Thursday, June 10, 2010

ชอบเล่นปืน

ปืนกับพระเครื่องว่ากันว่ามีแต่ราคามูลค่าที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ดีกว่าหุ้น ดีกว่าทองคำ

พระเครื่องยิ่งเก่ายิ่งมีราคา อาวุธปืนยิ่งมีราคาแพงขึ้นตลอดเวลา

ปืนแพงเพราะทางการควบคุมจำนวนอย่างเคร่งครัด จำกัดโควตา ขอมีปืนสักกระบอกกับนายทะเบียนสมัยนี้ยากเย็นแสนเข็ญยิ่งกว่าขออนุญาตมีเมีย สองคนพร้อมกัน

หลบเลี่ยงไปซื้อปืนสวัสดิการของมหาดไทยบ้าง ตำรวจบ้าง ก็เจอเงื่อนไขสารพัด

ปืนพกสั้นราคาสองสามหมื่นเมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อน วันนี้ห้าหมื่น อัพ ของเก่าก็ประมาณนั้น

ไปขอใบอนุญาตจากนายทะเบียนอาวุธปืนสมัยนี้ท่านก็แสนจู้จี้จุกจิกยังกะคนแก่วัยเลือดจะไปลมจะมา

แต่ก็นั่นแหละพูดถึงนักเลงพระเครื่อง นักเลงปืน แพงและยากยังไงก็ต้องหามาสะสมให้ได้

พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ บัญญัติหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนว่า ให้ออกแก่บุคคลสำหรับใช้ในการป้องกันตัวหรือทรัพย์สิน หรือในกีฬาหรือยิงสัตว์

ส่วนจะมีสักกี่กระบอกมี หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท ๐๕๐๑/ว ๘๘๖ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๑ กำหนดว่าบุคคลควรมีอาวุธปืนได้เพียงคนละ ๒ กระบอก

ท่านนายอำเภอกำลังดูกฎหมายและระเบียบดังกล่าวอย่างหนักเนื่องจากเจ้าหน้าที่ ยื่นเรื่องคำร้องขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนขนาด .๔๐ นิ้วของผู้ยื่นคำขอรายหนึ่ง

ต้องเปิดตำรากฎหมายกันพัลวันเพราะนอกจากเป็นปืนรุ่นใหม่ล่าสุดแล้ว ผู้ขอรายนี้ยังมีอาวุธปืนอยู่ในครอบครองถึง ๑๕ กระบอก

ปกติจะพิจารณาอนุญาตให้บุคคลทั่วไปมีปืนยาว ๑ กระบอก ปืนสั้น ๑ กระบอกเท่านั้น

และจะพิจารณาให้เฉพาะผู้ที่มีเหตุผลและความจำเป็นไม่เกินขนาด .๓๘ นิ้ว

อันนี้เล่นขนาด .๔๐ นิ้วเชียวเรอะ

จึงสั่งไม่อนุญาตตามคำร้องดังกล่าว

แหม แค่อีกกระบอกเดียวสิริรวมแล้วสิบหกกระบอกเท่านั้นเอง คิดเล็กคิดน้อยไปได้ท่าน ผู้ยื่นคำขอจึงอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งไม่อนุญาต ว่าปืนรุ่นนี้เป็นรุ่นใหม่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการกีฬาและการแข่งขันโดยเฉพาะ เท่านั้น

ก็คนมันรักปืนนะ จะเข้าใจบ้างมั้ยนี่

ท่านนายอำเภอยังไงก็ไม่อนุญาต รุ่นน้องที่โรงเรียนนายอำเภอกำลังพัลวันพัลเกอยู่กับ ป.ป.ช.เห็น ๆ

ต้องฟ้องต่อศาลปกครองขอให้นายอำเภอออกใบอนุญาตซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (ป.๓) มาให้เสียโดยดี

ไม่ได้ขอพี่เอ็ม ๗๙ ที่กำลังนิยมสักหน่อยทำเป็นหวงไปได้

ศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งปฏิเสธไม่ออกใบอนุญาต ให้มีและใช้อาวุธปืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง

ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า ดุลพินิจในการจำกัดจำนวนอาวุธปืนของนายทะเบียนทั้งที่ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ไม่ได้กำหนดจำนวนอาวุธปืนที่ประชาชนครอบครองได้ไว้จึงขัดต่อมาตรา ๓๐ แห่ง รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ (ขณะนั้น)

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ฝ่ายปกครองกระทำการใด ๆ ที่อาจมีผลกระทบสิทธิเสรีภาพ หรือประโยชน์อันชอบธรรมของเอกชนได้ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจและจะต้องกระทำ การดังกล่าวในกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น

ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นนายทะเบียนท้องที่ประจำอำเภอมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณา เพื่อออกใบอนุญาตให้บุคคลมีและใช้อาวุธปืน ตามมาตรา ๗ แห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนฯ

อีกทั้งมาตรา ๙ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติเดียวกันกำหนด ให้ออกแก่บุคคลสำหรับใช้ป้องกันตัวหรือทรัพย์สินหรือในการกีฬาหรือ ยิงสัตว์

เมื่อผู้ฟ้องคดียื่นคำขอมีและใช้อาวุธปืนพกกึ่งอัตโนมัติ .๔๐ นิ้วโดยแจ้งว่าเพื่อป้องกันตัวและทรัพย์สินและเพื่อใช้สำหรับการกีฬา ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีอาวุธปืนอยู่ในครอบครองแล้ว ๑๕ กระบอก จึงน่าจะเพียงพอแล้วตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวจึงมีคำสั่งไม่อนุญาต

หนังสือกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ออกโดยหน่วยงานที่กำกับดูแล เป็นการวางแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติเป็นแบบ เดียวกันทุกจังหวัด จึงมิได้เป็นการเลือกปฏิบัติ

อีกทั้ง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่งประกอบกับมาตรา ๑๓ กำหนดให้บุคคลมีและใช้อาวุธได้เท่าที่จำเป็น การที่ผู้ฟ้องคดีมีอาวุธปืนรวมอยู่แล้ว ๑๕ กระบอกในขณะที่ยื่นคำร้องเห็นว่าเพียงพอกับกรณีแห่งความจำเป็นในการป้องกัน ตัวหรือทรัพย์สิน หรือในการกีฬาหรือยิงสัตว์

หนังสือกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้างต้นเป็น กฎมีผลบังคับเป็นการทั่วไปเพื่อให้นายทะเบียนยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการ พิจารณา ไม่ได้วางหลักเกณฑ์เพื่อมาจำกัดสิทธิบุคคล จึงไม่ขัดกับมาตรา ๓๐ แห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว

พิพากษายืน (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๑๖/๒๕๕๐)

ใช้สิ่งเทียมอาวุธปืนรุ่นใหม่จำพวก อุจจาระ ปลาร้า ปลาแดก ไข่ไก่ แก้ขัดไปก่อน

พิสิษฐ์ พลรักษ์เขตต์
praepim@yahoo.com

ที่มา: ชอบเล่นปืน กฎหมายข้างตัว เดลินิวส์ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 08 พฤษภาคม 2553

-=-=-=-
ลืมนับกระบอกติดตัวอีกอันนึงอ๊ะเปล่าครับท่าน อิอิ

No comments:

Post a Comment