Thursday, September 2, 2010

การขอลงชื่อร่วมเป็นเจ้าของรถยนต์

ถ้าสามีซื้อรถยนต์ให้ภริยาใช้โดยชื่อในใบทะเบียนรถยนต์เป็นชื่อของสามี การที่ภริยาไม่มีชื่อในใบทะเบียนรถยนต์ด้วย จะทำให้มีผลในทางกฎหมายอย่างไรบ้าง และถ้าภริยาต้องการจะให้ใส่ชื่อของภริยาเป็นเจ้าของรถยนต์คันนี้ด้วย จะทำได้หรือไม่
==
ถ้ารถยนต์คันนี้เป็นที่ยุติว่าเป็นทรัพย์สิน ที่ซื้อมาในระหว่างสมรสแล้ว ต้องถือว่ารถยนต์ เป็นสินสมรส ดังนั้นการที่คู่สมรสฝ่ายใดไม่มีชื่ออยู่ในคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ด้วย ไม่ได้ทำให้คู่สมรสฝ่ายที่ไม่มีชื่อจะไม่เป็นเจ้าของ หรือไม่ได้หมายความว่าคู่สมรสฝ่ายที่มีชื่อเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว เพราะถ้าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสแล้วคู่สมรสทั้งสองฝ่ายจะเป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์ร่วมกันไม่ว่าตนจะเป็นผู้มีชื่อร่วมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตามคือ ถึงแม้ว่าคู่สมรสจะไม่มีชื่อในทะเบียนก็ยังมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นด้วย

แต่บทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดให้คู่สมรสที่ไม่มีชื่อในเอกสารแสดง กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส สามารถขอลงชื่อร่วมในใบแสดงสิทธิได้นั้น หมายถึงเป็นเรื่องของเอกสารที่แสดงสิทธิหรือแสดงกรรมสิทธิ์ด้วย ซึ่งเดิมแนวคำวินิจฉัยของศาลได้วินิจฉัยไว้ว่าทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่เอกสารอัน เป็นที่ตั้งของกรรมสิทธิ์ เพราะทะเบียน รถยนต์ยังไม่ใช่เอกสารสำคัญสำหรับแสดงว่าผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นเจ้าของรถ ยนต์ ดังนั้นผู้ที่ไม่มีชื่อในทะเบียนรถยนต์จึงร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของร่วม มิได้

ต่อมาแนวคำวินิจฉัยของศาลได้เปลี่ยนไปในลักษณะที่ว่า คู่สมรสที่ไม่มีชื่อในใบทะเบียนรถยนต์ถึงแม้จะถือว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ใน รถยนต์ด้วยก็ตาม แต่เขาก็สามารถร้องขอต่อศาลขอให้ใส่ชื่อของตนเองไว้ในใบทะเบียนรถยนต์ได้ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6080/2540 โดยศาลได้ให้เหตุผลที่น่าสนใจไว้ว่า “ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์มิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรม สิทธิ์รถยนต์ เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปีและแสดงว่าผู้ มีชื่อในคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้น

ในกรณีเจ้าของขายรถยนต์แล้ว กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะโอนเป็นของผู้ซื้อทันที แม้ไม่จดทะเบียนโอนก็ใช้ได้ แต่เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติถึงตัวทรัพย์สินว่าจะจำหน่ายได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวม ทุกคน การมีชื่อเจ้าของร่วมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ย่อมเป็นการคุ้มครองประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์คันที่มีเจ้าของ รวมให้ทราบว่าการซื้อรถยนต์คันดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมของเจ้าของรวม ทุกคนก่อน เป็นการตัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่รถยนต์เป็นทรัพย์สินของบุคคลหลายคน แต่มีชื่อเจ้าของรวมเพียงคนเดียวในใบคู่มือจดทะเบียน และ ผู้ซื้อ ซื้อไปโดยไม่ทราบว่ามีเจ้าของรวมที่ไม่ได้ให้ความยินยอมในการขาย ทำให้เจ้าของรวมที่ไม่ ยินยอมและผู้ซื้อได้รับความเสียหายจากการที่ต้องฟ้องและถูกฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขาย

นอกจากนี้ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ฯ ก็ไม่มี บทบัญญัติห้ามลงชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ดังนั้น การลงชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ นอกจากจะไม่ขัดต่อบทกฎหมายแล้ว ยังมีประโยชน์มากกว่าการไม่ลงชื่อไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์อีกด้วย คดีนั้นศาลจึงได้ตัดสินว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมใน รถยนต์คันที่พิพาทขอให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์นั้น จึงมีเหตุสมควรอนุญาตตามที่ขอได้”

ที่มา: การขอลงชื่อร่วมเป็นเจ้าของรถยนต์ คลินิกกฎหมาย เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคาร ที่ 24 สิงหาคม 2553

No comments:

Post a Comment