Sunday, June 6, 2010

ผู้อนุบาล

คุณแม่หย่ากับคุณพ่อและแต่งงานอยู่กินและจดทะเบียนสมรสกับสามีคนใหม่ ส่วนดิฉันเป็นลูกสาวคนเดียวของท่านกับคุณพ่อซึ่งเป็นอดีตสามี ปัจจุบันคุณแม่ความจำเสื่อมจำอะไรไม่ได้และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย สามีใหม่ก็ไม่สนใจดูแล ถ้าดิฉันจะเอาคุณแม่มาดูแลเองอย่างเดียวเขาคงไม่ว่า แต่ที่เขาไม่ยอมให้มาเพราะเขาห่วงทรัพย์สมบัติที่เป็นของคุณแม่ มีวิธีที่ดิฉันจะขอเป็นผู้ดูแลคุณแม่แทนสามีใหม่หรือไม่
=====
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1463 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ศาลสั่ง ให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ภริยาหรือสามีย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แต่เมื่อมีผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ และถ้ามีเหตุสำคัญศาลจะแต่งตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ก็ได้

การที่บุคคลเป็นโรคความจำเสื่อม ที่ถึงขนาดไม่สามารถทำการหรือทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สิน และถึงขนาดไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งคงต้องมีความเห็นทางการแพทย์ประกอบเพื่อร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งแต่ง ตั้งผู้ดูแล ซึ่งศาลจะมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและแต่งตั้งผู้อนุบาล

โดยทั่วไปผู้ที่สมรสแล้วจะมีหน้าที่ต่อกันและกันในการอุปการะเลี้ยงดู ถ้าศาลมีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนไร้ความ สามารถ กฎหมายจึงได้กำหนดให้ต้องตั้งคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ อนุบาล เว้นไว้เสียแต่จะมีเหตุสำคัญ เช่น มีข้อเท็จจริงว่าคู่สมรสของผู้ป่วยชอบตบตีทำร้ายผู้ป่วยเป็นประจำ หรือไม่เคยสนใจดูแลปล่อยปละละเลยเป็นที่น่า เวทนายิ่งนัก ฯลฯ เช่นนี้ถ้าผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลอาจจะแต่งตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลโดยไม่ตั้งคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้

เมื่อคู่สมรสเป็นผู้อนุบาลตามกฎหมาย กรณีที่จะให้ศาลแต่งตั้งบุตรหรือผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลจึงต้องมีเหตุสำคัญ เช่น คดีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6939/2537 ตัดสินว่า “การแต่งตั้งผู้อนุบาลในเบื้องต้นจะต้องตั้งคู่สมรสเป็นผู้อนุบาลก่อนเพียง คนเดียว หากมีผู้อื่นร้องขอและมีเหตุสำคัญ ศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลก็ได้ การตั้งทั้งคู่สมรสและบุคคล อื่นเป็นผู้อนุบาลร่วมกันเลยจะไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย (มาตรา 1463) ฉะนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่ามีเหตุสำคัญใดที่จะตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรสืบสาย โลหิตของคนไร้ความสามารถเป็นผู้อนุบาลร่วมกับผู้คัดค้านซึ่งเป็นภริยาแล้ว จึงสมควรตั้งผู้คัดค้านแต่ผู้เดียวเป็นผู้อนุบาล” เป็นต้น

ผู้อนุบาลที่ศาลแต่งตั้งมีอำนาจในการจัดการสินส่วนตัวและสินสมรสของคนไร้ ความสามารถได้ แต่การจัดการที่สำคัญ เช่น การขาย แลกเปลี่ยน จำนอง ให้เช่าซื้อ อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ ให้กู้ยืมเงิน ฯลฯ คู่สมรสที่เป็นผู้อนุบาลจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และถ้าศาลแต่งตั้งผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่สมรสเป็นผู้อนุบาล ผู้อนุบาลจะต้องจัดการทรัพย์สินของคนไร้ความสามารถร่วมกับคู่สมรสของเขา เว้นแต่ศาลจะได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ที่มา: ผู้อนุบาล คลีนิกกฏหมาย เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคาร ที่ 27 เมษายน 2553

No comments:

Post a Comment