Friday, September 10, 2010

ปัญหาเรื่องปวดเข่าของเด็กหนุ่มวัย 17 ปี

ผมขอนำจดหมายที่ส่งมาทางอีเมล จากเด็กหนุ่มวัย 17 ปี นักเรียน รร. กีฬาแห่งหนึ่งที่ให้ประวัติว่า “หัวเข่าข้างขวาของผม บิดมาประมาณ 9 รอบ คุณหมอมีเวลาไหมครับ ซึ่งมันทรมานมากครับ แต่ตอนนี้ผมก็ยังปวดอยู่ตลอดหลายครั้ง และครั้งล่าสุดที่เจ็บ คือ วันที่ 7 เมษายน 2553 ตอนที่เข่าผมบิดครั้งแรก ประมาณเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว และผมก็เจ็บมาเกือบทุกเดือน รวมกันเป็น 9 ครั้ง และทุกครั้งที่ผมเจ็บ ผมก็ไปหาหมอทุกครั้ง และหมอก็บอกว่า หมอนรองกระดูกเข่าขวาฉีก หรือเอ็นหัวเข่าขวาอักเสบ และฉีกขาด และหมอให้ยามาทานเป็นตัวยา 4 ชนิด คือ 1. ยาบำรุงไขข้อ 2. ยาแก้อักเสบ 3. ยาคลายกล้ามเนื้อ 4. ยาบำรุงแก้เหน็บชา และหมอก็บอกให้พักประมาณ 2-3 อาทิตย์ และมันไม่ปวดแล้ว ผมก็เลยไปเล่นบอลต่อและก็เจ็บกลับมาอีก มันทรมานมากเลยครับและจะทำตัวอย่างไร”
วิเคราะห์ประวัติการเจ็บป่วย
1. บาดเจ็บจากการเล่นฟุตบอลครั้งแรก เดือนกรกฎาคม 2552 เข้าใจว่าไปพบแพทย์ แพทย์ให้ยามาทาน และให้พัก 2-3 อาทิตย์ แล้วกลับไปเล่นใหม่
2. หลังกลับไปเล่นก็มีการบาดเจ็บอีก บอกว่ามีการเจ็บทุกเดือนและมีการเข่าบิดมา 9 รอบ (คงหมายถึง 9 ครั้ง) ทุกครั้งที่บาดเจ็บก็ไปพบแพทย์ แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นแพทย์สาขาใด แพทย์บอกว่า หมอนรองกระดูกเข่าขวาฉีกและเอ็นหัวเข่าขวาฉีกขาดและมีการอักเสบ แพทย์ให้การรักษาด้วยยา 4 ชนิดและให้พักก่อนที่จะลงไปเล่นอีก

จากประวัติข้างต้น ทางการแพทย์อาจกล่าวได้ว่า “มีความผิดปกติเกิดขึ้นภายในข้อเข่าอย่างชัดเจน เพราะเมื่อกลับไปเล่นครั้งใด ก็มีอาการบาดเจ็บทุกครั้ง” ซึ่งแสดงว่าภายในข้อเข่าข้างนั้นน่าที่จะสูญเสียความแข็งแรงจากการฉีกขาดของ เอ็นยึดข้อเข่า ซึ่งน่าจะเป็นเอ็นไขว้ โดยปกติข้อเข่าของคนเราจะมีเอ็นไขว้หน้า และเอ็นไขว้หลัง การบาดเจ็บ จากการเล่นกีฬาส่วนใหญ่จะเกิดการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้า

นอกจากนี้ในข้อเข่ายังมีหมอนรองกระดูก เพื่อเสริมความเคลื่อนไหวของข้อเข่า ไม่ให้ผิวข้อของกระดูกที่มาประกอบเป็นข้อต่อ ต้องเสียดสีหรือชนกันโดยตรง หมอนรองกระดูกนี้จะมี 2 ชิ้น อยู่ด้านใน และอยู่ด้านนอก ซึ่งในการบาดเจ็บทางการกีฬา ส่วนใหญ่จะเกิดร่วมกันกับเอ็นไขว้ที่ฉีกขาดไปพร้อม ๆ กัน แต่ก็มีบางรายที่ฉีกขาดอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

ประเด็นสำคัญในการตรวจและวินิจฉัย
แพทย์ที่ให้การรักษาได้ให้การวิเคราะห์โรคว่า หมอนรองกระดูกและเอ็นหัวเข่าฉีกขาด โดยการตรวจร่างกายซึ่งผู้ถามมาไม่ได้บอกว่า มีการส่งตรวจทางเอกซเรย์หรือไม่ ซึ่งคาดเดาว่าคงไม่มีการส่งตรวจทางเอกซเรย์ จึงไม่ได้ระบุมาในจดหมาย เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจเรื่องการตรวจวินิจฉัยให้ได้ผลค่อนข้าง จะ 100% สำหรับเอ็นไขว้และหมอนรองกระดูกฉีกขาด แพทย์จะต้องส่งไปตรวจเอกซเรย์ชนิดพิเศษที่เรียกว่า เอ็มอาร์ไอ MRI (Magnetic Resonance Imaging) จึงจะเห็นการฉีกขาดของเนื้อเยื่อและเอ็นภายในและรอบ ๆ ข้อเข่าได้ การส่งเอกซเรย์ธรรมดาจะเห็นตัวกระดูกได้ชัดเจน ส่วนเนื้อเยื่อและเอ็นตลอดจนหมอนรอง กระดูก จะไม่สามารถเห็นได้

ดังนั้นในกรณีที่สงสัยเอ็นไขว้ฉีกขาดและหรือหมอนรองกระดูกฉีกขาด และต้องการพิสูจน์ทราบให้ชัดเจน แพทย์จะพิจารณาส่งต่อผู้ป่วยไปตรวจข้อเข่าด้วยวิธีการเอ็มอาร์ไอ การที่แพทย์ไม่ส่งผู้ป่วยไปทำเอ็มอาร์ไอข้อเข่าทุก ๆ รายเพราะแพทย์พิจารณาแล้วว่าไม่มีความจำเป็นหรืออาจต้องคำนึงถึงเรื่องค่า ใช้จ่ายในการทำเอ็มอาร์ไอ ซึ่งยังค่อนข้างสูงอยู่ (ประมาณ 5,000-6,000 บาทขึ้นไป)

สำหรับกรณีที่ถามมานี้ ผมคงให้ความเห็นว่า น่าจะต้องไปพบแพทย์ด้านออร์โธปิดิกส์ (กระดูกและข้อ) เพื่อทำการตรวจและพิจารณาส่งไปทำ เอ็มอาร์ไอของข้อเข่า เพื่อพิสูจน์ว่ามีส่วนใดภายในข้อเข่าฉีกขาดไปบ้าง โดยนำมาพิจารณาร่วมกับการที่แพทย์ตรวจข้อเข่าไว้ก่อนแล้ว

ประเด็นสำคัญในการรักษา
เมื่อได้ข้อมูลการบาดเจ็บ การฉีกขาดของเนื้อเยื่อ เอ็นไขว้ หรือหมอนรองกระดูกแล้วว่ามีมากเพียงใด แพทย์ก็จะสรุปผลทั้งหมดให้ผู้ป่วยได้เข้าใจไปพร้อมกัน ในรายของผู้ถามมีอายุ 17-18 ปี อาจต้องมีพ่อแม่หรือผู้ปกครองหรือครูหรือโค้ช/ผู้ฝึกสอน เข้ามาร่วมฟังด้วย เพราะในบางครั้ง อาจต้องมีการตัดสินใจที่จะเลือกวิธีการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การรักษาด้วยการเข้าเฝือก รับประทานยา หรือการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เลือกที่จะทำการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งในขณะนี้แพทย์ออร์โธปิดิกส์ ที่สามารถทำการผ่าตัดผ่านกล้องนี้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

หากเป็นการฉีกขาดของเอ็นไขว้หรือหมอนรองกระดูกฉีกขาด ผมมีความเห็นว่า ในรายของผู้ถามที่อยู่ในวัย 17 ปี และต้องการที่จะให้ความแข็งแรง ของข้อเข่ากลับคืนมา แพทย์ออร์โธปิดิกส์คงจะเสนอแนะให้ทำการผ่าตัดผ่านกล้อง โดยจะเอาเอ็นส่วนอื่นภายในบริเวณใกล้ ๆ ข้อเข่ามาเสริมหรือทดแทน เอ็นไขว้ที่ฉีกขาด (ในกรณีของผู้ถาม ฉีกขาดมานานแล้ว) เพื่อให้ได้ความแข็งแรงกลับคืนมา ส่วนกรณีหมอนรองกระดูกฉีกขาด แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษา เมื่อเห็นว่ามีการฉีกขาดแบบใด อาจเป็นการเย็บซ่อมหรือเย็บเล็มให้เรียบ กรณีฉีกขาดมาก ๆ มาเป็นเวลานาน ๆ อาจพิจารณาเอาออก

สุดท้ายที่สำคัญมากไม่แพ้กัน คือ ผู้ถามจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจที่จะต้องตั้งใจปฏิบัติตามขั้นตอนก่อนและหลัง การผ่าตัด ในด้านการฝึกการสร้างกล้ามเนื้อรอบ ๆ เข่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้ามเนื้อต้นขา ผมเดาเอาว่าขณะนี้กล้ามเนื้อต้นขาของผู้ถามคงลีบเล็กลงจากการที่ใช้งานน้อย ลง ดังนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ถามที่จะต้องรู้จักการสร้างกล้ามเนื้อให้ใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น โดยปฏิบัติตามแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และนักกายภาพบำบัดที่จะสอนวิธีการให้ ท่านจะต้องทำอย่างเต็มที่ ไม่มีเครื่องมือหรือวิธีการใด ๆ ที่จะทำให้กล้ามเนื้อใหญ่ขึ้นและแข็งแรงขึ้น โดยตัวท่านไม่ได้ออกแรงบริหารเอง ซึ่งคงต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าที่จะได้กล้ามเนื้อที่แข็งแรงกลับคืนมา

สวัสดีครับ

ที่มา: คลินิกกีฬา คุยกันวันเสาร์ ปัญหาเรื่องปวดเข่าของเด็กหนุ่มวัย 17 ปี เดลินิวส์ออนไลน์ วันเสาร์ ที่ 04 กันยายน 2553

No comments:

Post a Comment