Monday, September 6, 2010

ดอกเบี้ย ค่าบาท สถาบันการเงินพันธกิจหนัก 5 ปี "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล"

ย่างก้าวสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ท่ามกลางความเปราะบางของการฟื้นตัว และแนวโน้มที่เสี่ยงต่อการชะลอตัวลงอีกของเศรษฐกิจโลกเมื่อเข้าสู่ ไตรมาสที่ 3

ขณะที่แรงขับเคลื่อนหลักในการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประเทศไทยซึ่งก็คือ การส่งออก กำลังถูกกระทบอย่างหนักจากการที่เศรษฐกิจโลกมีโอกาสจะกลับไปสู่วิกฤติอีก ครั้ง หลังการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ในช่วงที่ผ่านมา ไม่สามารถยืนระยะอย่างมั่นคงและต่อเนื่องได้

ผสมโรงกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงขณะนี้ แข็งค่าขึ้นแล้วมากกว่า 6.5% สูงกว่าการแข็งค่าของคู่แข่งทุกประเทศในภูมิภาคนี้ ยกเว้นก็แต่เพียงมาเลเซียเท่านั้น สิ่งนี้กำลังกลายเป็นปัญหาที่กระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งยังก่อให้เกิดความกังวลใจ เมื่อเริ่มเห็นแรงเก็งกำไรค่าเงินบาทที่เพิ่มมากขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง "อัตราเงินเฟ้อ" ซึ่งอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมาหลายปี ได้ขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีกตามการใช้จ่าย และลงทุนภาคเอกชนที่จะมากขึ้นในอนาคต รวมทั้งการจ่อขึ้นราคาสินค้าหลายรายการตามต้นทุนที่สูงขึ้น และการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการของรัฐบาล

ด้วยเหตุผลนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องกัน 2 ครั้ง ครั้งละ 0.5% ขณะเดียวกัน ก็ส่งสัญญาณการปรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยจากขาลง ซึ่งคงอัตราดอกเบี้ยต่ำไปเป็นอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นตลอดช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และปีหน้า แม้จะมีกระแสวิพากษ์ วิจารณ์ถึงจังหวะเวลาที่ไม่เหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ตาม

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นช่วงจังหวะที่ท้าทายของ ธปท.ในฐานะเป็นผู้กำหนดนโยบายดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อประคับประคองการขยายตัวให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง พร้อมกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้คงอยู่ต่อไป

แต่ที่ดูจะยาก และท้าทายยิ่งกว่า ก็คือ การพิสูจน์ตัวตนของว่าที่ ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้กุมบังเหียน ในการกำหนดนโยบายอัตราดอกเบี้ย และค่าเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวม และสนับสนุนรัฐบาลในการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ

"ผมบอกกับตัวเองก่อนตัดสิน ใจสมัครชิงตำแหน่งนี้ว่า นี่เป็นงานที่ท้าทาย และยาก แต่ก็เป็นงานที่ทำประโยชน์ให้ส่วนรวม เมื่อมีโอกาสก็อยากจะใช้ประสบการณ์ที่ตัวเองมี ทั้งจากการทำงานที่ ธปท. ที่ตลาดทุน และจากการทำงานในธนาคารพาณิชย์ มาทำประโยชน์ ซึ่งผมก็หวังว่า ต่อจากนี้ไปจะใช้ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ หลากหลายที่มี ทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด"
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ปรารถกับ ทีมเศรษฐกิจ ก่อนจะบอกเล่าเรื่องราวความในใจที่สะท้อนให้เห็นถึงมุมมอง และแง่คิดในการบริหารงานของเขาบนเก้าอี้ผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศไทย ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 ต.ค.นี้

นโยบาย ธปท. มหภาคสู่รากหญ้า

"ผม ยังไม่มีความคิดเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือมีธงที่จะปรับเปลี่ยนอะไรใน ธปท. ทันที เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว และหากจะปรับเปลี่ยนอะไรควรมีข้อมูล และได้พูดคุยกับคนที่ทำงานร่วมกันเสียก่อน"

โดยเวลา 5 ปี ที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.นั้น จะเริ่มจากทำความเข้าใจของทุกฝ่ายให้ตรงกันเพื่อให้ ธปท.เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนได้ภายใต้ค่านิยมที่ดี ภายใต้ค่านิยมที่จะสร้าง ธปท.ให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ธนาคารกลางที่ดูแลได้ดี ทั้งเสถียรภาพ และการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งมองพันธกิจเพิ่มขึ้นที่จะดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนนโยบายหลักของ ประเทศ โดยเฉพาะการดูแลชนชั้นรากหญ้า และสิ่งแวดล้อม

"เมื่อ 2-3 เดือนก่อน มีคนถามผู้ว่าฯธาริษาว่า ผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่ควรเป็นอย่างไร ผู้ว่าฯธาริษาให้คำมา 3 คำ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นคำที่ดีที่ไม่ใช่ผู้ว่าการ ธปท.เท่านั้นควรเป็น แต่ ธปท.และองค์กรทั้งหมดของประเทศควรเป็น คือ "ยืนตรง มองไกล และติดดิน"

การยืนตรง คือ ยึดมั่นในหลักการ มีความซื่อตรง เป็นธรรม ไม่โอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขณะที่ มองไกล หมายถึง มีความรู้ความสามารถ มีความรอบคอบในการตัดสินใจและมองไปข้างหน้า ส่วน ติดดิน คือ การอยู่ในโลกของความเป็นจริง มีแนวทางและนโยบายที่เหมาะสม และเป็นไปได้ที่จะปฏิบัติจริง

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำที่ 4 ที่อยากจะเติมลงไป คือ "ยื่นมือ" ทั้งการยื่นมือเพื่อให้เกิดความร่วมมือภายในองค์กรที่มากขึ้น รวมถึงการยื่นมือเพื่อให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานที่ดูแลเศรษฐกิจภายนอก และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกๆด้าน

"บางคนอาจมองว่า ยังมีบางคำที่ ธปท.ในขณะนี้ยังไม่เป็นไปตามนั้น เช่น ยังไม่ติดดิน ไม่มองไกล หรือไม่ยื่นมือ แต่ในเวลา 5 ปี จะพยายามทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ ธปท.ช่วงต่อไป จึงจะเปิดกว้างมากขึ้น โดยในช่วงที่ยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งนี้ก็ใช้เวลารับฟังข้อมูล ความคิดเห็นจากทุกฝ่ายทุกคนอยู่"

พันธกิจที่มากกว่า "นโยบายการเงิน"

อย่าง ไรก็ตาม เป้าหมายหลักในฐานะที่ดูแลภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ หน้าที่ของ ธปท.จึงยังต้องรักษาความสมดุลของเศรษฐกิจของประเทศให้ดีที่สุด โดยหากเห็นข้างไหนเริ่มเอียงก็หาทางให้ข้างนั้นกลับสู่สมดุล เช่น ถ้าเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ช่วงร้อนแรงมากเกินไป ก็ต้องหาทางให้ร้อนลดลง ในอีกทางหนึ่งถ้าเริ่มกลับมาซบเซาเกินไป ก็ต้องมีมาตรการช่วยให้เศรษฐกิจไทยซบเซาน้อยลงเช่นกัน

"อย่างเช่นใน ครึ่งปีหลังของปีนี้ เศรษฐกิจชะลอตัวลงก็จริงแต่ไม่ใช่ทรุดตัวลง ยังเป็นการเติบโตต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอตัวลงเท่านั้น ดังนั้น จึงยังไม่จำเป็นที่จะต้องอัดยาขนานใหญ่อะไรเป็นพิเศษเพิ่มเข้าไป แต่ก็ต้องคอยระวังไม่ให้มีอะไรแปลกปลอมมาทำให้ติดเชื้อใหม่ ประคับประคองการฟื้นตัวให้ต่อเนื่อง"

อย่างไรก็ตาม ในสังคมของประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลง ในระยะหลังนี้ นอกเหนือจากดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจของประเทศ นายประสารมองว่ามีเป้าหมายใหม่ๆ ที่เข้ามากระทบการทำงานของ ธปท. มากขึ้น เช่น ความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประชาชน

โดยจากผลการ สำรวจยังพบว่า ความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของประเทศ อยู่ในมือของเจ้าของกิจการ หรือเจ้าของทุน ในขณะที่เกษตรกร แรงงาน ลูกจ้างประจำ รวมถึงข้าราชการ ยังมีส่วนแบ่งที่น้อยมาก และในที่สุดได้นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งในฐานะที่เป็นองค์กรบริหารเศรษฐกิจจะหลับตาไม่ดูเรื่องนี้คงไม่ได้

ใน แง่นี้ นโยบายการเงินอาจจะไม่เอื้อในการช่วยบรรเทาปัญหา ดังนั้น อาจจะต้องเข้าไปดูแล ผ่านหน้าที่ที่เราดูแลระบบสถาบันการเงินของประเทศ โดยเฉพาะการทำให้ทุกคนเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้นจากระบบสถาบันการเงินที่มีอยู่ แล้ว นอกจากนั้น การสร้างกลไกหรือสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ตรงให้ถึงรายย่อย และผู้ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนในปัจจุบัน หรือที่เรียกกันว่า "ไมโครไฟแนนซ์" (Microfinance) เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นภายในช่วงเวลา 5 ปี ที่ทำงานในตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.

โดยขณะนี้กำลังศึกษาในหลายแนวทาง ทั้งในส่วนที่ธนาคารพาณิชย์ทำเอง โดยตั้งส่วนใหม่แยกออกมาจากส่วนเดิม หรือทำผ่านบริษัทลูกที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) อีกแนวทางคือ การเป็นแหล่งเงินของกลุ่มออมทรัพย์ต่างๆ หรือกองทุนหมู่บ้านที่มีอยู่แล้ว

นอก จากการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนรากหญ้าแล้ว อีกประเด็นหนึ่ง ที่ผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่ ให้ความเห็นว่า กระทบต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปคือ กระแสหลักของเศรษฐกิจยุคใหม่ที่สนใจการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดี และการลดใช้ทรัพยากรมากขึ้น ในช่วงต่อไป ธปท. คงไม่ละเลยกระแสนี้ และอาจจะมีส่วนรวมมากขึ้น ทั้งความพยายามลดการใช้ทรัพยากร และดูแลสิ่งแวดล้อมขององค์กรเอง การให้ความร่วมมือกับองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนองค์กรที่ทำประโยชน์ ในด้านนี้อยู่แล้ว

เผยทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น-สเปรดลด

สำหรับ การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปนั้น ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ส่งสัญญาณตรงกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า อัตราดอกเบี้ยในช่วงต่อไปยังเป็นขาขึ้น

"ในปีก่อนหน้า เศรษฐกิจไทยทรุดตัวค่อนข้างมาก ทำให้ ธปท.ต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จนสุดท้ายอยู่ในระดับ 1.25% ถือว่าต่ำมาก เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว แนวทางคือ ต้องทำให้เข้าสู่ดุลยภาพ"

แต่ศิลปะของการปรับขึ้นจะต้องดูความสมดุล ทั้ง 2 ด้าน ทั้งดูแลเสถียรภาพ และการขยายตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นได้ว่า แม้ดอกเบี้ยในขณะนี้จะเป็นขาขึ้น แต่อัตราเร่งของการปรับขึ้นไม่ได้ขึ้นแบบฉับพลัน หรือครั้งละมากๆ แต่ค่อยๆขึ้นจนปกติ เพราะหากปล่อยให้เข้าสู่การขาดดุลยภาพ ปัญหาอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเราอาจตั้งรับไม่ทันได้

ดังนั้น ถ้าปล่อยอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำมากๆ ต่อเนื่องยาวนานอาจจะสร้างความเข้าใจและการตีมูลค่าสินทรัพย์ที่แท้จริงผิด พลาด และเมื่อเงินหาง่าย ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาที่นำไปสู่การลงทุนที่ผิดพลาด หรือการลงทุนที่เกินตัวที่ลุกลามสร้างปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจได้

"การ ใช้นโยบายดอกเบี้ย คล้ายกับการโด๊ปยา ปีที่ผ่านมาร่างการอ่อนแอ ต้องโด๊ปยาให้ร่างกายฟื้น แต่เมื่อร่างกายฟื้นตัว การโด๊ปยาต่อเนื่องไป อาจจะเป็นผลร้ายต่อร่างกายได้"

ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ยังชี้ให้เห็นถึงข้อดีของดอกเบี้ยขาขึ้นด้วยว่า หากพิจารณาตามต้นทุนทางการเงินของธนาคารพาณิชย์แล้ว ในช่วงที่เศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ควรจะปรับขึ้นได้เร็วกว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ก็เป็นไปในแนวทางนี้อยู่ ตรงกันข้ามกับ ช่วงดอกเบี้ยขาลง ที่ดอกเบี้ยเงินกู้จะลงช้ากว่าดอกเบี้ยเงินฝาก

ดัง นั้น สเปรดดอกเบี้ยที่คำนวณง่ายๆ จากการนำดอกเบี้ยเงินกู้ลบด้วยเงินฝาก ซึ่งเป็นสเปรดที่สังคมส่วนใหญ่จับตาอยู่ ในช่วงต่อไปจะค่อยๆแคบลงและจะเห็นชัดเจน เมื่อดอกเบี้ยขยับขึ้นไประยะหนึ่งแล้ว ซึ่งจะทำให้ความเป็นห่วงเรื่องนี้ลดลงได้ระดับหนึ่ง

ดันแบงก์พาณิชย์ดูแลเศรษฐกิจ

ถัด มาที่แนวทางการกำกับดูแลระบบธนาคารพาณิชย์ของผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ซึ่งเพิ่งลุกมาจากตำแหน่งนายแบงก์หมาดๆได้เปิด 5 ภารกิจ ที่วางแนวทางไว้เพื่อให้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยสนับสนุนการพัฒนาประเทศมากกว่า ที่เป็นอยู่นี้ให้ "ทีมเศรษฐกิจ" ฟัง

เริ่มจากข้อที่ 1. การระดมทุนและการกระจายทุนเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างเพียงพอ 2. การดำเนินการด้านระบบชำระเงินของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ 3. เป็นกลไกบริหารความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจของประเทศ 4. เป็นแหล่งข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ และ 5. เป็นกลไกช่วยส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลในระบบเศรษฐกิจ และภาคธุรกิจของประเทศ

ทั้ง 5 ภารกิจ จะเป็นการสร้างความมั่นคงทางการเงิน และสอดส่องดูแลปัญหาที่อาจจะมีสัญญาณภายในระบบเศรษฐกิจไทย แต่ที่สำคัญที่สุด การดำเนินการของธนาคารพาณิชย์จะต้องมีความพอดี และเป็นธรรมระหว่างการสร้างกำไรของธนาคารกับการให้บริการที่ดี และเหมาะสมต่อภาคธุรกิจ และผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ยังมองเห็นถึงจุดอ่อนของธนาคารพาณิชย์ที่ต้องระมัดระวังในช่วงต่อไปด้วย เรื่องแรกเป็นความเสี่ยงด้านเครดิต เพราะการแข่งขันที่เริ่มสูงขึ้นมาก ทำให้บางธนาคารผ่อนเงื่อนไขการให้สินเชื่อบางประเภทลง ขณะเดียวกัน หลายธนาคารตัดสินใจปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ต่อรายค่อนข้างมาก ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องวิเคราะห์สินเชื่ออย่างรอบคอบ

การใช้ เทคโนโลยีในการบริการธุรกรรมทางการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นอีกความเสี่ยงหนึ่งที่ธนาคารพาณิชย์ต้องมีระบบการจัดการ การรองรับปัญหา และการดูแลความปลอดภัยที่เหมาะสม และต่อเนื่อง

ความ เสี่ยงที่เกิดจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของตลาดทุน การมีสินค้าที่มีความซับซ้อน และซ่อนความเสี่ยงไม่รับรู้ไว้ เป็นอีกจุดอ่อนหนึ่งที่ธนาคารพาณิชย์ไทยต้องระวัง รวมทั้งยังเป็นความท้าทายของผู้กำกับ อย่าง ธปท.ด้วย ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.สั่งให้ธนาคารพาณิชย์ขออนุญาตก่อนที่จะลงทุนที่มีความเสี่ยงหรือซับซ้อน สูง ทำให้ธนาคารพาณิชย์แทบไม่ได้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเหล่านี้

แต่ ในอนาคต กระแสทุนทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ตลาดเงินตลาดทุนที่กว้างขึ้น ทำให้หลีกเลี่ยงได้ยาก ธปท.จึงต้องคิดถึงการอนุญาตการลงทุนที่เหมาะสม รวมถึงการป้องกัน และการรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการลงทุนในตราสารเหล่านี้ไว้ด้วย

ใน ส่วนแนวทางการเปิดเสรีทางการเงิน และระบบสถาบันการเงินของประเทศนั้น ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ให้นิยามการเปิดใบอนุญาตการตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่ ไว้ว่า

"ถ้าการมีธนาคารพาณิชย์ใหม่แล้ว สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างประโยชน์ใหม่ๆ ให้กับระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศได้ การปิดกั้นก็ไม่ควรทำ แต่ต้องชัดเจนว่ามีมูลค่าเพิ่มจริงๆ ขณะที่การเปิดเสรีทางการเงินก็เช่นกัน ต้องเปิดแบบให้เราได้ประโยชน์มากที่สุด และข้อเท็จจริงจากทั่วโลก ในโลกนี้ไม่มีประเทศใดเปิดเสรีอย่างแท้จริง โดยไม่มีเงื่อนไข"

โจทย์หนักหิน "ค่าเงินบาทแข็ง"

สำหรับ การแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ท่ามกลางการไหลเข้าของเงินทุนมาสู่ภูมิภาคเอเชีย และประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหว

"ในขณะนี้ติดตามค่าเงินบาทอย่างต่อ เนื่อง ซึ่งรวมถึงวิธีในการดูแลค่าเงินบาทของ ธปท.และมาตรการที่จะนำมาใช้ในการดูแลเงินบาทด้วย แต่เป็นเรื่องที่อ่อนไหวและเป็นโจทย์ที่ยากมาก ดังนั้น จะให้ตอบในขณะนี้อาจจะไม่เหมาะสม"

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ นายประสารมีความเห็นว่า ควรจะเปลี่ยนไปโดยพิจารณาเปรียบเทียบกับคู่แข่งมากกว่าที่จะเปรียบเทียบกับ ความต้องการซื้อสินค้าของผู้ค้าอย่างที่เป็นอยู่

เพราะในภาวะเช่นนี้ ค่าเงินแทบทุกสกุลที่เป็นคู่แข่งของไทยต่างแข็งขึ้นด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ แม้แต่กระทั่งจีน ดังนั้น แทนที่จะมองว่าค่าเงินแข็งแล้ว ยุโรปจะไม่ซื้อสินค้าเราเพราะราคาแพงขึ้น ทำให้ต้องลดราคาลงสู้ ควรจะมองเทียบกับคู่แข่งว่า ทุกคน ไม่ว่าไทย มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย อยากจะขายสินค้าในราคาไหนมากกว่า

เช่น เดิมขายสินค้าชนิดหนึ่งที่ 2 ยูโรต่อชิ้น เมื่อค่าเงินแข็งราคาขายเพิ่มขึ้นเป็น 2.10 เหรียญฯต่อชิ้น ทำไมทุกคนต้องตัดราคาขายสินค้าที่ 2 เหรียญฯเหมือนเดิม แต่ควรจะมองในด้านคู่แข่งว่า ทุกคนอยากขายในราคาที่สูงกว่าเพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลงจากค่าเงินที่แข็งขึ้น ดังนั้น การบริหารจัดการในช่วงที่ค่าเงินแข็งขึ้น จึงไม่ควรเป็นสาเหตุในการตัดราคาขายเพื่อแข่งขันกัน

ส่วนเรื่องที่เกี่ยวพันกับการใช้เงินเพื่อแทรกแซงค่าเงินบาท ผลกำไร-ขาดทุนของ ธปท. ซึ่งต่อเนื่องไปถึงการหาวิธีการชดใช้หนี้ในส่วนเงินต้นของกองทุนฟื้นฟูและ พัฒนาระบบสถาบันการเงินที่มียอดคงค้างสูงถึง 1.32 ล้านล้านบาทนั้น

นายประสาร ยอมรับว่า ได้โจทย์นี้มาจากกระทรวงการคลังเช่นกัน และกำลังคิดหาแนวทางที่เหมาะสมและดีกับทุกฝ่ายอยู่ เพราะตามกฎหมาย หากมีกำไรให้ ธปท.ตัด 90% ไปใช้หนี้เงินต้นให้กับหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ แต่ที่ผ่านมา หน้าที่ที่จะต้องดูแลแทรกแซงค่าเงินบาทและการดูดซับสภาพคล่องเงินบาท ทำให้ ธปท.ขาดทุนต่อเนื่องหลายปี และมีภาระขาดทุนสะสม ทำให้ส่งเงินกำไรเพื่อตัดหนี้เงินต้นไม่ได้

ทั้งหมดนี้ คือ การเตรียมความพร้อมที่จะรับโจทย์ยากและงานหนักของ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ท่ามกลางความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย ในฐานะผู้ว่าการ ธปท.คนต่อไป

ที่มา: ทีมเศรษฐกิจ ไทยรัฐออนไลน์ วันจันทร์ที่ 6 กันยายน 2553

No comments:

Post a Comment