Thursday, September 2, 2010

ญวนมองญวน (1 + 2-จบ)

"เวียดนาม" คือชื่อประเทศแถบอาเซียนที่คนไทยคุ้นหูกันดี! เป็นชื่อที่เหล่าเกจิและนักวิชาการ มักหยิบยกขึ้นมาเทียบเคียงเป็นคู่แข่งอนาคตของประเทศไทยที่ถ้ายังติดบ่วงขัด แย้งโงหัวไม่ขึ้น! ระวังจะ (พัฒนา) ตามหลังเวียดนามทั้งๆที่ไทยเรานำโด่งหน้ามาหลายเพลา

แต่คนญวนเองล่ะ! มองวิถีพัฒนาชาติบ้าน เมืองตัวเองอย่างไร? ญวนมองญวนจะเหมือนไทย มองญวนหรือไม่? โปรดติดตามได้เลยนับแต่นี้...

เมื่อ เร็วๆนี้ "สถาบันสังคมศาสตร์แห่งเวียด–นาม" (วีเอเอสเอส) จัดเวทีเสวนาดึงผู้เชี่ยวชาญโชว์ วิสัยทัศน์เต็มเวทีรวมทั้งตัวแทนจากธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และนายกรัฐมนตรีเวียดนาม นาย เหงียน ตัน ดุง ช่วยกันวิเคราะห์แนวทางพัฒนาประเทศว่าไปถึงไหน? อย่างไร? หรือเผชิญอุปสรรคขัดข้องตรงไหนบ้าง?

และมาได้บทสรุปมุมมองที่ว่า เวียดนาม ต้อง "คิดใหม่" ทบทวนอีกรอบถึง "ยุทธศาสตร์" บวกตัวเลขพัฒนาเศรษฐกิจ จนขับดันพ้นความยากจนขึ้นทำเนียบติดกลุ่มชาติเศรษฐกิจดีวัน ดีคืนในเอเชีย มิเช่นนั้นต้องเสี่ยงตก "ภาวะชะงักงัน"

รัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียดนาม ตั้งเป้าเป็น "ชาติอุตสาหกรรมร่ำรวย" ภายในปี 2563 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า แต่เหล่าเซียนบนเวทีข้างต้นมองว่าเป้าหมายที่ว่าทำท่าจะถึงก็ช่างไม่ถึงก็ ช่าง! ซะแล้ว และยังสุ่มเสี่ยงที่จะหลุดวงโคจรของชาติทั้งที่อยู่ในกลุ่มยากจนและชาติร่ำ รวย ชี้แนะเวียดนามจำเป็นต้องมีนวัตกรรม (สิ่งประดิษฐ์และองค์ความรู้ใหม่ๆ) และ แรงงานศักยภาพสูง เป็นพลังขับดันพัฒนาเศรษฐกิจ

สำหรับยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจที่ว่า คือนโยบายที่เรียกว่า "โด่ยเหมย" (Doi Moi) เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2529 ด้วยการหันหัวเรือจากระบบเศรษฐกิจแบบแผนสู่ระบบ "ตลาดเสรี" จนเจริญเติบโตรุดหน้าติดกลุ่มชาติเศรษฐกิจโตเร็วสุดในเอเชียในปัจจุบัน

แต่ผู้เชี่ยวชาญบนเวทีเสวนาเตือนด้วยว่า "โด่ยเหมย" กำลังอ่อนแรงขับเคลื่อน เพราะเผชิญปัญหาขัดข้องเหล่านี้คือ....แนวพัฒนาของรัฐที่มุ่งหาประโยชน์แต่ จากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกันมากเกินจนช้ำ! อีกทั้งมีแต่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ของรัฐรุมกินโต๊ะแบ่งเค้กกันอิ่มแปล้! ระบบเศรษฐกิจมหภาคขาด "พลวัต" (Dynamism) วงล้อการเงินหมุนอยู่แค่วงแคบๆ

ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า รวยกระจุกจนกระจาย คนเมืองอยู่สุขสบายแต่คนอยู่ชายแดนชนบทห่างไกลยังหิวโหย.....แต่ๆๆๆต้องขอ อภัยที่สัมปทานบรรทัดหมดซะก่อน...เหอะๆ! โปรด! ติดตามตอนต่อไป

เกรียงศักดิ์ จุนโนนยางค์

===ญวนมองญวน (2-จบ)
คราวที่แล้ว! กล่าวถึงมุมมองของชาวเวียดนามต่อแนวทางการพัฒนาประเทศ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคว่าเหมือนหรือแตกต่างจากที่เรามองเค้าอย่างไร? จากเวทีเสวนาจัดโดย "สถาบันสังคมศาสตร์แห่งเวียดนาม" (VASS) ซึ่งได้ข้อสรุปว่านโยบาย "โด่ยเหมย" (อิงระบบตลาดเสรี) ซึ่งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ เวียดนามใช้เป็น "ธง" นำการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2529 กำลังมาถึงจุดหักเห! สถานะทางเศรษฐกิจที่ว่าดีในปัจจุบัน อาจไม่ได้ดีดังที่เชื่อกัน เพราะพบว่าการพัฒนายังกระจุกตัว รอบนอกยังลำบาก ระบบโลจิสติกส์และการศึกษารวมทั้งเทคโนโลยียังถือว่าด้อย.......ต่อจากนี้ไป ขอเริ่มร่ายต่อให้จบเลย!

จากปัญหาข้างต้น ประธาน VASS ระบุว่าเวียด-นามเพิ่งหลุดโผกลุ่มชาติยากจนมา ความสำเร็จปัจจุบันก็ใช่ว่าจะยั่งยืน โครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่แข็งแกร่งและมั่นคงดีพอ ขาดองค์ความรู้เฉพาะทางรวมทั้งศักยภาพการแข่งขันและแรงงานฝีมือ ส่วนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยียังด้อยเมื่อเทียบคู่แข่งในภูมิภาค

แล้วระดับความเป็นอยู่ของชาวเวียดนามล่ะ! เป็นอย่างไร?

รายงาน ของเวิลด์แบงก์ร่วมกับ VASS ระบุว่า ณ ปี 2533 เวียดนามมีรายได้ต่อหัว (ประชากร) ต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ (ราว 3,100 บาท) และปีนี้มีรายได้ ต่อหัวราว 1,200 ดอลลาร์ (ราว 37,200 บาท) ขีดวัดความยากจนลดลงจาก 58% (ปี 2536) เหลือ 12% ในปีที่แล้ว

นายกฯ เหงียน ตัน ดุง ของเวียดนาม คาดการณ์ มั่นใจพอถึงปี 2563 (ปีเดียวกับที่ตั้งเป้าสำเร็จเป็น "ชาติอุตสาหกรรม") เวียดนามจะมีรายได้ต่อหัว 3,000-3,200 ดอลลาร์ (ราว 93,000-99,200 บาท) ท่ามกลางการตั้งคำถาม ตัวเลขคาดการณ์ของท่านนายกฯเหงียน อาจมาพร้อมกับ "ช่องว่าง" ความไม่เท่าเทียมระหว่างเขตเมืองกับชนบทเพิ่มระยะห่างกว้างขึ้นๆ

ผล การศึกษาของ VASS ที่นำเผยแพร่ในงานเสวนา พบด้วยว่ามีหลายประเทศกระเถิบมาถึงสถานะความเป็นชาติ "รายได้ปานกลาง" แต่ในกลุ่มนี้ยังมีน้อยที่ก้าวถึงสถานะความเป็นชาติ "มีรายได้สูง" ยกตัวอย่าง ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และ ไต้หวัน ใช้เวลาราว 3 ทศวรรษพัฒนาตัวเองจนติดกลุ่มชาติหรือเขตปกครอง "มีรายได้สูง" แต่ มาเลเซีย ไทย และ ฟิลิปปินส์ ยังติดอยู่แค่กลุ่มชาติ "รายได้ปานกลาง"

ผู้เชี่ยวชาญจากเวิลด์แบงก์มองว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือนานกว่านั้น เวียดนามอาจพัฒนาไปไกลจนกลายเป็นชาติอุตสาหกรรมร่ำรวย หรืออาจติดแหง็ก! อยู่แค่แนวรบด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม

เมื่อได้ข้อสรุปเช่น นี้แล้ว ต้องคอยติดตามกันดูต่อไปว่าเวียดนามจะก้าวข้ามอุปสรรคเดินหน้าสู่เป้าหมาย คือเป็นชาติอุตสาหกรรมได้หรือไม่ พร้อมๆกับเทียบเคียงสถานะของไทยเราเองด้วย!!

เกรียงศักดิ์ จุนโนนยาง

ที่มา: โดย เกรียงศักดิ์ จุนโนนยางค์ ไทยรัฐออนไลน์ 26 สิงหาคม 2553 และ วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน 2553

No comments:

Post a Comment