Wednesday, July 20, 2011

ไทยติดอันดับ 2 นักท่องเที่ยวต่างชาติตายจากอุบัติเหตุสูงสุด

ทุกรัฐบาลจะเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพราะเป็นแหล่งสำคัญของรายได้และการสร้างงาน ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ม.ธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า การท่องเที่ยวทำให้เกิดรายได้ถึง 5.8 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองคลี่คลายลงระดับหนึ่ง แต่สถานการณ์ที่กำลังเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ คือ ความปลอดภัยในการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

องค์กรด้านความปลอดภัย (Make Road Safe & FIA Foundation) ได้ทำบันทึกชื่อ “การเดินทางที่เลวร้าย Bad Trip: International tourism and road death in developing world” ส่งไปถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเนื้อหาในหนังสือได้ระบุถึงปัญหาความปลอดภัยในการเดินทาง เฉพาะข้อมูลการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวชาวอเมริกา พบว่า ร้อยละ 72.6 ตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน (73% รถยนต์, 12% รถจักรยานยนต์, 7% เดินเท้า และ 3% รถสาธารณะ)

ที่น่าตกใจ คือ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ประเทศไทยถูกจัดอันดับความเสี่ยงในลำดับที่ 2 รองจาก ฮอนดูรัส โดยพบว่านักท่องเที่ยวอเมริกามีอัตราการตายในประเทศไทย ถึง 50 ต่อ ประชากรนักท่องเที่ยว 1 แสนคน (สูงกว่าอัตราการตายของคนไทย 18.7 ต่อประชากร 1 แสนคน) โดยระบุสาเหตุสำคัญคือ ประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่กลับไม่ให้ความสำคัญในการกำหนดนโยบายและมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการจัดการความปลอดภัยทางถนนให้กับนักท่องเที่ยว ปล่อยให้เป็นภาระของภาคเอกชนและธุรกิจท่องเที่ยวต้องลงทุนด้านความปลอดภัยเอง รวมทั้งขาดระบบติดตามกำกับในเรื่องนี้

ในช่วงเดียวกันนี้ ได้มีบันทึกเตือนความจำ (Memorandum: Reducing the incidence of motorcycle accidents in the tourism industry in Pai Thailand) เพื่อช่วยกันลดการตายจากอุบัติเหตุด้วยรถจักรยานยนต์ของนักท่องเที่ยว เขียนโดย Dr. Clive A Marks ส่งให้กระทรวงต่างๆ สำนักข่าวทั่วโลก และ ทุกสถานฑูตในประเทศไทย โดยมีแรงกระตุ้นในการเขียนจากการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ของเด็กหนุ่มชาวอเมริกัน วัย 19 ปี ที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน (เมื่อวันที่ 10 พค. 2554) และหนึ่งปีก่อนหน้านี้ ณ จุดเดียวกัน ก็มีเด็กหนุ่มวัย 19 ปีชาวอังกฤษ เสียชีวิตด้วยรถจักรยานยนต์ในลักษณะเดียวกัน (7 พค. 2553) ที่น่าตกใจคือ ยอดผู้บาดเจ็บเฉพาะรถจักรยานยนต์ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่มารักษากับโรงพยาบาลปาย สูงถึง 250 คน/ปี (ร้อยละ 50 ไม่สวมหมวกนิรภัย) ในตอนท้ายของบันทึกระบุอีกว่า เมืองท่องเที่ยงอื่นๆ เช่น ภูเก็ต พัทยา ฯลฯ ก็มีสถานการณ์ด้านความปลอดภัยทางถนน ที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน
ล่าสุดกรณีของ Bad Trip ที่สะเทือนขวัญและเป็นข่าวคึกโคมในอังกฤษ และถูกสื่อสารไปสู่นักท่องเที่ยวทั่วโลก เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมาคือ การเสียชีวิตของนักเรียนหนุ่มชาวอังกฤษ วัย 19 ปีจำนวน 3 คน ที่เลือกจะใช้เวลาช่วงก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย มาท่องเที่ยวในเมืองไทย โดยมีจุดเริ่มต้นจากถนนข้าวสารในกรุงเทพฯ จากนั้นนั่งรถทัศนาจร ต่อไปยังเชียงใหม่ แต่สุดท้ายกลับต้องมาจบชีวิตที่ อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ร่วมกับนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษอีก 1 คน

ในข่าวนี้ มีหลายสิ่งที่ถูกเผยแพร่และตั้งคำถามกลับมายังหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ที่มักจะละเลยต่อมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางถนน ตั้งแต่ มาตรฐานของคนขับรถ ซึ่งพบว่ามักจะขับเร็วเกินกำหนด การดื่มสุรา รวมทั้งความปลอดภัยของตัวรถ และสภาพของถนน ที่สำคัญคือการตั้งคำถามกับ ระบบการกำกับติดตามอย่างเอาจริงเอาจังจากตำรวจทางหลวง คมนาคม และความล้มเหลวของธุรกิจท่องเที่ยว ที่จะหาทางล๊อบบี้หรือผลักดันให้มีความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว

ดูเหมือนความเพิกเฉยของหน่วยงานรัฐตามที่ข่าวระบุไว้จะถูกยืนยันจาก ข่าวเมื่อวันที่ 7 กค.54 กรณีที่อุปนายกด้านการตลาดต่างประเทศ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต (คุณภูริต มาศวงศ์ศา) ได้ออกมาเรียกร้องรัฐบาลชุดใหม่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก ที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศปีละมหาศาล แต่สิ่งที่ทุกหน่วยงานของรัฐบาลจากส่วนกลางได้ปฏิเสธมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในสมัยไหน คือ การพัฒนาและยกระดับความสามารถของจังหวัดภูเก็ตให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานอย่างแท้จริง ทั้งระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ การจราจรพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว ที่ไม่สามารถจะหาบาทวิถีเดินชมเมืองหรือชายหาดได้ จนต้องลงมาเดินบนถนนและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ในฐานะที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ต้องไม่ละเลยและมองข้ามปัญหาของ “ความปลอดภัยทางถนนของนักท่องเที่ยว” โดยคิดว่าเป็นเรื่องของหน่วยงานหลักคือ กระทรวงคมนาคม และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ในฐานะผู้รับผิดชอบและสามารถกำหนดแนวทางในเรื่องนี้ได้โดยตรง ควรจะใช้โอกาสนี้ ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเดินทางบนท้องถนน

ข้อเสนอที่ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ สามารถดำเนินการได้ คือ สร้างความร่วมกับหน่วยงานหลัก เช่น กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ สถานทูต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว และ สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย ฯลฯ เพื่อเร่งดำเนินการ

(๑) วางแนวทางแก้ปัญหาในระยะยาว : โดยรวบรวมและศึกษาข้อมูลการเสียชีวิตของนักท่องชาวต่างชาติ ที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน เพื่อทราบขนาดปัญหา และ สาเหตุที่แท้จริง พร้อมทั้งจัดทำแผนงาน/มาตรการป้องกันแก้ไขอย่างเป็นระบบ

(๒) วางแนวทางการแก้ปัญหาที่ดำเนินการได้เลย ได้แก่

- วางหลักเกณฑ์ และระบบติดตามกำกับ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับรถทัศนาจรนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ตั้งแต่ มาตรฐานด้านคนขับ โครงสร้างและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ระบบประกันภัย

- การจัดทำคู่มือด้านความปลอดภัยในการเดินทางบนท้องถนน เช่น เส้นทางที่ปลอดภัย (โดยเฉพาะการส่งเสริมการเดินทางด้วยรถไฟ รถโดยสารประจำทาง หรือรถทัศนาจร ที่ได้มาตรฐาน) การปฏิบัติตัวเมื่อต้องเดินบนถนน การใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รวมทั้งข้อพึงระวังต่างๆ

- ส่งเสริมให้เมืองท่องเที่ยว ให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลและจัดระบบความปลอดภัยทางถนนของนักท่องเที่ยว เช่น การให้รางวัลเมืองท่องเที่ยวปลอดภัย การสนับสนุนให้มีศักยภาพในด้านการจัดการความปลอดภัย (การจัดฝึกอบรม และ มีระบบปรึกษาในเรื่องนี้)

ในทุกๆ ความสูญเสียที่เกิดกับที่ชีวิตของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แม้จะเป็นเพียงไม่กี่คน แต่เดิมพันด้วยผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็น ภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยว จำนวนเม็ดเงินกว่า 5.8 แสนล้านบาท รวมทั้ง ภาคธุรกิจและคนไทยที่ทำมาหากินอยู่กับการท่องเที่ยวอีกจำนวนมาก.. หวังเป็นอย่างยิ่ง ที่จะเห็นนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ให้ความสำคัญและลุกขึ้นมาเป็นหลักในการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก่อนที่จะเป็น “วัวหายล้อมคอก”

นพ. ธนะพงศ์ จินวงษ์
ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

ที่มา: ไทยติดอันดับ2 นักท่องเที่ยวต่างชาติตายจากอุบัติเหตุสูงสุด เดลินิวส์ออนไลน์ วันพุธ ที่ 13 กรกฎาคม 2554
--------------------

ใครจะมาเที่ยวเมืองไทยต้องระวังชีวิตให้ดี เพราะอาจไม่มีชีวิตกลับไป ใช่มั๊ย กทท.

No comments:

Post a Comment