Tuesday, July 5, 2011

ย้ายชั่วคราว+วันครบกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง

รัฐบาลสมัยนี้ท่านประกาศวันหยุดเพิ่มขึ้นจากวันหยุดปกติหลายครั้ง

วันหยุดยาวขึ้น ประชาชนเดินทางมากขึ้น หมุนเวียนกระแสเงินสะพัด

ยังมีปัญหาทางคดีความขึ้นมาได้ คนละแนวกันแท้ ๆ

คุณสุพรถามมาว่า กรณีมีวันหยุดเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากวันหยุดตามปกติดังกล่าว

หากวันนั้นเป็นวันครบกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง

จะนับวันถัดไปเป็นวันครบกำหนดระยะเวลาได้หรือไม่

เพราะไม่ใช่วันหยุดปกติประจำทุกปี

มีคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ ๗๙๐/๒๕๕๐ เป็นแนวทางว่านับได้ครับผม

เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๐ คณะรัฐมนตรีมีมติให้เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ

เพื่อให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๐ ดังที่ได้เป็นข่าวทางการเมืองกันมาแล้ว

ผู้ฟ้องคดีรายหนึ่งต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์กรณีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคาร

ครบกำหนดสามสิบวันดังกล่าวในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๐

มายื่นฟ้องในวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๐ ศาลปกครองชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องเนื่องจากเป็นการฟ้องคดี เมื่อพ้นระยะเวลาฟ้องคดี ตามมาตรา ๕๒ วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ฯ

และมาตรา ๔๙ แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ฯ

ในชั้นศาลปกครองสูงสุด ท่านวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองภายในสามสิบวันคือภายในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๐

แต่อย่างไรก็ตามคณะรัฐมนตรีมีมติให้วันจันทร์ที่ ๒๐ สิงหาคมดังกล่าวเป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๐ ทำให้วันที่ ๒๐ สิงหาคม เป็นวันหยุดทำการตามประกาศ

ดังนั้น วันสุดท้ายของระยะเวลาการยื่นฟ้องคดีดังกล่าวจึงต้องนับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการ นั้น คือ วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๐ ตามมาตรา ๑๙๓/๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ฟ้องได้ ยังไม่เกินกำหนดระยะเวลาฟ้องคดี ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ รับฟ้องไว้พิจารณา ต่อไป

อีกเรื่องจากวงสนทนาของข้าราชการ ท่านเปรย ๆ มาให้กระผมรับใช้หน่อย

เรื่องเดียวสำมะคัญมากเกร็งกันทั้งบางยังกะศรีภรรยาสมัยนี้กลัวเรยา ณ ช่องสามปานนั้น

ถูกเจ้านายสั่งย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งใหม่ที่ดูมุมไหน ๆ แล้วสู้ตำแหน่งเดิมไม่ได้

สงกะสัยว่าเจ้านายวางแผนจัดหนักให้มีผลถึงเวลาพิจารณาความดีความชั่วประจำปีเพราะอยู่ในตำแหน่งนี้ผลงานมันสู้ตำแหน่งเดิมไม่ได้

สแกนกรรมแล้วเลือกที่รักมักที่ชังนี่หว่า แบบนี้ต้องแก้กรรมใครกรรมมันที่ศาลปกครอง

ไม่กล้าไปแก้กับกูรูกรรมคนดังนั่น พอเวลากรรมตัวเองมามั่งแก้ด้วยการขอโทษสบาย ๆ

ไม่ซับซ้อนพิสดารเหมือนแก้กรรมให้ลูกศิษย์เลยนะตัวเอง

ข้าราชการตำแหน่งหัวหน้างานธุรการท่านหนึ่งได้รับคำสั่งให้ไปดำรงตำแหน่งช่วยราชการอีกกองหนึ่ง

เซ็งเป็ด เพราะรู้สึกว่างานใหม่นี้เกรดสอง ยังงี้เวลาประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนก็เสร็จคนอื่นซิจ๊ะ

แบบนี้เจ้านายกลั่นแกล้งแน่ ๆ เพราะเคยขัดแย้งเรื่องงานไม่กินเส้นกันมาก่อน

จึงฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ยกเลิกคำสั่งย้ายดังกล่าวขอให้ย้ายกลับตำแหน่งเดิม สถานะเดิม

เพิ่มออพชั่นเรียกให้ชดใช้เงินหลายแสนจากตำแหน่งเดิมติดปลายนวมพอให้เจ้านายระทึกขวัญ

กรณีอย่างนี้ต้องดูแนวทางจากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ที่มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น

สั่งไม่รับฟ้อง

ท่านว่า คำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีไปช่วยราชการต่างกองเป็นการชั่วคราวโดยผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่ง

เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ฯ

แต่คำสั่งดังกล่าว ผู้ฟ้องคดียังคงดำรงตำแหน่งระดับเดิมและได้รับเงินเดือนเท่าเดิม ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีนี้

ปัญหาว่าจะเสียโอกาสเพราะงานต่ำกว่ามาตรฐานเดิม เกรงว่าจะไม่มีผลการปฏิบัติงานเข้าตาคณะกรรมการประเมินผลนั่น

ท่านว่า ความเดือดร้อนเสียหายจะเกิดขึ้นเมื่อผู้บังคับบัญชามีคำสั่งไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนโดยอ้างเหตุผลว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีผลการปฏิบัติงานทั้งด้านปริมาณและคุณภาพที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ตามมาตรฐานทั่วไปที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกำหนดเท่านั้น

ความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีเกรงว่าจะได้รับนั้น มิได้เกิดจากคำสั่งย้าย ดังกล่าว

ไม่รับฟ้อง ไว้พิจารณา (คำสั่งที่ ๘๔๖ / ๒๕๕๐)

สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ ๆ ตน สมัยนี้แก้ง่ายยังกะแก้ผ้าซะแล้ว

พิสิษฐ์ พลรักษ์เขตต์

ที่มา: กฎหมายข้างตัว คณะกรรมการสอบสวนไม่เป็นธรรม เดลินิวส์ออนไลน์ วันเสาร์ ที่ 30 เมษายน 2554

No comments:

Post a Comment