Sunday, May 9, 2010

ฉี่–ใครว่าไม่สำคัญ (2)

เรากำลังคุยกันถึงเรื่องปัสสาวะหรือ "ฉี่" กันอยู่นะครับ

เมื่อ อาทิตย์ที่แล้วได้ขึ้นต้นข้อที่ 1 ไว้ว่าให้ลองสังเกตดูว่า "ปริมาณของฉี่มีมากน้อยเพียงไร" และในข้อที่ 1 อาทิตย์ที่แล้ว ผมลืมอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อเรากินน้ำ-กระหายน้ำ กินน้ำมากเกินไป ก็จะเกิดอาการฉี่มากเกินปกติด้วย

การฉี่มากเกินปกตินั้นให้สังเกตว่า เกินประมาณ วันละ 2 ลิตร ก็เรียกว่าปริมาณของฉี่เริ่มผิดปกติแล้ว

และอาการฉี่เกินจะเกี่ยวกับการป่วยเป็นเบาหวานด้วย

ไม่ใช่เกี่ยวกับเบาหวานอย่างเดียว แต่ให้สังเกตด้วยว่า อาจจะเกี่ยวไปถึงเรื่องของไตวาย ตัวบวม ขาบวม และเกี่ยวไปถึงโรคหัวใจด้วยก็ได้

เมื่อพูดถึงฉี่เกินก็ต้องคุยต่อถึงเรื่องตรงกันข้าม คือ ฉี่น้อยด้วย

อาการ ของฉี่น้อยเรียกกัน 2 อย่าง อย่างหนึ่ง คือ OLIGURIA (อ่านว่าโอลิกูเรีย) หมายความ ว่าวันหนึ่งๆฉี่ของคุณน้อยกว่า 500 มล. หรือน้อยกว่าครึ่งลิตร

อีก อย่างหนึ่งจะเรียกว่า ฉี่น้อยมาก ก็พอจะได้ นั่นก็คือ ANURIA (อ่านว่าเอินยูเรีย) ฉี่น้อยมากแบบนี้อันตรายมากๆเลยนะครับ นั่นก็คือ วันหนึ่งอย่างเก่งก็ฉี่ได้ไม่เกิน 125 มล.

125 มล. นี่ก็เห็นจะประมาณ 8-1/2 ช้อนโต๊ะ ขนาดนี้ต้องถือว่าอันตรายมากนะครับ ถ้าเป็นอย่างนี้คือฉี่น้อยหรือฉี่ไม่ออกติดต่อกันถึงสัก 2 อาทิตย์มีหวังเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

เรื่องอันตรายของการฉี่น้อยหรือฉี่มากเกินเหตุนี้จะได้อธิบายให้ละเอียดกว่านี้เป็นเรื่องๆไป

ตอนนี้ขอคุยกันแต่เพียงว่าให้สังเกตดูเป็นข้อๆก่อนว่าปัสสาวะหรือฉี่ผิดปกติจะมีลักษณะอย่างไรบ้างเสียก่อน

ข้อสังเกตข้อต่อไปเกี่ยวกับฉี่ก็คือ ข้อ 2 ให้สังเกตว่าสีของฉี่นั้นเป็นอย่างไร

ปกตินั้นสีของปัสสาวะน่าจะเป็นสีใสอมเหลืองนิดๆ

ถ้าใสจนเกือบเหมือนน้ำบริสุทธิ์ก็ลองดูตัวเองว่า ตอนนั้นคุณดื่มเบียร์หรือเหล้าเติมโซดามากไปหรือเปล่า

แต่ถ้าเป็นสีแดงหรือสีแดงอ่อนๆ ก็คงจะเป็นเพราะ ฉี่ของคุณมีเลือดออกมาปน อันนี้ไม่ค่อยดีนะครับ

หรือถ้าเหลืองน้อยๆจนกระทั่งเหลืองจัด ก็ให้ สังเกตว่าคุณกินวิตามินอย่างเป็นเม็ดเข้าไปมากหรือเปล่า โดยเฉพาะวิตามินกลุ่ม B

เหลืองแบบวิตามินออกมาปนอย่างนี้ไม่มีอันตรายครับ แต่ก็ควรตรวจตราดูให้ดีว่าคุณกินมากเกินอัตราที่แพทย์เขาแนะนำไว้หรือเปล่า

กินวิตามินมากเกินไป นอกจากจะฉี่สีไม่สวยแล้ว ยังเปลืองสตางค์ค่าวิตามินแพงๆอีกด้วย

เรื่องสีของฉี่นี้ความจริงมีเรื่องยาวๆจะต้องคุยกันเยอะเลยนะครับ โดยเฉพาะคุณบางคนที่ชอบกินยาหรือแพทย์สั่งยาประจำตัวให้คุณ

คุณ ต้องสังเกตเอาเองว่ายาประจำตัวของคุณนั้นจะมีสีแปลกๆหรือบางทีไม่ต้องสังเกต ก็ได้ เพราะแพทย์ ของคุณเขาน่าจะบอกคุณว่า เมื่อกินยานั้นๆเข้าไปแล้ว ฉี่ของคุณอาจจะมีสีผิดปกติอย่างไรบ้างเป็นต้นว่า

ยากลุ่มโคลโปรมาซีน ปัสสาวะจะมีสีคล้ำ

กลุ่มโคลโซมาโซน จะมีสีส้มหรือม่วงแดง

ฟลูโอเรสซิน (ฉีดเข้าทางเส้นเลือด) ฉี่จะมีสีเหลืองหรือส้ม

เมทไทลีน บลู จะมีสีน้ำเงินเขียว ฯลฯ

ฉะนั้น ถ้าปัสสาวะของคุณมีสีแปลกๆอย่าเพิ่งตกใจ ให้นึกย้อนไปว่าคุณกินยาอะไรหรือฉีดยาอะไรเข้าไปบ้าง

นอกไปจากนั้น คุณหมอประจำตัวของคุณท่านก็คงจะบอกล่วงหน้านะครับ ฉะนั้นไม่ควรตกใจจนเกินเหตุ

เมื่อพูดถึงปริมาณ พูดถึงสีของปัสสาวะแล้ว ก็ต้องพูดถึงกลิ่นด้วย อันนี้อยู่ในข้อ 3 นะครับ

กลิ่นของปัสสาวะในข้อ 3 นี้ก็ยังเกี่ยวกับยาเสียเป็นส่วนมากอีกนั่นแหละ

กลิ่นของยาในปัสสาวะนั้นตัวซึ่งมักจะได้กลิ่นกันแทบทุกคน ที่นำหน้ามาก่อนก็คือ ยาประเภทปฏิชีวนะหรือ ANTIBIOTICS

ยาประเภทปฏิชีวนะนี้ในปัจจุบันมีหลายร้อยตัว บริษัทยาท่านคิดยาตัวใหม่ๆในกลุ่มนี้ออกมาเรื่อยๆ ยายิ่งแรง กลิ่นฉี่ก็แรงตามไปด้วยครับ

ที่ มีกลิ่นแรงอีกอย่างหนึ่งก็คือยา ประเภทที่เรียกว่า PARALDEHYDE (อ่านว่าพาราดิไฮด์) ซึ่งเป็นยาประเภทกล่อมประสาทและช่วยให้นอนหลับด้วย

นอก ไปจากนั้น ก็คือพวกวิตามิน โดยเฉพาะกลุ่ม วิตามิน B ในข้อสองที่กล่าวมาแล้ว วิตามินกลุ่มนี้นอกจากจะทำให้ปัสสาวะมีสีเหลืองแล้ว บางครั้งยังทำให้มีกลิ่นแรงด้วย

นี่คือพวกยาซึ่งจะทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นแปลกๆ แต่มีอีกกลิ่นหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ กลิ่นยา ซึ่งผมอยากจะขอเตือนเพื่อนๆชาวชีวจิตเป็นพิเศษ

กลิ่น นั้นก็คือ กลิ่น ฉี่ซึ่งออกมาเป็นกลิ่นหวานๆ เหมือนกลิ่นละมุด สุก และโดยเฉพาะที่กลิ่น จะเหมือนมากที่สุด ก็คือ เหมือนกลิ่นน้ำยาล้างเล็บ

กลิ่น นี้คุณผู้หญิงคงจะรู้จักดีนะครับ (เอ หรือคุณผู้ชายบางคนก็อาจจะรู้จักดีบ้างก็ได้ เห็นว่าคุณผู้ชายหลายคนก็ทาเล็บเหมือนกัน ไม่ใช่เหรอ?)

กลิ่นเหมือน ละมุดสุกหรือกลิ่นน้ำยาล้างเล็บอย่างนี้ไม่ค่อยดีครับ เพราะคงหมายความว่าโรคเบาหวานอาจจะหนักแล้ว หรือบางทีอาจจะเกี่ยวกับโรคไตหลายอย่างก็เป็นได้ รายละเอียดจะว่ากันต่อทีหลังครับ

นอกไปจากนั้นก็ยังมีลักษณะอาการผิดปกติของตัวปัสสาวะอีกหลายอย่าง ถือว่าเป็นข้อ 4 ซึ่งอยู่ในข้อเบ็ดเตล็ดก็แล้วกันนะครับ

ข้อ 4 เบ็ดเตล็ดนี้ ต้องอาศัยการตรวจปัสสาวะจากห้องแล็บ จะเป็นห้องแล็บโดยตรงหรือห้องแล็บของโรงพยาบาลก็ได้

การตรวจแบบนี้เขาจะตรวจในหลักใหญ่ๆ คือ

- ยาซึ่งเปลี่ยนความถ่วงจำเพาะ (SPACIFIC GRAVITY)

- ยาซึ่งลด PH (ความเป็นกรดและด่าง)

- ยาซึ่งเพิ่ม PH (ความเป็นกรดและด่าง)

- ยาซึ่งทำให้โปรตีนออกมาในปัสสาวะ

- ยาซึ่งทำให้น้ำตาลในปัสสาวะเปลี่ยน

- ยาซึ่งทำให้ปริมาณเลือดขาวเพิ่ม

- ยาซึ่งทำให้ระบบเลือดผิดปกติ

- ยาซึ่งทำให้ปัสสาวะเกิดเป็นพิษ

- ยาซึ่งทำให้ปัสสาวะมีเกล็ดเล็กๆ

ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ผมรวบรวมเรื่องย่อยๆเกี่ยวกับปัสสาวะมาแบ่งเป็นข้อๆเพื่อให้เพื่อนๆชาวชีวจิตพอเข้าใจ

สิ่งสำคัญก็คืออยากให้คุณๆสนใจของในกายตัวคุณเอง (ซึ่งก็คือตัวคุณเองนั่นแหละ) ให้มากขึ้น

ถ้าคุณเห็นว่าอะไรผิดสังเกต คุณก็จะได้ ระวังตัว และง่ายๆก็คือ คอยสืบหาให้ได้ว่าต้นเหตุคืออะไร และน่าจะมาจากอะไร

อย่างนี้ก็จะทำให้คุณดูแลสุขภาพของคุณได้ดียิ่งขึ้น

ลองตรวจดูตัวเองตามข้อ 1-3 นะครับ ส่วนข้อ 4 นั้นคงจะต้องให้แพทย์ท่านสั่งให้ตรวจ

ต่อไปก็จะค่อยเข้าเรื่องและโรคต่างๆเกี่ยวกับฉี่แล้วนะครับ.

*******
สาทิส อินทรกำแหง

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ 11 เมษายน 2553

No comments:

Post a Comment