Wednesday, May 5, 2010

จัดตั้งนิติบุคคลแล้วได้อะไร

พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 บังคับใช้มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว แต่การจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรก็ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ที่ เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเจ้าของโครงการ ผู้ซื้อ หรือเจ้าพนักงานที่ดิน

นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร มีความสำคัญมากต่อธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ โดยหลักแล้วกฎหมายต้องการให้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้จัดสรรที่ดินสามารถโอนสาธารณูปโภคในโครงการจัดสรร ที่ดิน ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรที่มีจำนวนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนแปลงย่อยรวม ตัวกัน จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรขึ้น เพื่อรับโอนสาธารณูปโภคในโครงการจัดสรรที่ดินมาดูแลบำรุงรักษาจัดการกันเอง

ผลจากการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเรียบร้อยแล้วมีผลดังนี้

ประการแรก ส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้จัดสรรที่ดิน ผู้ซื้อ และนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร (1) ผู้จัดสรรที่ดินพ้นจากหน้าที่ในการบำรุงรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคโดย ต้องโอนทรัพย์สินและส่งมอบเงินบำรุงรักษาสาธารณูปโภค (2) ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร ทั้งที่ลงคะแนนเสียงเห็นชอบและไม่เห็นชอบให้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เป็นสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร (3) นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้ดำเนินกิจการของนิติฯ ตามกฎหมายและข้อบังคับ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่สมาชิกคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรร เป็นผู้แทนของนิติฯ ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก

ประการที่ 2 สิทธิพิเศษเกี่ยวกับค่าธรรมเนียม ภาษี และอากรแสตมป์ ภาษี และอากรแสตมป์

ประการที่ 3 อำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร (1) จัดการและดูแลบำรุงรักษาทรัพย์สินที่รับโอนจากผู้จัดสรรที่ดิน (2) กำหนดระเบียบการใช้ประโยชน์สาธารณูปโภค การอยู่อาศัยและการจราจร (3) เรียกเก็บเงินค่าใช้จ่าย (4) เป็นโจทก์แทนสมาชิก (ตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป) (5) จัดให้มีบริการสาธารณะ (6) ดำเนินการอื่นตามกฎหมาย

ประการที่ 4 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร (1) ชำระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภค ทั้งนี้การกำหนดอัตราค่าใช้จ่าย ต้องได้รับความ เห็นชอบจากมติที่ประชุมใหญ่ โดยอาจกำหนดให้แตกต่างกันตามประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือขนาดพื้นที่ก็ ได้ (2) นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีหน้าที่จัดเก็บโดยให้จัดเก็บเป็นรายเดือนจาก สมาชิก (3) สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนด

ประการที่ 5 บทกำหนดโทษสำหรับสมาชิกที่ชำระเงินล่าช้า (1) กรณีชำระค่าใช้จ่ายล่าช้ารายเดือน ต้องจ่ายค่าปรับตามอัตราที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดกำหนด (2) กรณีชำระล่าช้าติดต่อกัน 3 เดือน ถูกระงับการให้บริการหรือการใช้สิทธิในสาธารณูปโภค (3) กรณีชำระล่าช้าติดต่อกัน 6 เดือน พนักงานเจ้าหน้าที่อำนาจระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินแปลงดัง กล่าวได้ (4) ให้ถือว่าหนี้ที่ค้างชำระเป็นหนี้บุริมสิทธิ

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้มีความรู้สึกรักและหวงแหนสิทธิของตนเองในหมู่บ้าน.

ดินสอพอง
lawofrealty@gmail.com

ที่มา: คอลัมน์ กฎหมายรอบรั้ว เดลินิวส์ออนไลน์ วันเสาร์ ที่ 17 เมษายน 2553

No comments:

Post a Comment