Sunday, September 12, 2010

เมื่อไหร่จึงจะเรียกว่า ‘อ้วน’!

‘มุมสุขภาพ’ เปิดสัปดาห์นี้ด้วยบทความชิ้นพิเศษจาก ‘นพ.พินิจ กุลละวณิชย์’ ที่นำวิธีการประเมินตนเองว่า กำลังอ้วนแล้วหรือไม่...

ช่วง 2 เดือนนี้เป็นช่วงหยุดสมัยประชุมรัฐสภา ส.ส. และโดยเฉพาะ ส.ว. จึงเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศกันใหญ่ ผมเองก็เช่นกัน ตั้งแต่มิถุนายนจนถึงบัดนี้ ได้เดินทางไป New York ในฐานะเลขาธิการของ AFPPD หรือ Asian Forum of Parliamentarians on Population and Development หรือองค์การสมาชิกรัฐสภาแห่งเอเชียด้านประชากรและการพัฒนา เพื่อร่วมรับรางวัล United Nations Population Award ประจำปี จากสหประชาชาติที่มอบให้แก่ AFPPD ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีผลงานดีเด่นทางด้านประชากร

ไปแอฟริกาใต้เพื่อดูการแข่งขันฟุตบอลโลกกับคณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา ไป Spain และ Morocco กับกรรมาธิการ การสาธารณสุข ไป Romania, Frankfurt, London, Malta, Sicily ทั้งส่วนตัวในฐานะแพทย์ ในฐานะเลขาธิการของ AFPPD และกับวุฒิสภา

ทำให้ผมน้ำหนักตัวขึ้นในระยะนี้ถึง 3 กิโลกรัมจากเดิม 80 กก. เป็น 83 กก.

เหตุผลที่ผมอ้วนขึ้นเพราะ หนึ่ง อยู่ที่บ้านผมตื่น 5.45 น. ไปสอนแพทย์ที่ รพ.จุฬา ตั้งแต่ 6.45 น. และไม่ทานอาหารเช้า กลางวันมักทานก๋วยเตี๋ยวจานเดียว เย็นถ้าทานที่บ้านมักทานซุปผัก สลัด ปลา ข้าว(1 จาน) ผลไม้ (แต่ถ้าออกนอกบ้าน เช่นเมื่อคืนก็ทานหมูหัน ฯลฯ เหมือนกัน!) และสอง ไม่ค่อยได้มีโอกาสออกกำลังกาย ยกเว้นถ้ามีโอกาสเดินขณะที่ผู้อื่นไป shopping หรือในขณะที่กำลังเดินทัศนศึกษา

ทำไมจึงรู้ว่าตัวเองอ้วน?...

ง่ายที่สุด คือ หนึ่ง ดูพุงตนเอง! สำหรับคนไทยถ้าพุงชายมากกว่า 90 ซม.(36 นิ้ว) หญิงมากกว่า 80 ซม. ไม่ว่าจะมีรูปร่างใหญ่โตแค่ไหนก็ถือว่าอ้วนแล้ว แต่ในทางตรงกันข้ามคนที่ตัวเล็ก เตี้ย พุงเกิน 90 ซม.ก็อาจอ้วนเกินไปแล้ว พุงหรือเอวต้องเล็กกว่าสะโพก

สอง ดูดัชนีมวลกาย หรือ body mass index, BMI, ซึ่งก็คำนวณได้จาก น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเมตรกำลังสอง เช่น ผม(ในยามปกติ แต่ไม่ใช่ขณะนี้) มีน้ำหนักตัว 80 กก. สูง 1.78 เมตร BMI คือ 80 หาญ 1.78 ยกกำลัง 2 = 25.25 ซึ่งถือว่าอ้วนไปหน่อย (แต่ขณะนี้น้ำหนักตัวผม 83 กก. ด้วยเหตุผลดังกล่าวและพุงใหญ่ 37-38 นิ้ว!)

องค์การอนามัยโลก, WHO, บอกว่าผู้ที่น้ำหนักตัวปกติ BMI ควรอยู่ระหว่าง 18.5 – 24.9, BMI ระหว่าง 25 – 29.9 ถือว่าน้ำหนักเกิน (แต่ยังไม่เรียกว่าอ้วน – obese) 30 ขึ้นไปจึงจะเรียกว่าอ้วน

แต่สำหรับคนเอเชีย(และไทย) WHO ให้ค่าปกติอยู่ที่ 18.5 – 23, 23.1 – 24.9 ถือว่าน้ำหนักเกิน, 25 ขึ้นไปจึงจะถือว่าอ้วน ซึ่งวิธีคิดของ WHO สำหรับคนไทยผมว่าดีมาก เพราะทำให้คนไทย (น่าที่จะ!) ระวังตัวเองมากขึ้น และเร็วกว่าชาวต่างประเทศ ผมเองขนาดมี BMI 25.25 เท่านั้น (เกินไปนิดเดียว) แต่พุงยังโตมาก ถึงแม้รูปร่างจะค่อนข้างสูงสำหรับคนไทย และส่วนอื่นๆ ของร่างกายไม่อ้วนเลย

คนเราอ้วนขึ้นเพราะเราทานพลังงานเข้าไปในร่างกายมากกว่าที่เราใช้

เราใช้พลังงานสำหรับ 3 อย่าง หนึ่ง สำหรับขั้นพื้นฐาน เพื่อความอยู่รอดของชีวิต หรือ basal metabolic rate สอง สำหรับการย่อยและดูดซึมอาหาร สาม ในการออกกำลังกาย

เมื่อเราเป็นหนุ่มเป็นสาวเราทานอาหาร ขนม เท่าไหร่ก็ไม่อ้วน เพราะเราใช้พลังงานมาก หรือที่เรียกกันว่าค่อนข้างเป็นคน active หรืออยู่ไม่ค่อยสุข แต่พอเรามีอายุสูงขึ้น เช่น เมื่อมีอายุเกิน 40 ปี เราจะไม่ค่อยออกกำลังกาย รวมทั้งอัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกายจะลดลง หรือพูดง่ายๆ ได้ว่า “ร่างกาย” กินน้ำมันน้อยเมื่อมีอายุสูงขึ้น ทำให้ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปถ้าทานอาหารเท่าเดิมเหมือนเมื่อก่อนอายุ 40 ปี และออกกำลังกายเท่าเดิม น้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นปีละ ½ กิโลกรัม! ซึ่งฟังดูไม่มาก แต่ 10 ปีน้ำหนักตัวจะขึ้นถึง 5 กิโลกรัม! 20 ปี จะเพิ่มขึ้น 10 กิโลกรัม!

…เรื่องราวสุขภาพว่าด้วยเรื่อง ความอ้วนจากบทความของ นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ ยังไม่จบ เพราะพรุ่งนี้ยังมีโรคร้าย ๆ ที่จะตรงเข้ามารุมเร้าแน่ ๆ ถ้าปล่อยตัวให้ อ้วน!

takecareDD / gmail.com

ที่มา: มุมสุขภาพ เดลินิวส์ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 13 กันยายน 2553

No comments:

Post a Comment