่วมกันระหว่างสามีภริยา และถ้าให้เป็นเงินก้อนจำนวนหนึ่งแทนการให้เป็นทรัพย์สินจะเกิดปัญหาได้หรือไม่
ปราณี

บิดามารดาที่จะยกทรัพย์สินให้บุตรหลาน ส่วนใหญ่มักจะกังวลกันว่าจะตกได้แก่บุตรของตนทั้งหมด หรือตกเป็นสินสมรสซึ่งจะทำให้บุตรของตนมีสิทธิเพียงครึ่งเดียว

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1471(3) บัญญัติเรื่องสินส่วนตัวว่า ได้แก่ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือการให้โดยเสน่หา และในมาตรา 1474(2) บัญญัติเรื่องสินสมรสว่า ได้แก่ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส สรุปคือการยกทรัพย์สินให้บุตรหลานของตนที่มีครอบครัวแล้วจะเป็นสินส่วนตัว เว้นแต่การยกให้นั้นผู้ให้หรือเจ้าของพินัยกรรมจะระบุชัดแจ้งว่าจะยกให้เป็นสินสมรส

นอกจากนี้ยังมีมาตรา 1474(3) บัญญัติว่า สินสมรสได้แก่ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว ซึ่งดอกผลที่เห็นได้ชัด ได้แก่ ทรัพย์สินพวกดอกเบี้ยเงินฝาก ค่าเช่า เป็นต้น ตัวอย่างเช่น บิดายกที่ดินให้บุตรชายที่แต่งงานแล้ว บุตรชายนำที่ดินแปลงนี้ไปให้เช่า ค่าเช่าที่ดินถือว่าเป็นดอกผลที่ได้มาในระหว่างสมรส ดังนั้นที่ดินแม้จะเป็นสินส่วนตัวของบุตรชาย แต่ค่าเช่าจะเป็นสินสมรส หรือได้รับมรดกเป็นเงิน 10 ล้านบาท เงินต้น 10 ล้านบาทเป็นสินส่วนตัว แต่เงินดอกเบี้ยของเงินที่ได้มาและนำไปฝากไว้กับธนาคารเป็นสินสมรส เป็นต้น

แต่เงินกำไรที่ได้จากการขายทรัพย์สินที่ได้รับมรดกหรือรับการยกให้มาซึ่งเป็นส่วนต่างที่ทำให้ทรัพย์สินมีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้นไม่ถือว่าเป็นดอกผล เพราะเงินกำไรไม่ถือว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการให้ผู้อื่นได้ใช้ทรัพย์สินนั้นและให้ประโยชน์แก่เจ้าของทรัพย์สินเป็นครั้งคราว ดังนั้นถ้าที่ดินรับมรดกมามีมูลค่าที่ดินประมาณ 10 ล้านบาท แต่ขายได้ในราคา 20 ล้านบาท แม้จะขายที่ดินแปลงนี้มีกำไรเพิ่มขึ้นจากราคาที่ดินเดิม เงินกำไรนี้ยังเป็นสินส่วนตัวของเจ้าของที่ดิน

นอกจากนี้มาตรา 1474 วรรคท้าย ยังบัญญัติไว้ว่า ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ผลที่อาจจะตามมาเกี่ยวกับปัญหานี้คือถ้าหากว่าเงินที่ได้รับการยกให้หรือรับมรดกไม่แยกออกให้ชัดเจน จนไม่อาจจะแยกกันได้ว่าเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรสเพราะอยู่รวมปนกัน กฎหมายจะให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส เช่น คดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2650/2545 เงินฝากในบัญชีเงินฝากในธนาคารมีรายได้จากกิจการที่สามีภริยาร่วมกันทำมาหาได้ร่วมกันอยู่ด้วย เนื่องจากเงินรายได้จากกิจการเป็นเงินสินสมรส แต่เมื่อได้รวมระคนปนกับเงินสินส่วนตัวของสามีจนไม่อาจจำแนกว่าแต่ละส่วนเป็นเงินเท่าใด ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเงินในบัญชีนั้นเป็นสินสมรส ฉะนั้นการที่ได้ถอนเงินไปเปิดบัญชีใหม่ เงินฝากในบัญชีใหม่จึงเป็นสินสมรส หากมีการนำเงินดังกล่าวไปซื้อที่ดินและห้องชุด ที่ดินและห้องชุดจะต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ว่าเป็นสินสมรส เป็นต้น

บทสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นสินสมรสนั้น หมายความว่าถ้าฝ่ายใดจะอ้างว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินส่วนตัวของตนไม่ใช่สินสมรส ฝ่ายที่อ้างว่าเป็นสินส่วนตัวจะต้องเป็นผู้นำหลักฐานมาพิสูจน์หักล้างให้ได้ว่าไม่ใช่สินสมรส

ที่มา: สินสมรส (5) คลินิกกฎหมาย เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคาร ที่ 05 กรกฎาคม 2554

No comments:

Post a Comment