Saturday, September 11, 2010

การผ่าตัดผ่านกล้องสำหรับข้อกระดูก

ในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา การดูแลรักษาการบาดเจ็บในนักกีฬาและบุคคลทั่วไปที่เล่นกีฬาหรือได้รับ อุบัติเหตุ เกิดการบาดเจ็บภายในข้อต่อ ซึ่งที่พบบ่อย ได้แก่ ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อเท้า ข้อศอก ข้อมือ มีวิวัฒนาการในด้านการรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง ทำให้ใช้ระยะเวลาในการรักษาและฟื้นฟูน้อยลงอย่างมาก นักกีฬาหรือผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บ สามารถที่จะกลับไปใช้ชีวิต หรือเล่นกีฬาแบบที่เคยเล่นก่อนการบาดเจ็บได้เหมือนเดิมรวดเร็วขึ้น ดังที่เราทราบข่าวกันดีในหน้าหนังสือพิมพ์หรือทีวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักฟุตบอลชั้นนำต่าง ๆ ในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ หรือลีกอาชีพอื่น ๆ ที่ช่วยให้นักกีฬาเหล่านั้นกลับไปเป็นนักกีฬาอาชีพได้ดังเดิม ไม่ต้องสิ้นสุดการทำมาหากิน ในฐานะนักกีฬาก่อนวัยอันสมควร

ความก้าวหน้าในการวินิจฉัยการบาดเจ็บในข้อต่อ

ท่านทราบหรือไม่ว่า ข้อต่อของมนุษย์เรานั้น มีส่วนประกอบที่ซับซ้อนอย่างไรบ้าง ตัวอย่างเช่น ข้อเข่า ถือเป็นข้อต่อที่น่าเห็นใจที่สุดของร่างกายมนุษย์และยิ่งน่าเห็นใจมากขึ้น หากเป็นข้อเข่าของนักกีฬาประเภทฟุตบอล อเมริกันฟุตบอล รักบี้ฟุตบอล วอลเลย์บอล บาสเกต บอล เป็นต้น เพราะข้อเข่าต้องแบกรับน้ำหนักตัวของคนเรามาตั้งแต่เราเริ่มยืนและเดินได้ และหากเล่นกีฬาที่ต้องกระโดด ต้องวิ่ง ต้องวิ่งอย่างเร็วแล้วเปลี่ยนทิศทางหรือหยุดกะทันหัน และในกีฬาที่ต้องปะทะกัน ข้อเข่าอาจถูกซ้ำเติมจากคู่ต่อสู้ ทำให้เกิดการบาดเจ็บของข้อเข่าได้ง่ายขึ้น
ท่านทราบหรือไม่ว่า ภายในข้อเข่ามีองค์ประกอบ สำคัญ ๆ ที่ทำให้เข่าแข็งแรงมากขึ้นกว่าข้ออื่น ๆ คือ ข้อเข่ามีเอ็นไขว้อยู่ 2 เส้น ได้แก่ เอ็นไขว้หน้า และเอ็นไขว้หลัง ยึดกระดูก 2 ส่วนที่มาประกบกันเป็นข้อต่อปลายล่างของกระดูกต้นขาฟีเมอร์ และปลายบนของกระดูกขา เพื่อไม่ให้ข้อมีการเคลื่อนหลุดออกจากกัน นอกจากนี้ยังมีหมอนรองกระดูก ซึ่งเป็นกระดูกอ่อนที่เรียกว่า Meniscus มี 2 อันด้วยกัน วางอยู่บนผิวข้อปลายส่วนบนของกระดูกขา ได้แก่ Medical Meniscus นอกจากนี้ยังมีเอ็นยึดทั้ง 2 ด้าน (ด้านในและด้านนอกของข้อเข่า) ที่ทำให้เกิดความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น หากท่านคลำไปบริเวณหัวเข่าด้านหน้าของท่าน ข้อเข่าก็จะมีกระดูกสะบ้า หรือบางทีเรียกว่า Knee Cap

ปัญหาของการวินิจฉัยการบาดเจ็บของข้อเข่าก็คือ ภายหลังจากแพทย์ตรวจร่างกายแล้วส่งคนไข้ไปเอกซเรย์ข้อเข่า ภาพที่ออกมาจะเห็นเฉพาะส่วนที่เป็นกระดูกเท่านั้น ดังนั้นหากมีกระดูกที่ประกอบกันเป็น ข้อเข่าแตกหรือร้าว ภาพจากเอกซเรย์ดังกล่าวก็สามารถ แสดงให้แพทย์เห็นได้ว่ารอยแตกอยู่ที่ใด มีการเคลื่อนออกจากกันหรือไม่? ภาพเอกซเรย์เหล่านี้จะไม่สามารถบอกรายละเอียดการบาดเจ็บของเอ็นไขว้ (หน้าและหลัง) หรือการฉีกขาดของหมอนรองกระดูกได้เลย

เครื่อง Magnetic Resonance Imaging Machine หรือ เครื่องเอ็มอาร์ไอ เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการสร้างภาพของอวัยวะที่ตรวจ โดยอาศัยเทคโน โลยีการสร้างสนามแม่เหล็กและประมวลผลสร้างภาพโดยอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การที่แพทย์สงสัยว่าเอ็นไขว้หรือหมอนรองกระดูกข้อเข่ามีการฉีกขาด จากการตรวจร่างกาย ก็จะถูกยืนยันจากภาพที่เห็นจากการทำเอ็มอาร์ไอ ทำให้แพทย์วางแผนการรักษาได้เลยทั้งหมด เพราะทราบดีว่ามีส่วนใดบ้างของข้อเข่ามีการถูกทำลายหรือฉีกขาด ซึ่งในอดีตแพทย์อาจต้องรอมาตรวจอีกครั้งภายใน 10-14 วัน กล้ามเนื้อรอบ ๆ ไม่เกร็งแล้ว การตรวจข้อเข่าจะกระทำได้ชัดเจนมากขึ้นว่าข้อเข่ามีเอ็นขาดหรือไม่ การที่ทำให้เห็นภาพการฉีกขาดของอวัยวะภายในข้อได้ชัดเจนนี่เอง ทำให้บางสโมสรฟุตบอลอาชีพของญี่ปุ่น ได้ซื้อเครื่องเอ็มอาร์ไอมาไว้ใช้เองเลยทีเดียว (เป็นเครื่องเอ็มอาร์ไอขนาดเล็ก ตรวจเฉพาะข้อต่อต่าง ๆ) เพราะการส่งเอ็มอาร์ไอในประเทศญี่ปุ่นบางครั้งต้องรอคิวหลายวันเลย ทีเดียว

ปัจจุบันการส่งตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็ก เอ็มอาร์ไอ ยังมีราคาแพงอยู่ เพราะเครื่องมีราคาแพงมาก แพทย์จะพิจารณาส่งตรวจเฉพาะรายที่มีความจำเป็นเท่านั้น

สำหรับข้อต่ออื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อหัวไหล่ ยิ่งมีความสลับซับซ้อนของเอ็นและกล้ามเนื้อรอบ ๆ หัว ไหล่ รอยต่อของกระดูกสันหลังแต่ละปล้องที่มีหมอนรองกระดูก ซึ่งมองไม่เห็นด้วยการเอกซเรย์แบบธรรมดา การส่งตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ ก็จะมีส่วนช่วยในการวินิจฉัยความผิดปกติของเอ็นรอบ ๆ หัวไหล่ หรือหมอนรองกระดูกสันหลังที่อาจเคลื่อนหรือเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท

การรักษาการบาดเจ็บภายในข้อต่อด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง

ในอดีต หากแพทย์จะต้องผ่าตัดเข้าไปซ่อมเอ็นไขว้หรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ภายในข้อเข่า เราจะต้องผ่าตัดผ่านเข้าไปในข้อเข่า มีความยาวของแผลผ่าตัดมากกว่า 10 ซม.ขึ้นไป ต้องผ่านกล้ามเนื้อ เอ็นและเยื้อหุ้มข้อเข่าเข้าไป พอทำเสร็จก็ต้องเย็บซ่อมทีละชั้นมาเรื่อย ๆ จนถึงชั้นผิวหนัง แต่ในปัจจุบันอาจมีแผลยาว 1 ซม. อยู่ 3-4 แผลรอบ ๆ หัวเข่า เพราะแพทย์ใช้วิธีเจาะแล้วสอดกล้อง (ขนาด 5-7 มม.) และดูภาพในจอทีวีที่มีขนาดใหญ่ รวมทั้งสอดเครื่องมือผ่าตัดเข้าไป เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย เย็บซ่อมหมอนรองกระดูก สร้างเสริมความแข็งแรงของเอ็นไขว้ที่ขาด การผ่าตัดลักษณะแบบนี้ เราอาจเรียกว่าการผ่าตัดแผลเล็ก ดังนั้นการฟื้นฟู การหายและการทำกายภาพบำบัด จะใช้เวลาสั้นลงกว่าเดิมค่อนข้างมาก

การรักษาหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท ด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง

ในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่าน กล้องมาใช้ในการรักษาหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาท ทำให้ไม่ต้องเปิดแผลผ่าตัดหลัง ที่ต้องผ่านกล้ามเนื้อลงไป การผ่าตัดรักษาจึงใช้ระยะในการอยู่รพ.สั้นลง แต่จะต้องได้รับการวินิจฉัยให้แน่ใจเสียก่อนว่าจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดรักษา ด้วยวิธีนี้ เพราะ โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาทส่วนใหญ่สามารถทำให้หายหรือดีขึ้น ได้ด้วยวิธีการรักษาชนิดไม่ต้องผ่าตัด โดยวิธีการรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการ ใช้หลัง ตลอดจนการบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรง
ผมหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับการผ่าตัดผ่านกล้องในปัญหา เรื่องเกี่ยวกับข้อต่อ และหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนกดทับเส้นประสาทได้ดีขึ้น ในปัจจุบันมีการประดิษฐ์เครื่องมือให้เล็กลง จนสามารถส่องกล้องเข้าไปในข้อต่อขนาดเล็ก เช่น ข้อศอก ข้อมือ ตลอดจนข้อนิ้วมือด้วยเช่นกัน สวัสดีครับ

นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.ไพศาล จันทรพิมักษ์

ที่มา: คลินิกกีฬา คุยกันวันเสาร์ เดลินิวส์ออนไลน์ การผ่าตัดผ่านกล้องสำหรับข้อกระดูก วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม 2553

No comments:

Post a Comment