Sunday, June 6, 2010

การสมรสเป็นโมฆะ

ในกรณีที่สามีจดทะเบียนสมรสกับดิฉัน ต่อมาพบว่าได้จดทะเบียนสมรสกับผู้หญิงอีกคนหนึ่งด้วย ดิฉันอยากจะทราบว่าใครจะเป็นผู้ขอให้การสมรสซ้อนนั้นใช้ไม่ได้บ้าง และจะต้องฟ้องศาลให้ตัดสินหรือไม่
วารุณี

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่าการสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 (สมรสซ้อน) บุคคลผู้มี ส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น หรือร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้

กรณีสมรสซ้อนซึ่งผลตกเป็นโมฆะคือเสียเปล่า ใช้ไม่ได้ ไม่มีผลทางกฎหมายใด ๆ นั้น บุคคลผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างได้ว่าการสมรสครั้งหลังเป็น โมฆะ บุคคลผู้มีส่วนได้เสียได้แก่ ชายหญิงที่ทำการสมรสครั้งหลัง คู่สมรสเดิม บิดามารดา ผู้สืบสันดานของคู่สมรส และผู้มีส่วนได้เสียหรือเสียสิทธิในการรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม เป็นต้น ผู้มีส่วนได้เสียนอกจากจะร้องขอต่อศาลให้พิพากษาว่าการสมรส เป็นโมฆะแล้ว ยังสามารถจะกล่าวอ้างขึ้นเองได้ด้วยโดยไม่ต้องรอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการ สมรสนั้นเป็นโมฆะเสียก่อน แต่การกล่าวอ้างนั้นอาจจะกล่าวอ้างในคดีที่ฟ้องศาล หรือนอกคดีก็ได้ เช่นให้การต่อสู้คดีไว้ว่าเป็นการสมรสซ้อน หรือเบิกความเป็นพยานในประเด็นนี้ไว้ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทำให้ศาลมีอำนาจพิพากษาว่าให้การสมรสซ้อนตกเป็นโมฆะได้

การที่กฎหมายได้กำหนดให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งกล่าวอ้างขึ้นเอง ได้โดยไม่จำต้องร้องขอต่อศาลเหมือนเช่นกรณีปกติ เพราะทะเบียนสมรสเป็นเอกสารมหาชนซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถตรวจสอบได้และกระทำ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงสามารถพิสูจน์ได้โดยง่าย

อย่างไรก็ตาม หากใช้วิธีกล่าวอ้างว่าการสมรสซ้อนเป็นโมฆะโดยผู้มีส่วนได้เสียตามลำพังนั้น ในบางกรณีคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งอาจจะไม่ยอมรับและอาจจะยกเป็นข้อต่อสู้บุคคล ภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เพราะยังมิได้มีการบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส ในทางปฏิบัติคู่กรณีส่วนใหญ่มักจะนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษา แสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะ ทั้งนี้เพราะคำพิพากษาที่ถึงที่สุดจะผูกพันบุคคลทั่วไป และยุติข้อโต้แย้งทั้งปวงว่าคู่สมรสนั้นได้สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งสิทธิในการที่จะสมรสใหม่ด้วย

ที่มา: การสมรสเป็นโมฆะ = ทะเบียนสมรสเป็นโมฆะ คลีนิกกฏหมาย เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคาร ที่ 04 พฤษภาคม 2553

No comments:

Post a Comment