Thursday, May 6, 2010

เคล็ดลับความสำเร็จของสตีฟ จอบส์: จงหิวโหย จงโง่เขลา

จงหิวโหย จงโง่เขลา: คนบางคนอาจรู้สึกด้อยค่าเมื่อต้องเผชิญกับ “ความหิวโหยและความโง่เขลา” และมีน้อยคนนักที่เกิดมาพร้อมกับสิ่งอันไม่พึงปรารถนาทั้งสองอย่างนี้ แต่สามารถฉุดตัวเองขึ้นมาจากชีวิตที่มืดมนได้

สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ซีอีโอคนปัจจุบันของบริษัทแอ๊ปเปิ้ล ที่เพิ่งผ่านการปลูกถ่ายตับ
เพื่อรักษามะเร็งตับอ่อน จนสามารถกลับมาทำงานได้อีกครั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2009 ที่ผ่านมา

สตีฟ จอบส์ หรือ สตีเวน พอล จอบส์ (Steven Paul Jobs) เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1955 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดของสตีฟเป็นนักศึกษาที่ไม่พร้อมจะสร้างครอบครัว จึงตัดสินใจ ยกเขาให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น แต่เมื่อเด็กชายลืมตาดูโลกขึ้นมาจริงๆ คู่สามีภรรยาที่เคยสัญญาว่าจะรับเขาไปเลี้ยงกลับเป็นฝ่ายบอกเลิก เพราะพวกเขาอยากได้ลูกสาวมากกว่า
ทารกน้อยจึงต้องรอนานหลายเดือนกว่าจะได้ไปอยู่กับครอบครัวของพ่อแม่บุญธรรมคนใหม่ ตอนแรกแม่
ผู้ให้กำเนิดของสตีฟไม่ยอมเซ็นเอกสารยินยอม เพราะไม่พอใจที่พ่อแม่บุญธรรมซึ่งเสนอตัวเข้ามารับอุปการะสตีฟ เรียนไม่จบมหาวิทยาลัย แต่เมื่อพวกเขาให้สัญญาอย่างหนักแน่นว่า ถึงอย่างไรก็จะส่งให้สตีฟเรียนจนจบมหาวิทยาลัยให้ได้ แม่ของเขาจึงยินยอม

แต่แล้วสตีฟ จอบส์ ก็เรียนมหาวิทยาลัยได้เพียงแค่เทอมเดียว เพราะเขารู้สึกว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้ให้
จุดหมายปลายทางแก่ชีวิตของเขา อีกทั้งไม่ต้องการให้พ่อแม่บุญธรรมต้องใช้เงินที่สะสมมาอย่างเหนื่อยยาก ไปกับการจ่ายค่าเทอมที่แสนแพง

เมื่อ ตัดสินใจว่าจะลาออก สตีฟจึงเลิกเรียนวิชาภาคบังคับที่เขาเบื่อหน่าย และหันไปลงเรียนวิชาต่างๆ ที่ตนเองสนใจเป็นเวลานานถึง 18 เดือน และหนึ่งในนั้นคือวิชา คอลลิกราฟี (Calligraphy) หรือศิลปะการ
ประดิษฐ์และออกแบบตัวอักษร ซึ่งเป็นวิชาที่สตีฟเรียนโดยไม่รู้ว่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร แต่วิชานี้มีส่วนทำให้เขาประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา

แม้ว่าสตีฟจะพอใจกับการเป็นนักศึกษาไร้สังกัด แต่เขาต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เขาหารายได้จาก
การเก็บขวดน้ำอัดลมไปคืนร้านค้า ซึ่งจะได้เงินค่าคืนขวดใบละ 5 เซ็นต์ แล้วจึงนำเงินที่รวบรวมได้ไปซื้อ
อาหาร เขาต้องอาศัยนอนบนพื้นห้องของเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย และเดินเป็นระยะทาง 7 ไมล์ (ประมาณ 11 กิโลเมตร) เพื่อไปรับประทานอาหารดีๆ ที่แจกเป็นทานที่วัด Hare Krishna ในวันอาทิตย์

หลัง จากนั้นสตีฟได้เริ่มทำธุรกิจประกอบคอมพิวเตอร์ร่วมกับ สตีฟ วอซนิค (Steve Wozniak) หรือ วอซ ในโรงรถของพ่อบุญธรรม ควบคู่ไปกับการทำงานเป็นช่างเทคนิคในโรงงานผลิตวิดีโอเกมชื่อดังในท้องถิ่น
เขา นำเงินสะสมในช่วงนี้ออกเดินทางตามหาความลุ่มลึกทางจิตวิญญาณในประเทศอินเดีย และตระเวนอยู่ที่นั่นนานถึงหนึ่งปี เมื่อกลับมายังบ้านเกิดอีกครั้ง เขาได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ โกนผม และใส่เสื้อผ้าแบบชายชาวอินเดีย กระทั่งทุกวันนี้สตีฟก็ยังโกนผมหากแต่สวมเสื้อคอปิดสีดำ กางเกงยีน และรองเท้ากีฬาเป็นประจำราวกับเป็นเครื่องแบบประจำตัว

ใน ปี ค.ศ. 1976 สตีฟและวอซได้รับการสนับสนุนจากมหาเศรษฐีคนหนึ่ง จนสามารถเปิดบริษัทแอ๊ปเปิ้ลได้ ระยะแรกพวกเขาซื้อชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์เพื่อนำมาประกอบใหม่ สิบปีต่อมาแอ๊ปเปิ้ลเติบโตเป็นธุรกิจมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ และมีพนักงานมากกว่า 4,000 คน ในปี ค.ศ. 1984 ซึ่งเป็นก้าวกระโดดของแอ๊ปเปิ้ล
สตีฟได้เปิดตัว แมคอินทอช (Macintosh หรือ Mac) ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่มีการออกแบบตัวอักษร
และการจัดช่องไฟที่สวยงาม อันเป็นผลจากการนำความรู้วิชาคอลลิกราฟีที่เคยร่ำเรียนมาประยุกต์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ยอดขายของ Mac กำลังไปได้สวย สตีฟ ในวัยเพียง 30 ปีต้องพบกับปัญหาด้านการบริหารภายใน จนกระทั่งตัวเขาซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งแอ๊ปเปิ้ลแท้ๆ ต้องถูกไล่ออก เขารู้สึกเสียใจมาก เพราะนั่นแปลว่าความทุ่มเทตลอดสิบปีที่ผ่านมากลายเป็น ความว่างเปล่า ถ้าทำได้สตีฟคงอยากหันหลังให้วงการคอมพิวเตอร์ตลอดกาล แต่เขาไม่ได้ทำ และทำไม่ได้ด้วย

“บาง ครั้งชีวิตอาจทำคุณเจ็บ แต่จงอย่าสูญเสียความเชื่อมั่น สิ่งเดียวที่ทำให้ผมลุกขึ้นสู้ต่อคือความรักในสิ่งที่ผมทำ ดังนั้นคุณจำเป็นต้องค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่คุณรัก...และวิธีเดียวที่จะทำ ให้คุณรู้สึกพึงพอใจอย่าง
แท้จริงก็คือ การได้ทำในสิ่งที่คุณ ‘เชื่อ’ ว่ามันยอดเยี่ยม ซึ่งคุณจะสามารถสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมได้ด้วยการ
‘รัก’ ในสิ่งที่คุณทำเท่านั้น”

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้สตีฟ จอบส์ เรียนรู้ว่า คนเราไม่ควรหยุดค้นหาจนกว่าจะได้ทำงานที่ตนรัก อีกทั้งทำให้เขาได้พบกับ ลอรีน เพาเวลล์ (Laurene Powell) ภรรยาคนปัจจุบันของเขา และในขณะเดียวกันก็ทำให้แอ๊ปเปิ้ลได้บทเรียนสำคัญว่า ผู้ชายชื่อสตีฟ จอบส์ คือคนที่แอ๊ปเปิ้ลขาดไม่ได้

หลัง จากสตีฟถูกไล่ออก เขาได้สร้างบริษัทขึ้นมาสองแห่ง คือ เน็กซ์ (NeXT) และพิกซาร์ (Pixar) ซึ่งเขาใช้สูตรในการทำงานแบบเดิม คือ จงคิดค้นบริการที่ลูกค้าจะพึงพอใจ ก่อนที่พวกเขาจะรู้ว่าตัวเองต้องการ
ทั้ง สองบริษัทประสบความสำเร็จอย่างสูง ต่อมาแอ๊ปเปิ้ลได้เข้ามาเจรจาขอซื้อเน็กซ์ ทำให้สตีฟได้กลับไปนั่งเก้าอี้ซีอีโอของแอ๊ปเปิ้ลอีกครั้ง ส่วนพิกซาร์กลายเป็นสตูดิโอผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่นระดับแถวหน้าของโลก และถูกขายต่อให้บริษัทวอลต์ดิสนีย์ ในปี ค.ศ. 2006 ปัจจุบันสตีฟ จอบส์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยที่มีหุ้นในวอลต์ดิสนีย์มากที่สุด คือ ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์

การกลับมานั่งบัลลังก์ของแอ๊ปเปิ้ลครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1996 ทำให้แอ๊ปเปิ้ลเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
เพราะในขณะที่ ไมโครซอฟต์ (Microsoft) วิ่งวุ่นกับการแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดในโลกอินเทอร์เน็ต ส่วน
เดลล์ (Dell) กับ ฮิวเลตต์ - แพคการ์ด (Hewlett - Packard) ก็ไม่สนใจที่จะพัฒนาระบบประมวลผลของตนเอง
สตีฟได้ผลักดันทีมงานให้พัฒนาเครื่องแมคอินทอชจนมีความโดดเด่นเฉพาะตัว และได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้งานในวงการศิลปะอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้แอ๊ปเปิ้ลยังสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ทนทาน ใช้งานง่าย และสวยงามอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนเกิดความภักดีในแบรนด์สินค้าหรือติดแบรนด์แอ๊ปเปิ้ลนั่นเอง
นอกจากนี้สตีฟยังมองออกว่าคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กจะกลายเป็นสินค้ายอดฮิต จึงได้พัฒนาเครื่อง iMac จนขายดีติดลมบนทั้งที่มีราคาสูง ที่สำคัญคือ ในขณะที่ไม่มีบริษัทคอมพิวเตอร์รายใดให้ความสนใจกับสินค้าประเภทอื่น เขาได้เปิดตัว iPod เครื่องเล่น MP3, iTunes การให้บริการดาวน์โหลดเพลงผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างถูกกฎหมาย และ iPhone โทรศัพท์มือถือที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในโลกยุคดิจิทัลได้อย่างรอบด้าน

สตีฟ จอบส์ ไม่เคยหยุดโหยหาความสำเร็จ เขาจึงมองหาโอกาสในการพัฒนาสินค้าของตัวเองอยู่เสมอ ชายผู้นี้ไม่เคยมองว่าตัวเองชาญฉลาด จนไม่กล้าที่จะทำในสิ่งที่ใครๆ คิดว่าเป็นเรื่องบ้า ๆ หรือไม่น่าเสี่ยงที่จะทำ กล่าวได้ว่าความหิวโหยและความโง่เขลา คือเคล็ดลับที่นำพา สตีฟ จอบส์ มายืนอยู่ ณ จุดนี้
เคล็ดลับความสำเร็จ

Stay Hungry, Stay Foolish.
จงหิวโหย จงโง่เขลาอยู่เสมอ

ข้อความบนปกหลังนิตยสาร Whole Earth Catalog
ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจของสตีฟ จอบส์ ตั้งแต่วัยหนุ่ม

ที่มา: Health & Wellness บมจ.ธนาคารกสิกรไทย kbeautifullife.com 23 กุมภาพันธ์ 2553

No comments:

Post a Comment