Wednesday, June 9, 2010

มุมภาษี: ระวังผู้ทำบัญชี และผู้สอบบัญชี

เมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90/91 เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปี 2552 ก็ถึงช่วงเวลาการยื่นงบดุลให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กรมสรรพากร

เพราะนับต่อจากนี้ไปจนวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม 2553 กรรมการบริษัท หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั้งหลายต้องปฏิบัติการเกี่ยว กับงบดุล และการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50/52/55 แล้วแต่กรณี

ในปีนี้วันที่ครบ 150 วันที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 คือวันที่ 30 พฤษภาคม ตรงกับวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ จึงขยายเวลาออกไปให้ตรงกับการยื่นงบดุล คือวันที่ 31 พฤษภาคม 2553

ในหลายปีที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้เคยมีหนังสือเตือนท่านผู้ประกอบการใช้ความระมัดระวังและพยายามติดตามตรวจตราในการจัดหาผู้ทำบัญชีและผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีว่า ปรากฏว่ามีบางบริษัทห้างร้านได้ว่าจ้างบุคคลอื่นเป็นผู้ทำบัญชีตามกฎหมายบัญชี รายงานตามประมวลรัษฎากร และให้ผู้รับจ้างยื่นแบบแสดงรายการภาษี พร้อมทั้งใช้ผู้ตรวจสอบบัญชี

โดยจากการตรวจพบว่า มีหลายกรณีที่ผู้รับจ้างไม่ได้จัดทำบัญชี และยื่นเสียภาษีให้ถูกต้องครบถ้วน โดยผู้ประกอบการผู้ว่าจ้างอาจไม่รู้ถึงความผิดพลาดนั้น ๆ แต่ต้องก้มหน้ารับภาระภาษี (กรรม) และเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม เป็นจำนวนมากโดยไม่จำเป็น

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาประเด็นความผิดที่เกิดขึ้นในลักษณะดังกล่าว ในปีนี้จึงขอนำคำเตือนของกรมสรรพากรมาเรียกแจ้งท่านผู้ประกอบการอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้

1. เลือกใช้บริการจากผู้รับจ้างทำบัญชี และผู้สอบบัญชีที่มีการปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบสูง

2. เรียกเอกสารพร้อมสมุดบัญชีและรายงานมาตรวจดูทุกเดือนว่ามีการจัดทำบัญชีเป็นปัจจุบันหรือไม่ ใช้เอกสารหลักฐานที่ถูกต้อง ครบถ้วน และจัดเก็บเอกสารหลักฐานดังกล่าวไว้ ณ สถานประกอบการ

3. หากมีการชำระภาษีอากรใด ๆ ให้เรียกดูต้นฉบับใบเสร็จรับเงินค่าภาษีอากรที่ออกโดยกรมสรรพากร และสำเนาแบบแสดงรายการภาษี พร้อมทั้งงบการเงินจากผู้รับจ้างทำบัญชี และจัดเก็บไว้ ณ สถานประกอบการทุกครั้ง

4. ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี (ภ.ง.ด.50) ผู้ประกอบการควรตรวจดูรายการที่ต้องแจ้งในแบบแจ้งข้อความของกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

5. ผู้ประกอบการพึงตรวจดูว่าไม่มีการใช้ใบกำกับภาษีซื้อที่ผู้ประกอบการไม่ได้มีการซื้อสินค้า หรือใช้บริการจริงในการลงบัญชีและรายงานตามประมวลรัษฎากร

6. ตรวจสอบมูลค่าสินค้าคงเหลือปลายงวดให้ตรงกับมูลค่าที่มีอยู่จริงและตรงตามรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

ที่มา: มุมภาษี: ระวังผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี เดลินิวส์ออนไลน์ วันอังคาร ที่ 06 เมษายน 2553

No comments:

Post a Comment