Thursday, September 2, 2010

สหรัฐ: สถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง

หนึ่งในคำมั่นสัญญาสำคัญที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา ที่มีต่อประชาชนช่วงหาเสียงเลือกตั้งในปี 2551 คือการถอนกำลังทหารอเมริกันออกจากอิรัก หลังอดีตรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประกาศสงครามเมื่อปี 2546 และกินเวลายืดเยื้อมานานกว่า 7 ปี

วัน ที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา กองทัพสหรัฐฯ ประกาศสิ้นสุดภารกิจถอนกำลังทหารหน่วยปฏิบัติการสู้รบออกจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วอิรักอย่างเป็นทางการ ทำให้ผู้สนับสนุนรัฐบาลกล่าวว่า นี่เป็น "ความคืบหน้า" ประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในยุคโอบามา

แต่นักวิเคราะห์ ด้านการเมืองฟันธงว่าแม้จะถอนทหารหน่วยปฏิบัติการสู้รบออกมาได้สำเร็จก็มิ ได้หมายความว่าจะไม่มีการส่งทหารอเมริกันไปประจำการที่อิรักอีก เพราะในความเป็นจริงยังมีทหารอเมริกันอีกกว่า 50,000 นายอยู่ในอิรักต่อ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการฝึกอบรมและวางแผนการจัดการกองทัพร่วม กับรัฐบาลอิรัก

นอกจากนี้ รัฐบาลโอบามายังได้สั่งเพิ่มกำลังทหารอเมริกันให้ไปประจำการที่อัฟกานิสถาน เพื่อทำ "สงครามต่อต้านก่อการร้าย" ร่วมกับกองกำลังทหารนาโตอย่างดุเดือดเลือดพล่านเหมือนเดิม

ส่วน "งบประมาณ" ที่รัฐบาลมอบให้กองทัพยังคงไม่มีการพิจารณา "ตัดทอน" แต่อย่างใด แม้ว่าประชาชนจำนวนมากจะสะท้อนความเห็นผ่านโพลหลายโพลว่า รัฐบาลควรจะลดงบด้านการทหารลง และนำไปเพิ่มให้กับงบพัฒนาหรือแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจแทน เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของคนในประเทศ

ทว่า การหั่นงบประมาณของกองทัพเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกไม่มีใครอยากเสี่ยงคัดง้างกับอำนาจของกองทัพ ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐฯ ที่เชื่อมั่นในเสรีประชาธิปไตยอย่างมาก

ยิ่งเมื่อพิจารณาเงื่อนไขของการใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพสหรัฐฯ ก็จะพบว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอาวุธและเทคโนโลยีสงคราม, บริษัทเครื่องบิน รวมถึงบริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และการวางแผน คือ "ผู้ได้รับผลประโยชน์" จากการใช้จ่ายงบประมาณทหารก้อนโต และบริษัทเหล่านั้นล้วนเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่ให้งบสนับสนุนการหาเสียง เลือกตั้งของพรรครีพับลิกันซึ่งเป็นพรรครัฐบาลยุคก่อน

หากรัฐบาลโอบา มาคิดจะหั่นงบประมาณกองทัพก็ต้องเจอกับแรงต้านจากพรรคฝ่ายค้านที่แรงกว่าเดิม อีกทั้งนายโรเบิร์ต เกตส์ ผู้รั้งตำแหน่ง รมว.กลาโหม ก็สังกัดพรรครีพับลิกัน และเป็นกุนซือด้านการทหารคนสำคัญที่รัฐบาลโอบามายังต้องพึ่งพาอาศัยฝีมือกันอยู่

การถอนทหารอิรักจึงเป็นแค่ "การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า" เพื่อลดแรงกดดันจากสังคมเท่านั้น

ตติกานต์ เดชชพงศ

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ โดย ตติกานต์ เดชชพงศ วันพุธที่ 1 กันยายน 2553

No comments:

Post a Comment