Wednesday, September 22, 2010

พัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมัน...รองรับอาฟต้า

กรมส่งเสริมการเกษตร พาไปดูงานการส่งเสริม การปลูกปาล์มน้ำมันคุณภาพดี ณ จ.กระบี่... ที่ทางกรมดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันปี 2551-2555 โดยใช้งบกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่ง ขันของประเทศ เพื่อถ่ายทอดความรู้และเป็นการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรและมุ่งเพิ่ม ประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิตและปรับปรุงคุณภาพผลผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีความสามารถผลิตปาล์มน้ำมันแข่งขันได้ในอนาคต

ความสำคัญของการปลูกปาล์มน้ำมันโดยทั่วไปคือ ปาล์มน้ำมันเป็นไม้ยืนต้นที่อนุรักษ์สภาพแวดล้อม รักษาความสมดุลของระบบนิเวศ เนื่องจากต้นปาล์มน้ำมันใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการเจริญเติบโตสูงกว่าหรือ เท่ากับป่าดงดิบเขตร้อนชื้น ปาล์มน้ำมันเป็นพืชยืนต้นที่มีอายุการให้ผลผลิตยาวนาน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต่อเนื่องทั้งปี ให้ผลผลิตน้ำมันต่อหน่วยพื้นที่สูงกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่น ส่งผลให้ ต้นทุนการผลิตน้ำมันต่อหน่วยต่ำกว่าน้ำมันพืชอื่น น้ำมันปาล์มสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายทั้งอุปโภค และบริโภค ทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ มากกว่า 600 ชนิด นอกจากนี้แล้ว ส่วนต่าง ๆ ของต้นและผล สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2551-2555 เพื่อใช้เป็นกรอบและทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมต่อ เนื่องอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายส่งเสริมและสนับสนุนให้เพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน เพื่อเป็นวัตถุ ดิบในการผลิตไบโอดีเซล จำนวน 2.5 ล้านไร่ ในระยะเวลา 5 ปี ส่วนหนึ่ง เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลกำหนด นโยบายด้านพลังงานทดแทนโดยที่มีเป้าหมายที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซลร้อยละ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 เพิ่มเป็นร้อยละ 5 ในปี 2553 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ในปี 2555

การส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศไทยในปัจจุบัน ประเด็นสำคัญอยู่ ที่ การลดต้นทุนการผลิต โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการ ใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความต้องการของต้นปาล์มน้ำมัน โดยแนะนำให้เกษตรกรตรวจวิเคราะห์ดิน และใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำ เพื่อให้ต้นปาล์มน้ำมันได้รับธาตุอาหารอย่างเหมาะสม เพื่อลดค่าใช้จ่ายปุ๋ยเคมี และช่วยเพิ่มผลตอบแทนแก่เกษตรกร

นอกจากนั้น การแนะนำส่งเสริม ให้เกษตรกรปรับปรุงคุณภาพผลผลิต โดยการเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มสุก ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง จะมีส่วนให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มสามารถสกัดน้ำมันได้เปอร์เซ็นต์สูง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มของประเทศลดลงตามไปด้วย

ในส่วนของจังหวัดกระบี่นั้น มีความเหมาะสำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน เพราะว่า จังหวัดได้รับอิทธิพลจากมรสุมจากทะเลทางฝั่งอันดามันและทะเลฝั่งอ่าวไทยตลอด ทั้งปี ทำให้ปริมาณน้ำฝนกระจายเฉลี่ยปี ละมากกว่า 2,000 มิลลิเมตรต่อปี และคุณภาพของชุดดินที่มีหน้าดินลึกสภาพดินเป็นดินร่วนเหนียวที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งมีความเหมาะสมต่อการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยิ่งและได้มีการปลูกปาล์ม น้ำมันเพื่อการพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทย โดยบริษัทอุตสาหกรรมและสวนปาล์มจำกัด (สวนเจียรวานิช) ได้เริ่มนำต้นปาล์มน้ำมัน มาปลูกเพื่อการพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2511 ที่อำเภอปลายพระยาเนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่ จากนั้นเกษตรกรในจังหวัดกระบี่ได้เริ่มปลูกและขยายพื้นที่เรื่อยมา จนปัจจุบัน จังหวัดกระบี่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 895,192 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ปลูกมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ เกษตรกรมากกว่า 2 หมื่นครัวเรือน ที่ประกอบอาชีพการ ทำสวนปาล์มน้ำมัน มีพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 788,599 ไร่ ผลผลิตปาล์มน้ำมันทะลาย สดที่ผลิตได้ในปัจจุบัน โดยเฉลี่ย 3,260 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตทะลายปาล์มสดที่ ผลิตได้ทั้งปี รวม 2.57 ล้านตัน มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 19 โรงงาน

ปัจจุบันปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในการสร้างรายได้ของ ประชาชนในจังหวัดกระบี่ และเป็นพืชสำคัญที่นำมาใช้เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายในการขยายพื้นที่การปลูก เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมัน ให้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งในการเพิ่มปริมาณผลผลิตปาล์มโดยการขยายพื้นที่ปลูก จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 4 ปี ประกอบกับจังหวัดกระบี่มีพื้นที่จำกัด ในการขยายพื้นที่ปลูก จึงจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิต ต่อไร่สูงขึ้น ซึ่งในการเพิ่มปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมัน สามารถทำได้โดยการเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันจากการสกัดน้ำมันให้ สูงขึ้น

...ที่กระบี่เขามีวิธีการเพิ่มปริมาณ ผลผลิตอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไปวันพุธหน้า

จีร์ ศรชัย
===
พุธ ที่ผ่านมากล่าวถึงเรื่องที่ กรมส่งเสริมการเกษตร พาไปดูงานการส่งเสริม การปลูกปาล์มน้ำมันคุณภาพดี ณ จ.กระบี่... ที่ปัจจุบันปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในการสร้างรายได้ของ ประชาชนในจังหวัดกระบี่ และเป็นพืชที่มีความสำคัญที่นำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนอีกด้วย

สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการถ่ายทอดความรู้ สู่เกษตรกรชาวสวนปาล์ม และลานเทปาล์มน้ำมัน เห็นว่า ทางหนึ่งที่สามารถเพิ่มเปอร์ เซ็นต์น้ำมันจากการสกัดให้สูงขึ้นได้ คือ การจัดการผลิตที่มีคุณภาพในระดับชาวสวนและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง โดยรณรงค์ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้นำท้องถิ่น ผู้รับจ้างเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันและ ผู้ประกอบการลานเท ในการจัดการผลผลิตปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพสู่โรงงาน และเพื่อเป็นฐานในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการผลิตของเกษตรกร ของลานเทและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม อีกทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาอาชีพของจังหวัดกระบี่ให้ เป็น กระบี่เมืองปาล์มน้ำมัน สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการส่งเสริมการผลิตพืช (ปาล์มน้ำมัน) โครงการกระบี่เมืองปาล์มน้ำมันคุณภาพใช้หลักการปฏิบัติ 3 ดี

1. การใช้พันธุ์ปาล์มดี การเลือกใช้พันธุ์มีความสำคัญมาก ถ้าเลือกใช้พันธุ์ผิดจะทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่าย จะต้องเป็นพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอร์ร่า (DXP) เป็นพันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 1 ได้จากการผสมระหว่างพ่อพันธุ์ คือ ฟิสิเฟอร่า และแม่พันธุ์ คือ ดูร่า ทั้งพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์นี้จะต้องผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์เพื่อคัด เลือกสายพันธุ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งรวมเอาคุณสมบัติดีเด่นของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เข้าด้วยกัน พันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมที่นิยมปลูก เป็นแม่พันธุ์เดลิดูร่า ( Deli Dura ) เป็นกลุ่มพันธุ์ที่นิยมใช้เป็นแม่พันธุ์ของพันธุ์ลูกผสมเทเนอร์ร่า (DXP) เนื่องจากมีลักษณะดีเด่น คือ มีความสามารถในการถ่ายทอดลักษณะทางกรรมพันธุ์ที่ดีสู่ลูกหลาน เช่น ให้ผลผลิตทะลายผลปาล์มสดสูงและสม่ำเสมอ องค์ประกอบของน้ำมันต่อทะลายดี มีการเจริญเติบโตดีและแข็งแรง เมื่อนำมาผสมกับพ่อพันธุ์ (Disifera) กลุ่มต่าง ๆ จะได้ลูกผสมที่มีลักษณะและคุณสมบัติดีเด่น และเหมาะสำหรับใช้ปลูกในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ

เมื่อได้เมล็ดพันธุ์ที่ดีแล้ว การอนุบาลต้นกล้าพันธุ์มีความสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง การดูแลรักษาต้นกล้าระยะแรกจนถึงนำไปปลูกในแปลงจริง (อายุปลูก 10-12 เดือน) โดยเฉพาะต้นกล้าในถุงพลาสติกสีดำ วางในแปลงกลางแจ้ง ให้น้ำ ให้ปุ๋ย กำจัดวัชพืช ในระยะอนุบาลนี้จะต้องมีการคัดทิ้งต้นกล้าประมาณ 10-25% โดยคัดต้นที่มีลักษณะผิดปกติทิ้ง เพื่อไม่ให้ต้นพันธุ์เหล่านี้ลงไปสู่แปลง จะทำให้เสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

2. การจัดการสวนที่ดี เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชอายุยาว ดังนั้นในการบริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมันจะต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลัก วิชาการ เพราะหากมีการบริหารจัดการผิดพลาดไปในช่วงแรก ก็จะมีผลต่อการให้ผลผลิตในช่วงต่อไปของปาล์มน้ำมัน การบริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมันจะมีการจัดการแตกต่างกันตามช่วงอายุของปาล์ม น้ำมัน ซึ่งสามารถแบ่งการจัดการได้ 4 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 การจัดการสวนปาล์มน้ำมันก่อนให้ผลผลิต : เป็นการจัดการสวนปาล์มน้ำมันตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงระยะก่อนการเก็บเกี่ยวผล ผลิต ช่วงดังกล่าวจะใช้เวลา 30-36 เดือนหลังการปลูก การจัดการในช่วงนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความสมบูรณ์ของปาล์มน้ำมัน ทั้งในด้านคุณภาพของต้นปาล์มน้ำมันและประชากรปาล์มน้ำมันในพื้นที่ปลูก

ช่วงที่ 2 การจัดการสวนปาล์มน้ำมันในช่วงเร่งผลผลิต : การจัดการช่วงนี้จะเริ่มเมื่อปาล์มน้ำมันมีอายุครบ 3 ปี ตั้งแต่เริ่มต้นให้ผลผลิตจนกระทั่งทำให้ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตสูงสุดตาม ศักยภาพของปาล์มน้ำมัน ซึ่งระยะเวลาในช่วงนี้จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับเทคนิคในการจัดการของแต่ละ บุคคลและความเหมาะสมของพื้นที่ปลูก รวมถึงการใช้ปัจจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตที่แตกต่างกัน เช่น ในบางกรณีอาจมีการจัดการให้ผลผลิตสูงสุดภายใน 2 ปีของช่วงที่ 2 (ผลผลิตสูงสุดในปีที่ 5 ) แต่บางกรณีอาจจะต้องใช้เวลานานถึง 4 ปี หลังการปลูก (ผลผลิตสูงสุดในปีที่ 7)

ช่วงที่ 3 การจัดการสวนในช่วงรักษาระดับผลผลิตที่สูงสุด : การจัดการช่วงนี้จะเป็นการรักษาระดับผลผลิตที่สูงที่สุดให้มีความต่อเนื่อง นานที่สุด ตัวอย่างเช่น มีการจัดการสวนปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตสูง 4 ตัน/ไร่/ปี ในปีที่ 6 และรักษาระดับการให้ผลผลิตระดับ 4 ตัน/ไร่/ปี จนปาล์มน้ำมันอายุ 20 ปี จะได้ผลผลิตรวมมากกว่าการรักษาระดับการให้ผลผลิตระดับ 4 ตัน/ไร่/ปี แค่ปาล์มน้ำมันอายุ 15 ปี (เมื่อปาล์มน้ำมันอายุ 16 ปี ระดับผลผลิตจะลดลง)

ช่วงที่ 4 การจัดการสวนปาล์มน้ำมันในช่วงผลผลิตลดลง : เมื่อปาล์มน้ำมันอายุมากขึ้นผลผลิตจะลดลง ซึ่งการที่ผลผลิตจะลดลงเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการจัดการสวนในช่วงที่ 3 การจัดการสวนในช่วงนี้จึงเน้นการลดต้นทุนการผลิต เช่น การใช้ปุ๋ยน้อยลง หรือทำลายต้นที่ให้ผลผลิตน้อย

3. การเก็บเกี่ยวดี (ปาล์มสุก) การเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องจะทำให้ทะลายปาล์มน้ำมันมีคุณภาพดี มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง ซึ่งจะมีผลต่อราคาปาล์มน้ำมันด้วย (เปอร์เซ็นต์น้ำมัน หมายถึง เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักน้ำมันที่หีบได้ เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำหนักทะลายปาล์มสดที่เกษตรกรนำมาขายให้กับโรงงาน) ปัจจัยที่กำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำมันในทะลายจะประกอบด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่ องค์ประกอบผล องค์ประกอบของทะลาย และความสุกของผลในทะลาย ซึ่งแต่ละปัจจัยต่างก็มีผลต่อเปอร์ เซ็นต์น้ำมันทั้งสิ้น.

จีร์ ศรชัย

ที่มา: พัฒนาปาล์มน้ำมัน...รองรับอาฟต้า เดลินิวส์ออนไลน์ วันพุธ ที่ 11 สิงหาคม 2553 และ วันพุธ ที่ 18 สิงหาคม 2553

นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนให้ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ร่วมกับสหกรณ์สมาชิกหลัก 11 สหกรณ์ และสหกรณ์สมาชิกสมทบ 17 สหกรณ์ สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจรวบรวมผลผลิตปาล์ม น้ำมันของเกษตรกรสมาชิก เพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มของชุมนุมสหกรณ์ฯ ซึ่งมีกำลังการผลิต 1,200 ตัน/วัน เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตให้แก่สมาชิก พร้อมสร้างความมั่งคั่งให้กับสหกรณ์เครือข่ายแต่ละแห่ง ตลอดจนช่วยให้เกษตรกรสมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยปี 2552 ที่ ผ่านมา สามารถรวบรวมผลผลิตปาล์มน้ำมันของสมาชิกได้ประมาณ 245,968 ตันทะลายสด คิดเป็นมูลค่ากว่า 944 ล้านบาท

ปี 2553 นี้ ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ฯ ได้ตั้งเป้ารวบรวมผลผลิตปาล์มน้ำมันไว้ จำนวน 290,000 ตันทะลายสด ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคมที่ผ่านมา สามารถรวบรวมผลผลิตของเกษตรสมาชิกได้แล้วกว่า 215,000 ตัน โดยรับซื้อราคาตันละ 5,300 บาท ทำให้ชุมนุมสหกรณ์ฯมีผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจแล้วไม่น้อยกว่า 110 ล้านบาท ซึ่งปีนี้คาดการณ์ว่า ผลกำไรจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นถึง 120 ล้านบาท

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์ หน้าเกษตร สหกรณ์ปาล์มน้ำมัน กำไรกว่า 110 ล้าน วันอังคารที่ 21 กันยายน 2553

No comments:

Post a Comment