Wednesday, September 1, 2010

เรื่องหน่วยงานเขียนกฎหมายให้อำนาจตัวเองนี่เป็นกันแทบทุกแห่ง เรื่องเหล้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ

วันนี้เป็นวันรพี วันสำคัญของนักกฎหมายไทย เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย

มีกิจกรรมทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชนมากมายหลายแห่งทั้งที่ศาล และคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านทั้งหลายไปเยี่ยมชมกัน

กฎหมายข้างตัวจึงขอนำคดีปกครองที่น่าเป็นประโยชน์กรณีโต้แย้งกันว่ากฎหมาย ที่บังคับใช้ บางเรื่อง บางประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

จะมีแนวทางในการขอความเป็นธรรมจากศาลได้อย่างไร

เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงงดเหล้า เข้าพรรษา จึงขอนำคดีเรื่องเหล้านะโยม

เหล้าหรือสุราที่ชาวบ้านแปลว่ากินมาก ๆ แล้วเห็นช้างเท่าหมูนั้น พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านนิยามไว้ตามมาตรา ๔ ว่า สุราหมายความรวมถึงวัตถุทั้งหลายหรือของผสมที่มีแอลกอฮอล์ซึ่งสามารถดื่มกิน ได้เช่นเดียวกับน้ำสุราหรือซึ่งดื่มกินไม่ได้ แต่เมื่อได้ผสมกับน้ำหรือของเหลวอย่างอื่นแล้วสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับ น้ำสุรา

และจะเป็นเหล้าได้ ต้องมีสิ่งที่ พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ ตามมาตรา ๔ เรียกว่า เชื้อสุรา ซึ่งหมายถึง แป้งเชื้อสุรา แป้งข้าวหมักหรือเชื้อใด ๆ ซึ่งเมื่อหมักกับวัตถุหรือของเหลวอื่นสามารถทำให้เกิดแอลกอฮอล์ที่ใช้ทำสุรา ได้ มาเป็นเหตุเป็นปัจจัยในการผลิตสุราเสียก่อน

ทางธรรมนั้นท่านห้ามดื่มสุราเด็ดขาด ส่วนทางโลกกรมสรรพสามิตท่านมีมาตรการเสริมห้ามมิให้ทำสุราโดยไม่ขออนุญาต ดังที่มาตรา ๒๔ แห่งพ.ร.บ.สุราฯ กำหนด ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดทำหรือขายเชื้อสุรา เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานสรรพสามิต

และ มาตรา ๒๖ บังคับให้ ใบอนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะในสถานที่ที่ระบุ ไว้ในใบอนุญาตและผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องแสดงใบอนุญาตนั้นไว้ในที่เปิดเผย เห็นได้ง่าย

อนิจจา อุตส่าห์เป็นมาตรการเสริมความดีทั้งสองมาตราดันถูกฟ้องว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ

โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่งซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิตให้ทำและขายแป้งข้าวหมัก

ปรากฏว่ากรมสรรพสามิตท่านอ้างระเบียบกรมสรรพสามิตว่าด้วยการทำและขายแป้ง ข้าวหมัก พ.ศ. ๒๕๒๔ อนุญาตให้ขายได้เฉพาะที่ร้านของผู้ขออนุญาตค้าเท่านั้น อย่าคิดขายทั่วบ้านทั่วเมืองเป็นอันขาด เหล้า เบียร์ ของมึนเมาไม่อยากส่งเสริม

ขายได้ที่ร้านที่เดียวแล้วเมื่อไรจะรวยกับเขาละท่าน เห็นเป็นคนแก่วางระเบิดเก่งรึไง

จึงฟ้องต่อศาลปกครอง อ้างว่าสิทธิ เสรีภาพของประชาชนในการประกอบอาชีพย่อมได้รับการคุ้มครอง นอกจากนั้น การผลิตและขายแป้งข้าวหมักเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งย่อมได้รับความคุ้มครอง ในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ตามบทบัญญัติมาตรา ๕๐ และมาตรา ๔๖ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี ๒๕๔๐ (ขณะนั้น)

ขอให้ศาลพิพากษาให้กรมสรรพสามิตยกเลิกสัญญาที่ให้ห้าง ผู้ฟ้องคดีขายแป้งข้าวหมักเฉพาะในสถานที่กรมสรรพสามิตกำหนด ให้ออกใบอนุญาตค้าได้โดยเสรี ใครใคร่ค้า ค้า ใครใคร่ขาย ขาย

ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

ห้างผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ และขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ามาตรา ๒๔ ที่ให้ขออนุญาตต่อกรมสรรพสามิตเสียก่อนนั้นรวมทั้งมาตรา ๒๖ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าเมื่อผู้ฟ้องคดี โต้แย้งว่ามาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๖ พ.ร.บ.สุราฯ ขัดต่อมาตรา ๔๖ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญและยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ใน กรณีนี้มาก่อน จึงให้ส่งข้อโต้แย้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยและให้รอการพิจารณาคดี ไว้

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมี คำวินิจฉัยที่ ๒๕/๒๕๔๗ ว่าแป้งข้าวหมักไม่ใช่เชื้อสุราในตัวเอง ใคร ๆ เขาเอาไปทำอาหาร ยารักษาโรคกันทั้งนั้น การห้ามทำหรือขายเชื้อสุรา ซึ่งหมายรวมถึงแป้งข้าวหมักด้วยนั้น เป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรี มาตรา ๒๔ แห่ง พ.ร.บ.สุราฯ เฉพาะในความหมายที่หมายถึงแป้งข้าวหมัก จึงขัดหรือแย้งต่อมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญ (๒๕๔๐) และทำให้มาตรา ๒๖ ที่ให้ใช้ใบอนุญาตเฉพาะในสถานที่ที่ระบุไว้อันเป็นมาตราต่อเนื่องกับมาตรา ๒๔ ในส่วนที่บังคับเชื้อสุราที่เป็นแป้งข้าวหมักขัดหรือแย้งและใช้บังคับไม่ได้ ด้วย

ศาลปกครองสูงสุดจึงวินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลทำให้ การทำและขายแป้งข้าวหมัก ไม่อยู่ในบังคับต้องขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานสรรพสามิตทั้งตามมาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๖ แห่ง พ.ร.บ.สุราฯ อีกต่อไป

การออกระเบียบโดยอ้างอำนาจหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๖ จึงเป็นระเบียบที่ออกโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ ไม่ถูกต้องตามมาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๖ ดังกล่าว

การที่เจ้าพนักงานของกรมสรรพสามิตกำหนดในสัญญาให้ผู้ฟ้องคดีให้ต้องค้าแป้ง ข้าวหมักในสถานที่ตั้งสำนักงานของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น จึง เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย สัญญาดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับกับผู้ฟ้องคดี

พิพากษากลับ ให้กรมสรรพสามิต ยกเลิกสัญญาดังกล่าว ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๖๖/๒๕๔๗)

เรื่องหน่วยงานเขียนกฎหมายให้อำนาจตัวเองนี่เป็นกันแทบทุกแห่ง

พิสิษฐ์ พลรักษ์เขตต์

ที่มา: เรื่องเหล้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ กฎหมายข้างตัว เดลินิวส์ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 07 สิงหาคม 2553
เรื่องหน่วยงานเขียนกฎหมายให้อำนาจตัวเองนี่เป็นกันแทบทุกแห่ง

No comments:

Post a Comment