Wednesday, July 6, 2011

คู่สมรสในฐานะทายาทโดยธรรม (1) + (2)

คู่สมรสในฐานะทายาทโดยธรรม (1)

ดิฉันอยากทราบว่า การที่ผู้หญิงจดทะเบียนสมรสกับผู้ชายซึ่งทำให้กลายเป็นภริยาตามกฎหมายแล้วนั้น จะมีสิทธิในส่วนแบ่งทรัพย์มรดกของชายผู้เป็นสามีอย่างไรบ้าง และถ้าสามีมีทายาทอื่นด้วย จะแบ่งกันในสัดส่วนอย่างไร

ตอบ

คู่สมรสตามกฎหมายไม่ว่าฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิง หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตและมีทรัพย์มรดก คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ของเจ้ามรดกจะมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามกฎหมายด้วย หมายความว่าเจ้ามรดกอาจมีทายาทโดยธรรมตามกฎหมายประเภทอื่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ (1) ผู้สืบสันดาน, (2) บิดามารดา, (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน, (4)พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน, (5) ปู่ ย่า ตา ยาย, (6) ลุง ป้า น้า อา คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นเป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

โดยทายาทในลำดับบนจะตัดทายาทลำดับล่าง คือทายาทลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลยถ้าทายาทลำดับบนขึ้นไปยังมีชีวิตอยู่ ยกเว้นกรณีทายาทโดยธรรมลำดับสอง เพราะกฎหมายได้ให้บิดามารดาที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่เจ้ามรดกตายนั้น บิดามารดาจะได้ส่วนแบ่งเสมือนเป็นทายาทชั้นบุตร

สมมุติว่ามีครอบครัวหนึ่งสามีเสียชีวิต ทรัพย์สินของครอบครัวนั้นที่เป็นสินสมรสจะต้องนำมาแบ่งกันคนละครึ่งกับภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องครอบครัวก่อน ดังนั้นสินสมรสที่แบ่งแล้วครึ่งหนึ่งรวมกับสินส่วนตัวของผู้เสียชีวิตจะตกเป็นมรดกที่หากไม่มีพินัยกรรมกำหนดไว้ จะต้องนำมาแบ่งแก่ทายาทโดยธรรมต่อไป สรุปคือก่อนจะถึงขั้นตอนที่คู่สมรสจะรับมรดกของผู้ตาย คู่สมรสจะต้องมีส่วนแบ่งในสินสมรสครึ่งหนึ่งก่อนตามกฎหมายครอบครัว

หลังจากนั้นจึงมาพิจารณากฎหมายมรดก เนื่องจากคู่สมรสถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมด้วย กล่าวคือ ถึงแม้เจ้ามรดกจะมีทายาทโดยธรรมลำดับชั้นบนตามมาตรา 1629 อยู่ด้วย ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกก็ไม่อาจตัดสิทธิคู่สมรสในการที่จะได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกของสามีที่เสียชีวิตด้วย เพียงแต่ส่วนแบ่งของทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรสจะได้จำนวนเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าเจ้ามรดกมีทายาทโดยธรรมลำดับใดที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย

ที่มา: คลินิกกฎหมาย เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคาร ที่ 10 พฤษภาคม 2554

คู่สมรสในฐานะทายาทโดยธรรม 2


สิทธิและส่วนแบ่งในฐานะทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรสที่มีสิทธิรับมรดกของสามีที่เสียชีวิต ต้องดูประกอบกับลำดับชั้นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 กล่าวคือ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ ผู้สืบสันดาน (บุตร หลาน เหลน ลื้อ), บิดามารดา, พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน, พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน, ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นเป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635” ตามที่กล่าวไว้ในฉบับที่แล้วว่า ส่วนแบ่งของทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรสจะได้จำนวนเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าเจ้ามรดกมีทายาทโดยธรรมลำดับใดที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย สิทธิและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรม มีดังนี้

1. ถ้าเจ้ามรดกมีทายาทลำดับ (1) คู่สมรสมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเสมือนบุตร ตัวอย่าง เจ้ามรดกมีบุตร 3 คน มีภริยา 1 คน ภริยาจะได้ส่วนแบ่งเท่ากับบุตร คือทรัพย์มรดกของผู้ตายต้องแบ่งเป็น 4 ส่วน ภริยาได้ส่วนแบ่ง 1 ใน 4

2. ถ้าเจ้ามรดกมีทั้งทายาทลำดับ (1) และ (2) คือมีบุตรและบิดามารดาด้วย ภริยาจะได้ส่วนแบ่งเท่ากับบุตรและบิดามารดา ตัวอย่าง เจ้ามรดกมีบุตร 3 คน บิดา 1 คน มารดา 1 คน และภริยา 1 คน ทรัพย์มรดกของผู้ตายจะต้องแบ่งเป็น 6 ส่วน ภริยาได้ส่วนแบ่ง 1 ใน 6

3. ถ้าเจ้ามรดกไม่มีทายาทลำดับ (1) แต่มีทายาทลำดับ (2) คู่สมรสมีสิทธิได้ส่วนแบ่ง 1 ใน 2 ตัวอย่าง เจ้ามรดกไม่มีบุตร มีแต่บิดามารดาและภริยา เช่น มีเงินสด 1,000,000 บาท ภริยาได้ 500,000 บาท ส่วนบิดาได้ 250,000 บาท และมารดาได้ 250,000 บาท

4. ถ้าเจ้ามรดกมีแต่ทายาทลำดับ (4) หรือ (5) หรือ (6) กรณีใดกรณีหนึ่ง คู่สมรสได้ส่วนแบ่ง 2 ใน 3 ตัวอย่าง เจ้ามรดกไม่มีบุตร ไม่มีบิดามารดา มีแต่พี่น้องพ่อแม่เดียวกัน 3 คน และมีภริยา เจ้ามรดกมีเงินสด 900,000 บาท ภริยาได้ 600,000 บาท พี่น้อง 3 คน ได้คนละ 100,000 บาท

นอกจากนี้เพื่อความเป็นธรรมในหลักที่ว่าญาติสนิทตัดญาติห่าง กฎหมายจะมีเรื่องของการรับมรดกแทนที่ของทายาทโดยธรรมแต่ละลำดับที่จะตัดทายาทโดยธรรมลำดับหลังด้วย กล่าวคือ ถ้าทายาทโดยธรรมลำดับใดเสียชีวิตก่อนเจ้ามรดก แต่ทายาทโดยธรรมลำดับนั้นมีทายาท ทายาทก็เข้ารับมรดกแทนที่ด้วย เช่น เจ้ามรดกมีบุตร และบุตรแต่งงานแล้วมีบุตรสาว 1 คน ถ้าบุตรของเจ้ามรดกตาย หลานสาวของเจ้ามรดกจะในฐานะรับมรดกแทนที่บิดาที่จะตัดทายาทลำดับหลังของเจ้ามรดก สมมุติว่าถ้าเจ้ามรดกมีหลานสาวและภริยา ภริยาจะได้รับมรดกคนละครึ่งกับหลานสาว เนื่องจากหลานสาวได้เข้ามารับมรดกแทนที่บิดาซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (1) ของเจ้ามรดก เป็นต้น

และถ้าเจ้ามรดกไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับใดเลย รวมทั้งไม่มีการรับมรดกแทนที่ในทายาทลำดับใดด้วย คู่สมรสจึงจะมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดของเจ้ามรดกซึ่งเป็นสามีที่เสียชีวิต

ที่มา: คลินิกกฎหมาย เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคาร ที่ 17 พฤษภาคม 2554

No comments:

Post a Comment