Wednesday, July 6, 2011

บุตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย / ภาษาชาวบ้าน: บุตรนอกกฎหมาย (1) + (2)

บุตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย (1) / ภาษาชาวบ้าน: บุตรนอกกฎหมาย


ผมมีน้องสาวอายุ 26 ปี ได้เสียกับเพื่อนชายจนท้อง ต่อมาภายหลังจึงได้ทราบว่าชายผู้เป็นบิดาของเด็กมีภริยาตามกฎหมายอยู่แล้ว และชายผู้นี้ได้ปฏิเสธไม่ยอมรับผิดชอบเด็กที่เกิดมา จึงอยากจะทราบว่าถ้าน้องสาวกับชายผู้นี้ไม่เคยอยู่กินร่วมกันแต่มีบุตรด้วยกัน มีทางที่ฝ่ายหญิงจะเรียกร้องขอให้เด็กคนนี้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายได้หรือไม่

ตอบ

เด็กที่เกิดจากชายและหญิงที่ไม่ได้เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ถ้าหากชายประสงค์จะรับผิดชอบก็สามารถจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร หรือถ้าชายไม่มีภริยาชอบด้วยกฎหมายก็สามารถจดทะเบียนสมรสกับมารดาเด็กในภายหลัง ซึ่งจะทำให้เด็กกลายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายได้

แต่ถ้าหากชายปฏิเสธไม่ยินยอมรับเด็กเป็นบุตร จะต้องอาศัยคำพิพากษาของศาลโดยการฟ้องคดีขอให้ชายรับเด็กเป็นบุตรของชาย โดยการฟ้องได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555 ถึงเหตุในการฟ้องคดีให้รับเด็กเป็นบุตรไว้ ดังนี้

1. เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

2. เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาว หรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

3. เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน

4. เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น

5. เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้

6. เมื่อได้ร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น

7. เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร พฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตรนั้น ให้พิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรซึ่งปรากฏในระหว่างตัวเด็กกับครอบครัวที่เด็กอ้างว่าตนสังกัดอยู่ เช่น บิดาให้การศึกษา ให้ความอุปการะเลี้ยงดูหรือยอมให้เด็กนั้นใช้ชื่อสกุลของตนหรือโดยเหตุประการอื่น

ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ถ้าปรากฏว่าชายไม่อาจเป็นบิดาของเด็กนั้นได้ให้ยกฟ้องเสีย

ฉบับวันอังคารหน้าเราจะต่อกันในเรื่องพฤติการณ์ต่าง ๆ ทั้ง 7 กรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกรณีที่ 6 ที่หญิงชายเพียงแต่ได้เสียกันโดยสมัครใจโดยมิได้อยู่กินกันฉันสามีภริยา ต่อมาภายหลังจึงได้ทราบว่าชายมีภริยาอยู่แล้วหรือชายไม่รับผิดชอบเด็กที่เกิดมา ซึ่งในทางกฎหมายจะสามารถเรียกร้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้หรือไม่

วันอังคาร ที่ 24 พฤษภาคม 2554 เวลา 0:00 น

บุตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย (2) / ภาษาชาวบ้าน: บุตรนอกกฎหมาย

ฉบับที่แล้วเราทิ้งประเด็นปัญหากรณีที่หญิงชายได้เสียกันโดยสมัครใจและฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ แต่ชายไม่อาจรับผิดชอบได้เพราะมีคู่สมรสอื่นอยู่แล้ว หรือชายไม่ประสงค์จะรับผิดชอบก็ตาม ฝ่ายหญิงจะฟ้องคดีขอให้รับเด็กคนนี้เป็นบุตรของชายได้หรือไม่ ซึ่งแต่เดิมการที่หญิงได้เสียกับชายโดยสมัครใจไม่มีการบังคับขู่เข็ญ ล่อลวง หรือข่มขืนและได้ตั้งครรภ์กับชาย การจะฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรของชายได้ต้องมีข้อเท็จจริงสำคัญในกรณีอื่น ๆ เช่น การที่ชายและหญิงคู่นี้ได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้ (ในทางการแพทย์จะอยู่ในช่วงที่ชายและหญิงได้เสียกันในระยะเวลา 180 วัน ถึง 310 วัน ก่อนเด็กคลอด) หรือมีพฤติการณ์ที่อื่นใดที่เป็นที่รู้กันทั่วไปที่ชายผู้เป็นบิดาได้ยอมรับหรือแสดงให้เห็นว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรของตนด้วย เป็นต้น

แต่ปัจจุบันได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในเรื่องเหตุแห่งการฟ้องคดีให้กว้างขึ้น กล่าวคือ ได้แก้ไขเพิ่มเติมเหตุแห่งการฟ้องคดีดังกล่าวให้รวมถึง เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555(6)

ผู้ที่ฟ้องคดีจึงต้องพิสูจน์โดยนำพยานต่าง ๆ มาสืบให้เห็นว่า ได้มีการร่วมประเวณีระหว่างชายผู้เป็นจำเลยกับหญิงผู้เป็นมารดาในระยะเวลา 180 วัน ถึง 310 วัน ก่อนเด็กเกิด และประการสำคัญคือต้องมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น เช่น พิสูจน์หมู่เลือด, ดีเอ็นเอ รูปร่างหน้าตา หรือหญิงมิได้มีชายอื่นหรือพฤติ กรรมสำส่อน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ยังมีนักกฎหมายอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวที่เพียงแต่ชายหญิงได้เสียกันแล้วจะมาฟ้องคดีให้รับเด็กเป็นบุตรของชายได้จะทำให้อาจเกิดกรณีการฉวยโอกาสแอบอ้างว่าเด็กเป็นบุตรเพื่อขอรับมรดกของชายที่ตายได้ โดยฝ่ายชายจะพิสูจน์หักล้างได้ยาก นักกฎหมายฝ่ายนี้จึงเห็นว่าในภายภาคหน้าควรจะแก้ไขกฎหมายโดยการตัดเหตุแห่งการฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรกรณีนี้ออกไปเสีย

No comments:

Post a Comment